อินโดนีเซียและไต้หวันร่วมกันขยายความร่วมมือในอุตสาหกรรม IoT
การประชุมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย-ไต้หวัน ประจำปี 2565 (2022 Indonesia-Taiwan Industrial Collaboration Forum) ได้จัดการประชุมย่อยด้าน IoT ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติมูลนิธิจางหรงฟา (Chang Yung-Fa Foundation International Convention Center) ในไทเป เมื่อเวลา 14.30 น. ของวันที่ 19 สิงหาคม โดยมีแขกผู้มีเกียรติทั้งชาวไต้หวันและต่างชาติ 70 คนเข้าร่วมงาน สำหรับผู้กล่าวสุนทรพจน์หลักภายในงานประกอบด้วยนายชุนเซียว ลี (Chun-Hsiao Lee) หัวหน้าส่วนจากสำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรมไต้หวัน Industrial Development Bureau (IDB), นายสลาเมต รียันโต (Slamet Riyanto) ผู้ประสานงานอุตสาหกรรมไอซีที กระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย และศาสตราจารย์โมฮัมเหม็ด อาลี เบราวี (Mohammed Ali Berawi) หัวหน้าฝ่ายการประสานงานนวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี จากทีมงานด้านการเปลี่ยนผ่านขององค์กรปกครองนูซันตารา เมืองหลวงใหม่ของอินโดนีเซีย โดยทั้งสองฝ่ายต่างรอคอยการประชุมครั้งนี้อย่างใจจดใจจ่อ ในฐานะที่เป็นสะพานเชื่อมการพัฒนาเทคโนโลยีและการสร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังเป็นช่องทางกระชับความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายเพื่อขยายมุมมองความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งคู่
การประชุมย่อยในหัวข้อ IoT ปีนี้ มุ่งเน้นไปที่นโยบายและโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซียและวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระดับโลก การประชุมครั้งนี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมจากทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมกันทำการวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อนำเสนอแนวทางในการพัฒนาเมืองหลวงใหม่ของอินโดนีเซีย และหารือในความร่วมมือเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม IoT ในอินโดนีเซีย ภายในงานมีการนำเสนอเกี่ยวกับโรงงานอัจฉริยะในไต้หวันโดยใช้โซลูชั่น IoT และ AI, การพัฒนา การใช้งาน และแนวโน้มการขนส่งเทคโนโลยี IoT ในอินโดนีเซีย, โซลูชั่นรถบัสไฟฟ้าจากไต้หวัน, โอกาสทางธุรกิจในเมืองอัจฉริยะนูซันตารา และการใช้ IoT ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไต้หวัน
นายชุนเซียว ลี หัวหน้าส่วนจากสำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรมไต้หวัน กล่าวว่า การอภิปรายและแบ่งปันประสบการณ์ในอุตสาหกรรม IoT ระหว่างไต้หวันกับอินโดนีเซียจะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มอุตสาหกรรมและโอกาสทางการตลาดเพื่อการเชื่อมสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายต่อไป และด้วยการต่อยอดความสำเร็จที่มีมายาวนาน เราหวังว่าจะกระชับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และส่งเสริมความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายต่อไป
นายสลาเมต รียันโต ผู้ประสานงานอุตสาหกรรมไอซีที กระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียยังคงดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจเชิงกลยุทธ์หลังโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รัฐบาลอินโดนีเซียได้เลือกโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเป็นหนึ่งในโครงการที่มีความสำคัญระดับชาติกลุ่มที่สอง และในช่วงท้ายของการกล่าวสุนทรพจน์ นายรียันโตได้แสดงความหวังว่าการประชุมย่อยครั้งนี้จะก่อให้เกิดแนวคิดและความร่วมมือใหม่ ๆ ระหว่างไต้หวันกับอินโดนีเซีย
สุดท้ายนี้ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านความร่วมมือสองฉบับภายในงาน หนึ่งคือความร่วมมือระหว่างบริษัท โคกี คอร์ปอเรชัน (KOGI Corporation) จากไต้หวัน กับบริษัท อาบาคัส พีโอเอส อินโดนีเซีย (Abacus POS Indonesia) เพื่อจัดหาโซลูชั่นแบบไร้สัมผัสสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในตลาดอินโดนีเซีย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแพร่หลายของเทคโนโลยีไร้สัมผัสจากไต้หวันในอินโดนีเซีย และสองคือความร่วมมือระหว่าง ไอโอที-แอป (IoT-APP) จากไต้หวัน กับมหาวิทยาลัยไอพีบี (IPB University) หรือสถาบันเกษตรศาสตร์โบโกร์ (Bogor Agricultural Institute) ของอินโดนีเซีย ในการจัดฝึกอบรมการใช้งานโดรนพ่นยาทางการเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงจัดตั้งพื้นที่สาธิตการเกษตรอัจฉริยะ และส่งเสริมการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการด้านการเกษตรในท้องถิ่น