"บีจีไอ" นำทีมนักวิจัยทั่วโลก ประสบความสำเร็จในการสร้างแผนที่เซลล์สัตว์ตระกูลไพรเมตที่ไม่ใช่มนุษย์เป็นครั้งแรก

ข่าวทั่วไป Monday April 18, 2022 10:15 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

งานวิจัยดังกล่าวจะให้ข้อมูลเจาะลึกเพื่อนำไปพัฒนาเทคนิคการรักษาโรคระบบประสาทและโรคอ้วน รวมถึงโรคอื่น ๆ ในมนุษย์

นักวิจัยจากบีจีไอ-รีเสิร์ช (BGI-Research) ร่วมกับทีมวิจัยทางวิทยาศาสตร์จากจีน เยอรมนี อิตาลี สิงคโปร์ สเปน สวีเดน และสหราชอาณาจักร ได้สร้างความคืบหน้าที่อาจนำไปสู่ความก้าวหน้าครั้งสำคัญทางวิทยาศาสตร์ในการรักษาโรคของมนุษย์ โดยได้เผยแพร่แผนที่ทรานสคริปโตมของเซลล์สัตว์ตระกูลไพรเมตที่ไม่ใช่มนุษย์เป็นครั้งแรกของโลกในวารสารทางวิทยาศาสตร์อย่างเนเจอร์ (Nature)

นักวิจัยจากบีจีไอ มหาวิทยาลัยจี๋หลิน สถาบันชีวการแพทย์และสุขภาพกวางโจว (สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน) และสถาบันระดับนานาชาติอีก 32 แห่ง ได้ใช้แพลตฟอร์มไลบรารีเซลล์เดี่ยวที่บีจีไอพัฒนาขึ้นเองอย่าง DNBelab C4 จนได้แผนที่ทรานสคริปโตมเซลล์เดี่ยวซึ่งมีเนื้อเยื่อและอวัยวะรวมกัน 45 อย่างจากลิงหางยาว (ไซโนโมลกัส) โดยได้ข้อมูลเซลล์เดี่ยวรวม 1.14 ล้านรายการ และระบุเซลล์หลัก ๆ ได้ 113 ประเภท การวิจัยนี้มีหัวข้อว่า "Cell transcriptomic atlas of the non-human primate Macaca fascicularis" (แผนที่ทรานสคริปโตมของเซลล์สัตว์ตระกูลไพรเมตที่ไม่ใช่มนุษย์อย่างลิงแสม) ซึ่งได้รับการรับรองทางจริยธรรมแล้วก่อนที่จะเริ่มดำเนินการ

การวิจัยนี้และการวิจัยสัตว์ตระกูลไพรเมตสเกลใหญ่โครงการอื่น ๆ ในระดับเซลล์เดี่ยวนั้น เกิดขึ้นได้จากการพัฒนาเทคโนโลยีหาลำดับขั้นสูง ซึ่งเป็นขอบข่ายที่บีจีไอเป็นผู้นำอยู่แล้ว เทคโนโลยีกรรมสิทธิ์ของบีจีไอเปิดโอกาสให้วิเคราะห์เซลล์เดี่ยวได้อย่างครอบคลุมและหลายมิติ โดยมีความไวและแม่นยำสูงแต่ต้นทุนต่ำ

"การวิจัยเซลล์เดี่ยวกำลังเข้ามาเปลี่ยนสิ่งที่เราเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อเยื่อและการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในระดับเซลล์ ซึ่งแสดงให้เห็นการก่อตัวของโรคและวิธีการรักษา" ดร.หลิว หลงฉี (Liu Longqi) จากบีจีไอ-รีเสิร์ช หนึ่งในผู้เขียนรายงานฉบับนี้ กล่าว "การทำแผนที่เซลล์เดี่ยวของลิงวัยผู้ใหญ่จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการหาวิธีพัฒนาเทคนิครักษาโรคของมนุษย์ให้แม่นยำกว่าเดิม"

การทำแผนที่ทรานสคริปโตมของลิงในระดับเซลล์เดี่ยว ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีฐานข้อมูล หรือคลังเซลล์เดี่ยว ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ได้ในการ

  • พัฒนาเทคนิควินิจฉัยและรักษาโรคมนุษย์
  • ประเมินประสิทธิภาพของยาที่กำลังทดลอง
  • วิเคราะห์วิวัฒนาการของเซลล์ชนิดต่าง ๆ และ
  • วิเคราะห์ฟังก์ชันการรู้คิดของสมอง

ดร.ซู ซุน (Xu Xun) ผู้อำนวยการบีจีไอ-รีเสิร์ช ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานนี้ กล่าวว่า "การทำความเข้าใจประเภทและคุณลักษณะของเซลล์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ผลลัพธ์ที่การรักษาโรคมีต่อโครงสร้างเซลล์ได้ ทำให้พัฒนาเทคนิคได้ตรงจุดกว่าสำหรับโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากความผิดปกติของยีนเดี่ยวหรือเกิดจากการกลายพันธุ์ของพันธุกรรม"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ