นางเผิง ลี่หยวน ภริยาของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าร่วมงานสำหรับคู่สมรสของผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอด G20 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
นางอิเรียนา โจโก วิโดโด สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของอินโดนีเซีย ผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว ได้ต้อนรับนางเผิงเมื่อเดินทางมาถึง โดยนางเผิงและคู่สมรสของผู้นำคนอื่น ๆ ได้รับชมการเต้นรำแบบบาหลีและถ่ายรูปหมู่ร่วมกัน
นอกจากนี้ นางอิเรียนาได้นำนางเผิงไปชมนิทรรศการเครื่องดนตรีท้องถิ่น เครื่องแต่งกาย เครื่องหวาย งานเย็บปักถักร้อย และอาหารรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนชมกระบวนการผลิตงานหัตถกรรมพื้นเมืองของอินโดนีเซีย เช่น การสานใบปาล์ม และได้ประทับเครื่องหมายของการประชุมสุดยอด G20 และลวดลายดอกไม้ลงบนกระเป๋าสาน
ในโอกาสนี้ นางเผิงได้แสดงความชื่นชมอินโดนีเซียจากแนวคิดในการบูรณาการงานหัตถกรรมเข้ากับการเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิง การขจัดความยากจน และการปกป้องระบบนิเวศ นางเผิงกล่าวว่า จีนและอินโดนีเซียสามารถเสริมสร้างความร่วมมือในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การปกป้องระบบนิเวศและการบรรเทาความยากจนในภูมิภาค
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ การสื่อสารทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับอินโดนีเซียได้รับการยกระดับอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีการจัดเวิร์กช็อปวงดนตรีกาเมลัน (Gamelan) ซึ่งเป็นหนึ่งในดนตรีดั้งเดิมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในอินโดนีเซีย ประกอบด้วยระนาด กลอง ฆ้อง และเครื่องดนตรีอื่น ๆ ที่มหาวิทยาลัยศิลปะกว่างซี (Guangxi Arts University) ทางตอนใต้ของจีน ช่วยให้ชาวจีนได้เรียนรู้และเพลิดเพลินไปกับดนตรีท้องถิ่นของอินโดนีเซีย
ในเดือนพฤศจิกายน 2565 สำนักพิมพ์สังคมศาสตร์จีน (Social Sciences Academic Press) และสำนักพิมพ์ยายาซาน ปุสตากา โอบอร์ อินโดนีเซีย (Yayasan Pustaka Obor Indonesia) ได้ร่วมกันเปิดตัวหนังสือ 4 เล่มในประเทศอินโดนีเซีย ในมหกรรมหนังสือนานาชาติอินโดนีเซีย (Indonesia International Book Fair) ประกอบด้วยหนังสือ "ความฝันของจีนและเส้นทางของจีน" (The Chinese Dream and the Chinese Road), "ความหวังของประเทศที่มีประชากรมหาศาล" (Hope for a Populous Nation), "2050: การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของจีน" (2050: China's Low-carbon Economic Transition) และ "การเปลี่ยนผ่านทางการเกษตรของประเทศใหญ่" (On the Agricultural Transition of a Big Country) โดยเป็นผลงานล่าสุดของโครงการแปลวรรณกรรมที่ดำเนินการโดยทั้งสองประเทศ โครงการนี้ทำให้หนังสือที่บรรยายเกี่ยวกับการพัฒนาและมรดกทางวัฒนธรรมของจีนเข้าสู่อินโดนีเซียมากขึ้น
ด้วยสภาพแวดล้อมทางการศึกษาที่ดีขึ้น นักเรียนชาวอินโดนีเซียจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เลือกที่จะมายังประเทศจีนเพื่อศึกษาต่อในสาขาวิชาต่าง ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2564 มีชาวอินโดนีเซียประมาณ 15,000 คนที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศจีน ในขณะที่จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ชาวอินโดนีเซียนิยมเดินทางมาศึกษาต่อ นักศึกษาจีนจำนวนไม่น้อยก็ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยของอินโดนีเซียเช่นเดียวกัน
ประชาชนชาวจีนและอินโดนีเซียมีมิตรภาพอันดีมาอย่างยาวนาน และมีการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนอย่างคึกคักในช่วงไม่กี่ปีมานี้ นางเผิงกล่าวเมื่อครั้งพบกับนางอิเรียนา โจโก วิโดโด สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของอินโดนีเซีย ในเดือนกรกฎาคม 2565
อินโดนีเซียประกาศนโยบายฟรีวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนตั้งแต่ปี 2558 โดยอนุญาตให้อยู่ในประเทศได้ไม่เกิน 30 วัน ในปี 2561 นักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่เดินทางเยือนอินโดนีเซียกว่า 2.1 ล้านคน คิดเป็น 13.52% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด จากการรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซีย
https://news.cgtn.com/news/2022-11-16/Peng-Liyuan-attends-spouses-event-of-G20-leaders-in-Bali-1f0gTpBrAT6/index.html