สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics & Peace หรือ IEP) ซึ่งเป็นหน่วยงานมันสมองระดับโลก เผยแพร่รายงานดัชนีสันติภาพโลก (Global Peace Index หรือ GPI) ฉบับที่ 16
ผลการค้นพบที่สำคัญ
- ยอดผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งภายนอกประเทศพุ่งขึ้นหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน
- สถานการณ์การขยายอิทธิพลทางทหารดีขึ้นใน 113 ประเทศ นับตั้งแต่ปี 2551 แม้จะยังมีการทำสงครามอยู่ก็ตาม
- สถานการณ์การก่อการร้ายดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 70 ประเทศไม่มีรายงานการโจมตีในปี 2564 ซึ่งถือว่าดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551
- ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารและความไร้เสถียรภาพทางการเมืองทั่วโลก โดยแอฟริกา เอเชียใต้ และตะวันออกกลาง เผชิญกับภัยคุกคามมากที่สุด
- การก่อการร้ายที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ความไม่มั่นคงทางการเมือง ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ มีคะแนนย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีสันติภาพโลก
- ผลกระทบจากความรุนแรงที่มีต่อเศรษฐกิจโลกมีมูลค่า 16.5 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วน 10.9% ของจีดีพีทั่วโลก หรือ 2,117 ดอลลาร์ต่อคน
ผลกระทบจากสงครามในยูเครนที่มีต่อความสงบสุข
- รัสเซียและยูเครนติดกลุ่ม 5 ประเทศที่มีความสงบสุขย่ำแย่ลงมากที่สุด
- โซเชียลมีเดียได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการรวบรวมข้อมูลข่าวสาร ปัจจุบันมีการแชร์ข้อมูลดิบทันทีโดยแทบไม่มีการวิเคราะห์
- ทัศนคติเชิงบวกในยูเครนเพิ่มขึ้นในปี 2564 สวนทางกับกระแสโลก ขณะที่การสนับสนุนโลกตะวันตกค่อนข้างเข้มแข็ง โดย 58% ต้องการเข้าร่วมสหภาพเศรษฐกิจโลกตะวันตก และ 54% สนับสนุนการเข้าร่วมนาโต
รายงานดัชนีสันติภาพโลก ฉบับที่ 16 ซึ่งเป็นรายงานชั้นนำของโลกที่ชี้วัดความสงบสุขทั่วโลก ได้เผยให้เห็นว่า ระดับความสงบสุขโดยเฉลี่ยทั่วโลกลดลง 0.3% ในปี 2564 นับว่าลดลงเป็นครั้งที่ 11 ในรอบ 14 ปี โดย 90 ประเทศมีความสงบสุขมากขึ้น ขณะที่ 71 ประเทศมีความสงบสุขลดลง แต่รายงานระบุว่าความสงบสุขลดลงในอัตราที่เร็วกว่าความสงบสุขเพิ่มขึ้น
ไอซ์แลนด์ยังคงเป็นประเทศที่สงบสุขที่สุดในโลก โดยครองตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2551 ตามมาด้วยนิวซีแลนด์ ไอร์แลนด์ เดนมาร์ก และออสเตรีย ขณะที่อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดในโลกเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน ตามมาด้วยเยเมน ซีเรีย รัสเซีย และเซาท์ซูดาน นอกจากนี้ รายงานระบุว่า 7 จาก 10 ประเทศที่สงบสุขที่สุดเป็นประเทศในยุโรป โดยตุรกีเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่ไม่ติดอันดับในครึ่งแรกของดัชนี
รัสเซียและยูเครนติดกลุ่ม 5 ประเทศที่มีความสงบสุขย่ำแย่ลงมากที่สุด ส่วนอีกสามประเทศประกอบด้วยกินี บูร์กินาฟาโซ และเฮติ โดยทั้งหมดเป็นผลมาจากความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น
เมื่อพิจารณาจาก 23 ปัจจัยชี้วัดของดัชนีสันติภาพโลก พบว่าปัจจัยที่ย่ำแย่ลงที่สุดคือความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ความรุนแรงของความขัดแย้งภายใน ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ การก่อการร้ายที่มีแรงจูงใจทางการเมือง และความไร้เสถียรภาพทางการเมือง โดย 28 ประเทศมีความไร้เสถียรภาพในระดับสูง และ 10 ประเทศมีคะแนนการก่อการร้ายที่มีแรงจูงใจทางการเมืองในระดับย่ำแย่ที่สุด
ความเหลื่อมล้ำด้านความสงบสุขยังคงเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยนับตั้งแต่ปี 2551 กลุ่ม 25 ประเทศที่มีความสงบสุขน้อยที่สุดมีความสงบสุขลดลงเฉลี่ย 16% ขณะที่กลุ่ม 25 ประเทศที่มีความสงบสุขมากที่สุดมีความสงบสุขเพิ่มขึ้น 5.1% และนับตั้งแต่ปี 2551 มี 116 ประเทศที่อัตราการฆาตกรรมลดลง
ผลกระทบจากความรุนแรงที่มีต่อเศรษฐกิจโลกมีมูลค่า 16.5 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วน 10.9% ของจีดีพีทั่วโลก หรือ 2,117 ดอลลาร์ต่อคน โดยในกลุ่ม 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงมากที่สุดนั้น พบว่าผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วน 34% ของจีดีพี เทียบกับ 3.6% ในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
อย่างไรก็ดี ปัจจัยชี้วัดหลายอย่างปรับตัวดีขึ้น รวมถึงผลกระทบจากการก่อการร้าย อาวุธนิวเคลียร์และอาวุธหนัก การเสียชีวิตจากความขัดแย้งภายใน ค่าใช้จ่ายทางทหาร อัตราการกักขัง และการรับรู้เกี่ยวกับอาชญากรรม โดยผลกระทบจากการก่อการร้ายอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีสันติภาพโลก
คุณสตีฟ คิลเลเลีย (Steve Killelea) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ กล่าวว่า "เมื่อปีที่แล้วเราได้เตือนเรื่องเศรษฐกิจทรุดอันเป็นผลมาจากโควิด-19 ส่วนในปีนี้เรากำลังประสบกับปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน เงินเฟ้อพุ่งสูง และความไม่มั่นคงทางอาหาร ซึ่งถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์อันน่าเศร้าในยูเครน โดยผลกระทบทางการเมืองและเศรษฐกิจจะยังคงอยู่ต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า"
"เมื่อรวมกับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านที่ย่ำแย่ ความไม่มั่นคงทางการเมือง และความรุนแรงของความขัดแย้งภายในแล้ว รัฐบาล องค์กร และผู้นำประเทศต่าง ๆ ต้องอาศัยพลังของสันติภาพในการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น"
"ความสงบสุขที่หายไปได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหนักที่สุดในปี 2564 และเราจำเป็นต้องเปลี่ยนทิศทางดังกล่าว โดยรายงานดัชนีสันติภาพโลกแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่มีทัศนคติ ขนบธรรมเนียม และโครงสร้างที่เอื้อต่อการสร้างและรักษาความสงบสุขในสังคม คือประเทศที่มีผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้น"
การขยายอิทธิพลทางทหารและสงครามยูเครน
ค่าใช้จ่ายทางทหารเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพีลดลงใน 94 ประเทศ ขณะที่ 112 ประเทศลดจำนวนทหารนับตั้งแต่ปี 2551 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย รวมถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศสมาชิกนาโตจะเพิ่มค่าใช้จ่ายทางทหารเป็น 2% ของจีดีพี อาจทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงในอีกหลายปีต่อจากนี้ ส่วนทางด้านจีนก็มีแผนเพิ่มค่าใช้จ่ายทางทหารราว 7.1% ในปี 2565
รายงานระบุว่าประชาชนมีมุมมองบวกต่ออนาคตเพิ่มขึ้น โดยจำนวนคนที่รู้สึกว่าจะมีอนาคตที่ดีเพิ่มขึ้นสามเท่าจากปี 2562 แต่กลับมีเพียง 20% ที่รู้สึกว่ารัฐบาลสามารถรับมือกับหายนะได้ นอกจากนี้ สัดส่วนชาวรัสเซียที่รู้สึกปลอดภัยขึ้นเมื่อเทียบกับห้าปีก่อนหน้าก็ลดลงในช่วงปี 2562-2564 ด้านชาวรัสเซียที่รู้สึกกังวลเรื่องเศรษฐกิจมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่า*
ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงรู้สึกได้อย่างชัดเจน และส่งผลกระทบอย่างมากต่อดัชนีสันติภาพโลก โดยหลายประเทศในยุโรปที่อยู่ใกล้กับรัสเซียมีคะแนนความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านย่ำแย่ลง ได้แก่ ฟินแลนด์ สวีเดน โรมาเนีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย และมอลโดวา
สงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีในการกำหนดทิศทางของความขัดแย้ง โดยเทคโนโลยีมือถือ 5G รวมถึงการปฏิวัติโซเชียลมีเดีย และโดรนที่มีราคาถูกลงมาก ได้เข้ามาพลิกโฉมการทำสงคราม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระยะหลังเปลี่ยนจากการรอรับข้อมูลที่ผ่านการคัดกรองไปสู่การรวบรวมข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียแบบเรียลไทม์ ข้อมูลที่ได้จึงไหลมาเรื่อย ๆ และเป็นข้อมูลดิบที่แทบไม่มีการตรวจสอบ
เศรษฐกิจโลกและการชุมนุมที่มีความรุนแรง
สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้หลายประเทศประสบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยหลายประเทศที่ค่อย ๆ มีความสงบสุขมากขึ้นกลับต้องประสบกับการประท้วงและการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงซึ่งพุ่งเป้าไปที่การรับมือกับโรคระบาดของรัฐบาล
การชุมนุมที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น 49% นับตั้งแต่ปี 2551 โดย 126 จาก 163 ประเทศมีคะแนนย่ำแย่ลง ซึ่งแนวโน้มนี้เกิดขึ้นทั่วโลกและส่งผลกระทบต่อทุกภูมิภาคยกเว้นตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ โดยประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเต็มรูปแบบมีคะแนนการชุมนุมที่มีความรุนแรงย่ำแย่ลงมากที่สุด แต่คะแนนก็ยังดีกว่าประเทศที่ปกครองด้วยระบอบอื่น ๆ
เอเชียใต้เป็นภูมิภาคที่มีความถี่และความรุนแรงของการชุมนุมที่มีความรุนแรงมากที่สุด โดยทั้งอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ และปากีสถาน มีคะแนนในส่วนนี้สูงสุดนับตั้งแต่จัดทำดัชนีสันติภาพโลก ส่วนในยุโรปมีการประท้วงต่อต้านการล็อกดาวน์ โดยเฉพาะในเบลเยียม ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย โครเอเชีย และสหราชอาณาจักร เช่นเดียวกับในอเมริกาเหนือ
ความขัดแย้งและการพลัดถิ่น
คะแนนความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นย่ำแย่ลง 9.3% ซึ่งมากที่สุดในบรรดาปัจจัยชี้วัดสามกลุ่มหลักนับตั้งแต่ปี 2551 โดยจำนวนประเทศที่ประสบกับความขัดแย้งภายในเพิ่มขึ้นจาก 29 เป็น 38 ประเทศ แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งภายในลดลงนับตั้งแต่ปี 2560 ด้านจำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 31 ล้านคนในปี 2551 เป็นกว่า 88 ล้านคนในปี 2565
มีอยู่ 17 ประเทศที่ประชากรอย่างน้อย 5% เป็นผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ โดยเซาท์ซูดานมีประชากรกว่า 35% ที่เป็นผู้พลัดถิ่น ขณะที่โซมาเลียและสาธารณรัฐแอฟริกากลางมีมากกว่า 20%
ภาพรวมในระดับภูมิภาค
- รัสเซียและยูเรเชียมีความสงบสุขลดลงมากที่สุด เนื่องจากคะแนนการเสียชีวิตจากความขัดแย้ง ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และการก่อการร้ายที่มีแรงจูงใจทางการเมืองย่ำแย่ลง
- เอเชียใต้ยังคงเป็นภูมิภาคที่สงบสุขน้อยที่สุดเป็นอันดับสอง แต่มีความสงบสุขเพิ่มขึ้นมากที่สุด เนื่องจากคะแนนความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นปรับตัวดีขึ้น
- เอเชียแปซิฟิกมีความสงบสุขมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยชี้วัดสามกลุ่มหลักดีขึ้นทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของความปลอดภัยและความมั่นคง ส่วนในอเมริกาเหนือนั้น สหรัฐอเมริกายังคงมีความสงบสุขน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 เนื่องจากความไม่สงบภายในประเทศเป็นหลัก
- อาชญากรรมรุนแรงในอเมริกากลางและแคริบเบียนเพิ่มขึ้น 4.4% ในปี 2565 แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 โดยเฮติย่ำแย่ลงที่สุดในภูมิภาค
- ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือมีความสงบสุขเพิ่มขึ้นมากเป็นอันดับสองของโลก และลิเบียมีความสงบสุขเพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลก ส่วนเยเมนรั้งตำแหน่งประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดในภูมิภาคเป็นปีที่สองติดต่อกัน
- แอฟริกาใต้สะฮารามีความสงบสุขลดลง 1% โดยเซาท์ซูดานยังเป็นประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดในภูมิภาค แม้ว่าสถานการณ์ในภาพรวมจะดีขึ้นก็ตาม โดยความขัดแย้งภายในประเทศยังอยู่ในระดับสูง แต่การเสียชีวิตจากความขัดแย้งภายในประเทศดีขึ้น 15%
ดูข้อมูลเพิ่มเติมและดาวน์โหลดรายงานดัชนีสันติภาพโลกประจำปี 2565 ได้ที่ visionofhumanity.org และ economicsandpeace.org
หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ
*ข้อมูลจากผลสำรวจความเสี่ยงทั่วโลกโดยลอยด์ส รีจิสเตอร์ ฟาวน์เดชัน (Lloyd's Register Foundation) / สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP)
ดูรายงานดัชนีสันติภาพโลกฉบับเต็ม บทความ และแผนที่อินเทอร์แอคทีฟได้ที่ www.visionofhumanity.org
ทวิตเตอร์: @globpeaceindex
เฟซบุ๊ก: www.facebook.com/globalpeaceindex
เกี่ยวกับดัชนีสันติภาพโลก
รายงานดัชนีสันติภาพโลก (GPI) จัดทำโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ เพื่อนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดในปัจจุบันเกี่ยวกับความสงบสุข คุณค่าทางเศรษฐกิจ แนวโน้ม และการพัฒนาสังคมที่สงบสุข รายงานนี้ครอบคลุมประชากรโลก 99.7% และใช้ปัจจัยชี้วัดเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ 23 ประการจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือสูงเพื่อจัดทำดัชนี โดยปัจจัยชี้วัดเหล่านี้ถูกแบ่งเป็นสามกลุ่มหลัก ได้แก่ ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น ความปลอดภัยและความมั่นคง และการขยายอิทธิพลทางทหาร
เกี่ยวกับสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ
สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) คือหน่วยงานมันสมองอิสระระดับโลกที่อุทิศตนให้กับการเปลี่ยนมุมมองที่โลกมีต่อสันติภาพ ในฐานะมาตรการเชิงบวกที่เป็นรูปธรรมและทำได้จริงเพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ทางสถาบันมีสำนักงานในซิดนีย์ บรัสเซลส์ นิวยอร์ก เฮก เม็กซิโกซิตี้ และฮาราเร