งานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีน (China International Import Expo หรือ CIIE) ครั้งที่ 5 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-10 พฤศจิกายน ที่นครเซี่ยงไฮ้ เตรียมให้การต้อนรับบริษัทยักษ์ใหญ่จากทั่วโลก
สำนักงานจัดงานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีนและกรมศุลกากรจีน เปิดเผยว่า บริษัทกว่า 280 แห่งที่ติดอันดับ 500 องค์กรชั้นนำของโลกและบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมจะเข้าร่วมงานนี้ โดยเกือบ 90% ในจำนวนนี้กลับมาร่วมงานอีกครั้งหลังจากที่เคยร่วมงานเมื่อปีที่แล้ว
นับตั้งแต่ปี 2561 งานนี้ได้ทำหน้าที่เป็นช่องทางที่เปิดกว้างสำหรับการลงทุนและการจัดซื้อระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวเพื่อเปิดตลาดจีนสู่เวทีโลก
"การส่งเสริมการเปิดกว้างที่มีมาตรฐานสูง" ได้รับการเน้นย้ำในรายงานที่นำเสนอในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ซึ่งระบุว่า จีนควร "ขยายการเปิดกว้างอย่างต่อเนื่องโดยคำนึงถึงกฎระเบียบ ข้อบังคับ การกำกับดูแล และมาตรฐาน"
กระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า ผู้จัดแสดงสินค้าในงาน 4 ครั้งก่อนหน้านี้ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และบริการใหม่มากกว่า 1,500 รายการ และมีการบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นมูลค่ากว่า 2.7 แสนล้านดอลลาร์
ผลิตภัณฑ์ไฮเทคจำนวนมากจะเปิดตัวในงานนี้ รวมถึง "ออปติมัส" (Optimus) หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ของบริษัทเทสลา (Tesla) ซึ่งใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์วิชันอันทรงพลังและสอดประสานกับรถยนต์ รวมถึงเครื่องพิมพ์ 3 มิติเรซินไวแสง (photosensitive resin) ของบริษัท เอวอร์นิค อิสดัสทรีส์ เอจี (Evonik Industries AG) ซึ่งเหมาะสำหรับการผลิตวัสดุที่ทนทานและทนต่อแรงกระแทก
ตลาดผู้บริโภคกำลังเฟื่องฟู
งานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีนเปิดโอกาสให้บริษัททั่วโลกเข้าถึงตลาดจีนที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นและกำลังซื้อที่มากขึ้นของผู้บริโภคชาวจีน
ข้อมูลอย่างเป็นทางการระบุว่า ในปี 2564 จีดีพีต่อหัวของจีนเพิ่มขึ้นแตะระดับ 81,000 หยวน (11,203 ดอลลาร์) และรายได้ที่ใช้จ่ายได้จริงต่อหัวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2555
ขณะเดียวกัน ประชากรจีนจำนวนมากยังขยับขึ้นมาสู่ชนชั้นที่มีรายได้ปานกลาง โดยมีผู้มีรายได้ปานกลางมากกว่า 400 ล้านคนในปี 2565 เมื่อเทียบกับ 100 ล้านคนในทศวรรษที่แล้ว
กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นบ่งบอกถึงศักยภาพของตลาดจีน ซึ่งบริษัทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่หรือบริษัทสตาร์ทอัพขนาดเล็กก็สามารถเข้าถึงได้
มูลค่าการค้าสินค้าและบริการของจีนขยายตัวจาก 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2555 แตะระดับ 6.9 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2564 ซึ่งรั้งอันดับ 1 ของโลก
ในช่วงเวลาเดียวกัน เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ไหลเข้าจีนและมีการใช้จ่ายจริงยังเพิ่มขึ้นเกือบ 63% และบริษัทมากกว่า 47,000 แห่งได้ก่อตั้งขึ้นด้วยเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (ไม่รวมธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทประกัน) เพิ่มขึ้น 23.5% จากปีก่อนหน้า
การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จีนได้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจด้วยการยกระดับบริการด้านการกำกับดูแลตลาด โดยรายงานความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลกปี 2563 ระบุว่า จีนอยู่ในอันดับ 31 จากทั้งหมด 190 ประเทศและดินแดน กระโดดขึ้นจากอันดับ 78 ในปี 2561
ในปี 2562 จีนได้ออกระเบียบว่าด้วยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ซึ่งเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการฉบับแรกที่แจกแจงความสัมพันธ์ระหว่างการคุ้มครองสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ
ระเบียบดังกล่าวระบุว่า นักลงทุนและบริษัทในประเทศได้รับการคุ้มครองอยู่แล้ว ส่วนชาวต่างชาติและบริษัทต่างประเทศสามารถยื่นเรื่องจดสิทธิบัตรหรือเครื่องหมายการค้าอย่างถูกต้องจากสำนักงานบริหารทรัพย์สินทางปัญญาของจีนได้ หากปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
ในปี 2564 เมืองที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว 6 เมืองได้รับเลือกให้เป็นผู้นำในการพัฒนาศูนย์การบริโภคระหว่างประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกแนวทางใหม่ในปี 2565 เพื่อบรรเทาความตึงเครียดของธุรกิจขนาดเล็กและปกป้องสิทธิ์ตามกฎหมายของบริษัทต่าง ๆ
การเปิดกว้างที่มีมาตรฐานสูง
นับตั้งแต่กฎหมายการลงทุนของต่างชาติมีผลบังคับใช้ในปี 2563 จีนได้ใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศและส่งเสริมการเปิดประเทศในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งรวมถึงการผ่อนคลายการเข้าสู่ตลาดสำหรับการค้าภาคบริการและการลงทุน ตลอดจนการเพิ่มสัดส่วนการค้าสินค้าปลอดภาษี
ข้อมูลอย่างเป็นทางการระบุว่า จนถึงขณะนี้ จีนได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี 19 ฉบับร่วมกับ 26 ประเทศและดินแดน และปริมาณการค้าระหว่างจีนกับคู่ค้าภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีคิดเป็นสัดส่วนราว 35% ของการค้าต่างประเทศทั้งหมดของจีน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 จีนได้ประกาศรายการข้อจำกัดและข้อห้าม (Negative List) สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยเป็นเอกสารที่ระบุรายชื่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ถูกห้ามหรือจำกัดการลงทุนจากภาคเอกชน
เอกสารฉบับล่าสุดซึ่งเผยแพร่ในปี 2564 ได้ลดจำนวนข้อจำกัดจาก 33 เหลือ 31 มาตรการ และลดข้อจำกัดสำหรับเขตการค้าเสรีจาก 30 เหลือ 27 มาตรการ ซึ่งถือเป็นความพยายามส่วนหนึ่งของจีนที่จะอำนวยความสะดวกให้มีการเปิดกว้างในระดับที่สูงขึ้นเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ
"ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากตลาดและทรัพยากรทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อขยายการค้าต่างประเทศและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ตลอดจนสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ในการเปิดกว้างสู่โลกภายนอก" นายเฉิน เจียนอัน (Chen Jian'an) รองประธานสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็น (CGTN)
ทั้งนี้ การจัดงานสำคัญอย่างงานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีนแสดงให้เห็นถึงความคิดริเริ่มของจีนในการเปิดตลาดจีนสู่เวทีโลก เขากล่าวเสริม
https://news.cgtn.com/news/2022-11-03/CGTN-China-embraces-better-business-environment-with-higher-standard-opening-up-1eEWZKjTi7e/index.html
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1937615/image_5009787_51154162.jpg