รายงานข่าวโดย Huanqiu.com
พิธีเปิดสัปดาห์ความร่วมมือส่งเสริมการศึกษาจีน-อาเซียน (China-ASEAN Education Cooperation Week หรือ CAECW) ประจำปี 2565 ได้เปิดฉากแล้วทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ที่มณฑลกุ้ยโจวเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา
งาน CAECW ประจำปี 2565 มีหัวข้อว่า "ร่วมสร้างบ้านอันอบอุ่นเพื่ออนาคตที่สดใส" (Jointly Building an Amicable Home for a Colorful Future) โดยมีกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ และรัฐบาลมณฑลกุ้ยโจว ร่วมจัดงานนี้
ซุน ชุนหลาน (Sun Chunlan) รองนายกรัฐมนตรีจีน ได้กล่าวสุนทรพจน์ผ่านทางวิดีโอลิงก์ที่พิธีเปิด โดยเน้นย้ำว่า งาน CAECW ได้พัฒนาจนกลายเป็นแพลตฟอร์มระหว่างรัฐบาลที่เป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างจีนกับอาเซียน ซึ่งเข้ามามีส่วนสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน การแลกเปลี่ยนแบบตัวต่อตัว พร้อมกระชับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของทุกประเทศทั่วภูมิภาค
ปีนี้นับเป็นปีที่ 15 ของงาน CAECW โดยตลอด 15 ปีที่ผ่านมา CAECW ได้เข้ามามีบทบาทอย่างจริงจังในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและร่วมมืออย่างมีคุณภาพระหว่างจีนกับอาเซียน และนับจนถึงทุกวันนี้ CAECW ดึงดูดผู้ร่วมงานรวมกันได้กว่า 30,000 รายจากกว่า 50 ประเทศและเขตปกครอง ทั้งยังส่งเสริมให้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือหรือบันทึกความร่วมมือรวมเกือบ 2,000 ฉบับ และผลักดันโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ กว่า 400 รายการ
รองนายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า "จีนยินดีทำงานร่วมกับชาติอาเซียนเพื่อผลักดันวาระครบรอบ 15 ปีของงาน CAECW เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ และร่วมวางแผนและกระตุ้นความก้าวหน้าและความร่วมมือทางการศึกษาไปจนถึงปี 2573" พร้อมเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายร่วมใจส่งเสริมการสร้างประชาคมการศึกษาจีน-อาเซียนที่ยั่งยืน เสมอภาค และล้ำหน้า
หลี่ ปิงจุน (Li Bingjun) รองเลขาธิการคณะกรรมการมณฑลกุ้ยโจวประจำพรรคคอมมิวนิสต์จีน และผู้ว่าการมณฑลกุ้ยโจว กล่าวสุนทรพจน์โดยชี้ว่า มณฑลกุ้ยโจวจะยังคงใช้ประโยชน์จากงาน CAECW ต่อไป เพื่อยกระดับความร่วมมือกับอาเซียนในการแบ่งปันผลประโยชน์ของการสร้างแถบและเส้นทาง (Belt and Road) และเสริมว่า มณฑลกุ้ยโจวจะยังคงมีบทบาทเป็นเจ้าภาพของงาน CAECW และทุ่มเทในการพัฒนา CAECW จากที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีก พร้อมขยายความร่วมมือและความก้าวหน้าระหว่างจีนกับอาเซียน
ซารา ซิมเมอร์แมน ดูเตอร์เต-คาร์ปิโอ (Sara Zimmerman Duterte-Carpio) รองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการฟิลิปปินส์ กล่าวผ่านวิดีโอลิงก์ว่า ฟิลิปปินส์สนับสนุนความร่วมมือในด้านการบ่มเพาะความสามารถ การวิจัย ความร่วมมือ การศึกษาทางดิจิทัล และการแลกเปลี่ยนแบบตัวต่อตัว เพื่อสร้างประชาคมการศึกษาอาเซียน-จีนที่ยั่งยืน เสมอภาค และล้ำหน้า
บิน ชิน (Bin Chhin) รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และรักษาการรัฐมนตรีผู้ดูแลคณะรัฐมนตรี ได้ชื่นชมบทบาทของจีนในการส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกัมพูชา ซึ่งงาน CAECW เปิดโอกาสอันยอดเยี่ยมในการยกระดับความเข้าใจซึ่งกันและกัน และกระชับมิตรภาพระหว่างจีนกับชาติอาเซียน
ดาโต๊ะ ลิม จ๊อก ฮอย (Dato Lim Jock Hoi) เลขาธิการอาเซียน เปิดเผยว่า CAECW ได้กลายเป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนแบบตัวต่อตัวและความร่วมมือระหว่างจีนกับชาติอาเซียน และหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะยกระดับความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนนักเรียนนักศึกษา บุคลากรผู้สอนและนักวิจัย และการยอมรับคุณวุฒิทางด้านวิชาการร่วมกัน
ในพิธีเปิดงาน CAECW ประจำปี 2565 ยังมีการเปิดตัวสถาบันการศึกษาอัจฉริยะอาเซียน-จีนในกุ้ยโจวอันสดใส (ASEAN-China Smart Education Institute in Colorful Guizhou) และศูนย์พัฒนาทักษะอาชีพจีน-อาเซียน (China-ASEAN TVET Consortium) ด้วย
นับตั้งแต่ 22-28 สิงหาคม งาน CAECW ประจำปี 2565 จะจัดกิจกรรมรวม 37 รายการตลอดระยะเวลาของงาน และมีแผนจัดกิจกรรมอีก 57 รายการตลอดทั้งปี โปรเจกต์ทั้งหมดของงาน CAECW ประจำปี 2565 มุ่งเน้นความร่วมมือทางการศึกษาอย่างยั่งยืน การแลกเปลี่ยนและความร่วมมือในการให้ความรู้ในยุคหลังโควิด-19 การส่งเสริมนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการในเยาวชน และการแลกเปลี่ยนข้ามวัฒนธรรมในเยาวชน
งาน CAECW ประจำปี 2565 คาดว่าจะช่วยสร้างกลไกการประชุมของเจ้าหน้าที่อาวุโสระหว่างจีนกับอาเซียนในเรื่องการศึกษา และส่งเสริมให้แบ่งปันประสบการณ์และผลลัพธ์ในการพัฒนาได้ดีขึ้นทั้งการศึกษาระดับพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา
CAECW จะเป็นแพลตฟอร์มให้กับศูนย์พัฒนาทักษะอาชีพจีน-อาเซียน และผลักดันโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนเส้นทางสายไหม "Zhi & Xing Guizhou" เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเยาวชนในระดับนานาชาติ
ผู้เข้าร่วมงานราว 2,400 คนจากจีน ชาติอาเซียน และประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มแถบและเส้นทาง ต่างเข้าร่วมงาน CAECW ประจำปี 2565 ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์
งาน CAECW เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2551 และได้พัฒนาขึ้นเป็นแพลตฟอร์มการศึกษาระดับแถวหน้า เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนแบบตัวต่อตัวระหว่างจีนกับชาติอาเซียน และเป็นสะพานเชื่อมสายสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับอาเซียน