ควอนทินิวอัม เสร็จสิ้นการอัปเกรดฮาร์ดแวร์ ขยายคิวบิตที่เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์เป็น 20 ตัว

ข่าวทั่วไป Thursday June 16, 2022 08:15 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

คอมพิวเตอร์ควอนตัมเอช 1-1 ที่อัปเกรดใหม่นี้ ผ่านการทดสอบอย่างครอบคลุมเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพและการทำงานโดยลูกค้าอย่างเจพีมอร์แกน เชส ซึ่งได้เผยแพร่ผลการทดสอบดังกล่าว

ควอนทินิวอัม (Quantinuum) ประกาศการอัปเกรดครั้งใหญ่สำหรับเทคโนโลยี ซิสเท็ม โมเดล เอช 1 (System Model H1) ซึ่งรวมถึงการขยายคิวบิต (qubit) ที่เชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์เป็น 20 ตัว และเพิ่มจำนวนการดำเนินการควอนตัมที่สามารถทำได้แบบคู่ขนาน

การปรับปรุงดังกล่าวช่วยเสริมความสามารถในการคำนวณของคอมพิวเตอร์ควอนตัมเอช 1-1 (H1-1) ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเอช 1-1 ได้รับขุมพลังจากฮันนี่เวลล์ (Honeywell) และสร้างสถิติมากมายในส่วนของปริมาณควอนตัม ซึ่งเป็นตัววัดประสิทธิภาพโดยรวม นับตั้งแต่เปิดตัวในฤดูใบไม้ร่วงปี 2563

คุณโทนี อัตต์ลีย์ (Tony Uttley) ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของควอนทินิวอัม กล่าวว่า "ด้วยการอัปเกรดเหล่านี้ นักพัฒนาสามารถทำการคำนวณที่ซับซ้อนได้มากกว่าที่เคยโดยไม่ลดทอนประสิทธิภาพ การอัปเกรดนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของรูปแบบธุรกิจที่ไม่เหมือนใครของเราในการอัปเกรดระบบอย่างต่อเนื่อง แม้หลังนำไปใช้งานในเชิงพาณิชย์แล้วก็ตาม เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับประสิทธิภาพสูงสุด"

ระบบที่อัปเกรดนี้ผ่านการทดสอบอย่างครอบคลุมโดยผู้ใช้ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพและการทำงาน รวมถึงได้รับการพรีวิวแบบปิดโดยเจพีมอร์แกน เชส (JPMorgan Chase)

"ทีมคอมพิวเตอร์ควอนตัมของเจพีมอร์แกน เชส ได้ใช้คอมพิวเตอร์ควอนตัมของควอนทินิวอัมเพื่อทำการทดลองที่ใช้การวัดวงจร mid-circuit และการนำวงจร mid-circuit กลับมาใช้ใหม่ และตรรกะตามเงื่อนไขของควอนตัม โดยใช้ประโยชน์จากปริมาณควอนตัมที่สูงมากของคอมพิวเตอร์" ดร. มาร์โก ปิสโตยา (Marco Pistoia) วิศวกรและหัวหน้าฝ่ายวิจัยคอมพิวเตอร์ควอนตัมและการสื่อสารของเจพีมอร์แกน เชส กล่าว "ในการทดลองของเรา เราใช้ 20 คิวบิตของคอมพิวเตอร์เอช 1-1 บนอัลกอริทึมการประมวลผลภาษาธรรมชาติควอนตัม (Quantum Natural Language Processing หรือ QNLP) สำหรับการสรุปข้อความที่แยกออกมา ผลลัพธ์เกือบจะเหมือนกันทุกประการกับค่าอ้างอิงที่คำนวณด้วยเครื่องจำลองแบบไร้สิ่งรบกวน ซึ่งเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของคอมพิวเตอร์ว่ามีความเที่ยงตรงสูงตามที่เผยแพร่ผ่านคลังเก็บเอกสารออนไลน์ก่อนตีพิมพ์ arXiv ด้วยเหตุนี้ คอมพิวเตอร์ของควอนทินิวอัมจึงยังคงเป็นทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการวิจัยในด้านคอมพิวเตอร์ควอนตัม"

ทีมงานของควอนทินิวอัมได้ทำการอัปเกรดหลายอย่างให้กับเครื่องเอช 1-1 ดังนี้

  • เพิ่มจำนวนคิวบิตที่เชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์จาก 12 เป็น 20 พร้อมกับรักษาระดับความผิดพลาดของเกตสองคิวบิต (two-qubit gate) ไว้ในระดับต่ำ (ความแม่นยำของประสิทธิภาพโดยทั่วไปที่ 99.7% และความเที่ยงตรงสูงถึง 99.8%) และมีคุณสมบัติสำคัญ เช่น การวัดวงจร mid-circuit, การนำคิวบิตกลับมาใช้ซ้ำ, ตรรกะตามเงื่อนไขของควอนตัม และการเชื่อมต่อแบบครบวงจร
  • การเพิ่มจำนวนเกตโซน (gate zone) จากสามเป็นห้า ทำให้เอช 1-1 สามารถดำเนินการควอนตัมได้มากขึ้นพร้อม ๆ กัน และเพิ่มการทำงานคู่ขนานในการใช้งานวงจร

คุณอัตต์ลีย์กล่าวว่า การอัปเกรดดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นถึงขั้นตอนต่อไปที่สำคัญสำหรับซีรีส์เอช (H-Series) นั่นคือ ความสามารถในการเพิ่มจำนวนคิวบิตและจำนวนเกตโซนโดยไม่กระทบต่อความเที่ยงตรงของเกต

สำหรับเอช 1-2 (H1-2) ซึ่งเป็นเวอร์ชันที่สองของซิสเท็ม โมเดล เอช 1 จะได้รับการอัปเกรดในลักษณะเดียวกันช่วงปลายปีนี้

"ความก้าวหน้าล่าสุดนี้แสดงให้เห็นว่าเราเข้าใจถึงความจำเป็นในการปรับขนาดฮาร์ดแวร์ควอนตัมที่ใช้เทคโนโลยีไอออนดักจับ (trapped-ion) ของเรา และเรายังคงเดินหน้าสร้างความก้าวหน้าตามแผนงานด้านเทคโนโลยีของเราต่อไป" คุณอัตต์ลีย์กล่าว "เรากำลังเพิ่มคิวบิตและรักษาความเที่ยงตรงโดยไม่กระทบต่อฟีเจอร์ใด ๆ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งเมื่อเราปรับขนาดให้เข้ากับรุ่นซีรีส์เอชในอนาคต" 

ควอนทินิวอัม ใช้เครื่องซิสเท็ม โมเดล เอช 1 เพื่อพัฒนาโซลูชันแบบครบวงจร เช่น ควอนตัม ออริจิน (Quantum Origin), ข้อเสนอด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และ อินควอนโต (InQuanto) ซอฟต์แวร์เคมีเชิงคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อไม่นานมานี้ (การเข้าใช้งานเครื่องเอช 1 มาพร้อมกับใบอนุญาตใช้งานซอฟต์แวร์อินควอนโต)

นอกจากนี้ ควอนทินิวอัมยังเปิดให้เข้าใช้งานเชิงพาณิชย์สำหรับคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่ใช้เทคโนโลยีไอออนดักจับอย่างเอช 1-1 และเอช 1-2 ตลอดจนโปรแกรมจำลองเอช 1 (H1 Emulators) ผ่านอาชัวร์ ควอนตัม (Azure Quantum) ของไมโครซอฟท์ (Microsoft)

"การอัปเกรดระบบของควอนทินิวอัมอย่างต่อเนื่องเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อลูกค้าของไมโครซอฟท์ ไมโครซอฟท์ยินดีที่ได้นำเสนอความสามารถใหม่ของเอช 1-1 ที่มาพร้อม 20 คิวบิตให้กับลูกค้าที่เข้าใช้งานระบบควอนทินิวอัม เอช ผ่านไมโครซอฟท์ อาชัวร์ ควอนตัม และโปรแกรมอาชัวร์ ควอนตัม เครดิตส์ (Azure Quantum Credits) ของเรา ซึ่งช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงฮาร์ดแวร์ควอนตัมได้ฟรี" คุณฟาบริซ ฟราชอน (Fabrice Frachon) ผู้จัดการโปรแกรมอาชัวร์ ควอนตัม กล่าว

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอช 1-1 ที่อัปเกรดใหม่ได้ที่ http://quantinuum.com/n20

เกี่ยวกับควอนทินิวอัม

ควอนทินิวอัม (Quantinuum) คือบริษัทคอมพิวเตอร์ควอนตัมแบบบูรณาการที่ใหญ่ที่สุดในโลก เกิดขึ้นด้วยการบูรณาการฮาร์ดแวร์ระดับแนวหน้าของโลกจากฮันนี่เวลล์ ควอนตัม โซลูชันส์ (Honeywell Quantum Solutions) กับมิดเดิลแวร์และแอปพลิเคชันระดับแนวหน้าจากเคมบริดจ์ ควอนตัม (Cambridge Quantum)

ควอนทินิวอัมเร่งให้เกิดการพัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัมและการประยุกต์ใช้งานทั้งในอุตสาหกรรมเคมี ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ การเงิน และการยกระดับประสิทธิภาพ โดยชุดเครื่องมือทิกเก็ต (TKET) สำหรับนักพัฒนาโปรแกรมแบบโอเพนซอร์สของบริษัท ช่วยให้เข้าถึงฮาร์ดแวร์และแบบจำลองควอนตัมระดับแนวหน้าของโลก และยกระดับสมรรถนะของทุกผลิตภัณฑ์ของควอนทินิวอัม บริษัทมีพนักงานกว่า 400 คน ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์จำนวน 300 คน และมีสำนักงาน 8 แห่งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น

เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ซิสเท็ม โมเดล เอช 1 (System Model H1) ของควอนทินิวอัม ซึ่งได้รับขุมพลังจากฮันนี่เวลล์ เป็นคอมพิวเตอร์ควอนตัมตัวแรกที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานปริมาณควอนตัม 4096 ของอุตสาหกรรม และในเดือนมีนาคม 2563 ควอนทินิวอัม (รวมถึงฮันนี่เวลล์ ควอนตัม โซลูชันส์) ประกาศว่าจะเพิ่มปริมาณควอนตัมของคอมพิวเตอร์ควอนตัมเชิงพาณิชย์ซีรีส์เอช (H-Series) ในระดับมหาศาลทุกปีตลอดห้าปีข้างหน้า

การใช้เครื่องหมายการค้าของฮันนี่เวลล์ได้รับอนุญาตจากบริษัท ฮันนี่เวลล์ อินเตอร์เนชันแนล อิงค์ (Honeywell International Inc. ) ทั้งนี้ ฮันนี่เวลล์ อินเตอร์เนชันแนล อิงค์ ไม่ได้เป็นตัวแทนหรือให้การรับรองผลิตภัณฑ์นี้ และควอนทินิวอัมเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ