CGTN: ฮ่องกงบนหนทางสู่การเป็นฮับเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลก ต่อยอด 25 ปี

ข่าวทั่วไป Monday July 4, 2022 13:42 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

อุทยานวิทยาศาสตร์ฮ่องกง ซึ่งเป็นฮับไฮเทคของเมือง ให้การต้อนรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน โดยเป็นส่วนหนึ่งของกำหนดการเยือนฮ่องกง 2 วันของปธน.สีเพื่อเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี ฮ่องกงกลับคืนสู่มาตุภูมิ

อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งนี้เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) และศูนย์บ่มเพาะธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกง โดยเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการมากกว่า 1,100 แห่ง และนักนวัตกรรม 17,000 คน

หนึ่งในสถานประกอบการเหล่านั้นคือ เซนส์ไทม์ (SenseTime) ยักษ์ใหญ่ด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็นบริษัทเดียวจากอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งนี้ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และสถานประกอบการอีกแห่งหนึ่งคือ ต้าเจียง อินโนเวชันส์ (Da-Jiang Innovations หรือ DJI) ผู้ผลิตโดรนเชิงพาณิชย์ชั้นนำของโลก

อนึ่ง รัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (HKSAR) ได้เปิดตัวอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งนี้ในปี 2545 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในฮ่องกง โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ยังรองรับห้องแล็บระดับชั้นนำด้วยอุปกรณ์การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง

จนถึงปัจจุบัน ทางอุทยานมีห้องแล็บ R&D 28 แห่งที่ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยระดับโลก ร่วมกับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นในฮ่องกง

ณ เดือนมีนาคม 2564 อุทยานวิทยาศาสตร์ดังกล่าวมีเนื้อที่พื้นห้องรวม 400,000 ตารางเมตร ตลอดจนอาคารที่มีอุปกรณ์พร้อมสรรพ 23 แห่ง และยังคงเดินหน้าขยายต่อไปเพื่อเพิ่มพื้นที่ R&D

ความคาดหวังสูงสำหรับฮ่องกง

ในระหว่างการเยี่ยมชมอุทยานวิทยาศาสตร์ ปธน.สีกล่าวว่าประเทศจีนมีความคาดหวังต่อฮ่องกงในระดับสูง

ปธน.สีกล่าวว่าจีนได้เขียนการสนับสนุนในการพัฒนาฮ่องกงให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับสากลในแผนพัฒนาระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2564-2568) ซึ่งเผยแพร่เมื่อปีที่แล้ว โดยแผนดังกล่าวเป็นพิมพ์เขียวและวาระการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า

ปธน.สีกล่าวว่า ฮ่องกงใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของตนเพื่อสร้างความสำเร็จที่โดดเด่นในการวิจัยขั้นพื้นฐาน การบ่มเพาะบุคลากรผู้มีความสามารถ ตลอดจนการพัฒนาในภาคนวัตกรรมและเทคโนโลยีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง

ในปี 2564 ฮ่องกงติดอันดับที่ 14 ในรายการพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่มีนวัตกรรมมากที่สุดของโลก ตามดัชนีนวัตกรรมโลก (GII) ที่เผยแพร่โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO)

ปธน.สีกล่าวเสริมว่า รัฐบาลฮ่องกงควรมีบทบาทด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ในการเป็นผู้นำและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ

ระหว่างการแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการ, นักวิจัย และตัวแทนเยาวชนขององค์กรนวัตกรรมที่อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งนี้ ปธน.สีเรียกร้องให้ฮ่องกงร่วมมือกับเมืองต่าง ๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่ในเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า เสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาวิสาหกิจ, มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย รวมถึงมุ่งมั่นที่จะสร้างเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ให้เป็นเขตนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโลก

พลังแห่งนวัตกรรมที่กำลังเติบโตของเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า

เขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ประกอบด้วยสองเขตบริหารพิเศษอย่างฮ่องกงและมาเก๊า รวมถึง 9 เมืองในมณฑลกวางตุ้ง มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 56,000 ตารางกิโลเมตร และครอบคลุมประชากรจีนราว 6%

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า แตะที่ 12.6 ล้านล้านหยวน (1.97 ล้านล้านดอลลาร์) ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 2.4 ล้านล้านหยวนจากปี 2560 และแม้ว่าจะมีผืนดินไม่ถึง 1% ของทั้งหมดทั่วประเทศ แต่เขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า กลับสร้างจีดีพีคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 12% ของทั้งประเทศ

นายช่าว ซินยฺหวี่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนกล่าวว่า ขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊านั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตามคำกล่าวของนายช่าว ค่าใช้จ่ายด้าน R&D ของ 9 เมืองในพื้นที่สามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง (Pearl River Delta) ภายในเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า มีมูลค่าสูงถึง 3.6 แสนล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3.7% ของจีดีพี เทียบกับระดับประเทศโดยรวมที่ 2.44%

นายช่าวกล่าวว่า จำนวนบริษัทไฮเทคในพื้นที่มีจำนวนถึง 57,000 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้มีการจดสิทธิบัตรไปประมาณ 780,000 รายการ ซึ่งมากกว่า 100,000 รายการเป็นสิทธิบัตรการประดิษฐ์

ในรายชื่อกลุ่มทางภูมิศาสตร์แห่งนวัตกรรม 100 อันดับแรกของโลกที่เผยแพร่โดย WIPO ทุกปีนั้น กลุ่มเซินเจิ้น-ฮ่องกง-กวางโจว ครองอันดับที่ 2 ติดต่อกันในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

กลุ่มนวัตกรรมแห่งนี้ที่ผงาดขึ้นมาโดยมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดในด้านจำนวนสิทธิบัตรและสิ่งพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์ ได้เขยิบชั้นเข้าใกล้โตเกียว-โยโกฮาม่า ซึ่งเป็นกลุ่มนวัตกรรมอันดับ 1 ในรายชื่อดังกล่าว

มาตรการสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีของฮ่องกงและมาเก๊า

ต้าย กัง ผู้อำนวยการกรมความร่วมมือระหว่างประเทศของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน (MOST) กล่าวว่า ทางกระทรวงฯ ได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของฮ่องกงและมาเก๊า โดยมาตรการเหล่านี้เป็นไปเพื่อส่งเสริมการบูรณาการเข้ากับระบบนวัตกรรมแห่งชาติต่อไป

ทางกระทรวงฯ ได้สนับสนุนฮ่องกงในการสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมจำนวนมาก แพลตฟอร์มเหล่านั้นรวมถึงห้องแล็บหลักของรัฐ 16 แห่ง, ศูนย์วิจัยวิศวกรรมแห่งชาติของจีนในฮ่องกง 6 สาขา, ฐานพันธมิตรด้านอุตสาหกรรมไฮเทคระดับชาติ 3 แห่ง และศูนย์บ่มเพาะบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับชาติ 2 แห่ง

ในมาเก๊าเองก็ใช้นโยบายในลักษณะเดียวกันนี้เช่นกัน

นอกจากนี้ กระทรวงยังได้เสนอมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนคนหนุ่มสาวจากฮ่องกงและมาเก๊าให้ประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมแห่งนวัตกรรม พร้อมช่วยให้พวกเขาได้เริ่มต้นธุรกิจของตนเองบนจีนแผ่นดินใหญ่

https://news.cgtn.com/news/2022-07-03/Hong-Kong-on-highway-to-become-global-tech-and-innovation-hub--1blECIxf7X2/index.html


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ