ศ.เผิง ลี่หยวน ภริยาของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน พร้อมด้วยคณะคู่สมรสของเหล่าผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders' Meeting) ครั้งที่ 29 เดินทางเยือนพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดินในจังหวัดอยุธยา เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (18 พ.ย.)
รศ.นราพร จันทร์โอชา ภริยา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ให้การต้อนรับศ.เผิงอย่างอบอุ่นบริเวณทางเข้า และเดินเคียงข้างตลอดการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว
โถงนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงงานศิลปะเฉลิมพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนเชิดชูงานหัตถศิลป์ไทยดั้งเดิม ศ.เผิงฟังการนำเสนอชุดผลงานศิลปะแล้วกล่าวยกย่องฝีไม้ลายมือของช่างศิลป์ไทย
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์และพัฒนางานหัตถศิลป์ไทยดั้งเดิมตลอดจนช่วยเหลือครอบครัวในถิ่นทุรกันดาร โดยศ.เผิงชี้ให้เห็นว่าจีนก็มีแนวคิดแบบเดียวกันในการบรรเทาปัญหาความยากจนในพื้นที่ด้อยพัฒนา
นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวยังจำหน่ายงานฝีมือของเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาอีกด้วย โดยเด็กกลุ่มนี้ได้รับการฝึกอบรมจากศูนย์พัฒนาและส่งเสริมศิลปาชีพของโรงเรียนในวัง ศ.เผิงกล่าวว่าเธอจะซื้อผลงานบางส่วนเพื่อสนับสนุนโครงการแก้ปัญหาความยากจนของพระราชวงศ์ไทย
ทั้งนี้ การขายงานฝีมือทำเองเป็นวิธีที่ช่วยให้ประชาชนในหลายพื้นที่ในประเทศจีนหลุดพ้นจากความยากจนได้ เช่น งานตัดกระดาษจากมณฑลฉ่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน งานเย็บปักถักร้อยและผ้าบาติกจากมณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ล้วนเกิดขึ้นมาเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่น
มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ยังมีบทบาทสำคัญในความพยายามบรรเทาปัญหาความยากจนของจีนอีกด้วย โดยข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีนระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2561-2563 เวิร์กช็อปด้านมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้กว่า 2,200 รายการก่อตั้งขึ้นทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์เหรินหมินรื่อเป้า (People's Daily) รายงานว่า เวิร์กช็อปเหล่านี้สร้างงานสร้างอาชีพมาแล้วนับครึ่งล้าน ช่วยให้หลุดพ้นความยากจนได้ถึง 200,000 ครัวเรือน
สายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ
เมื่อสังเกตเห็นเชิงเทียนทรงดอกบัว ศ.เผิงจึงกล่าวว่าคนจีนชอบดอกบัว เพราะดอกบัวมีความสูงส่งตรงที่สามารถเติบโตขึ้นจากโคลนตมได้โดยปราศจากมลทิน รศ.นราพรเห็นด้วย โดยกล่าวว่าคนไทยใช้ดอกบัวเพื่อการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งศ.เผิงชี้ว่านี่เป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นว่าคนจีนกับคนไทยมีค่านิยมคล้ายคลึงกัน
จีนกับไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันโดยมีประวัติศาสตร์การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกันมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและไทยในปี พ.ศ. 2518 ทั้งสองประเทศก็ขยายรูปแบบการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น โดยมีเนื้อหาสาระที่รุ่มรวยยิ่งขึ้น
ด้วยการดำเนินงานจากศ.เผิงและรศ.นราพร มหาวิทยาลัยศิลปะหนานจิงในประเทศจีนจึงได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจทางวิชาการร่วมกับสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาในประเทศไทยไปเมื่อเดือนมีนาคม 2562 นับแต่นั้นมา สถาบันการศึกษาทั้งสองก็ร่วมมือกันมากขึ้นผ่านการแลกเปลี่ยนบุคลากร การศึกษาค้นคว้าและฝึกฝนร่วมกันในศาสตร์ของดนตรี
ขณะเดียวกัน ในแวดวงวรรณกรรม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็มีคุณูปการอย่างยิ่งยวดต่อการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยพระองค์โปรดวัฒนธรรมจีนและทรงแปลผลงานวรรณกรรมจีนมาแล้วหลายเรื่องเป็นภาษาไทย นอกจากนี้ พระองค์ทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์แรกที่เสด็จฯเยือนจีน และเยือนมาแล้วราว 50 ครั้ง พร้อมเผยแพร่พระราชนิพนธ์บันทึกการเสด็จพระราชดำเนินเยือนจีนในหลายวาระโอกาส ทั้งนี้ พระองค์ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์รัฐมิตรภรณ์จากประเทศจีน เมื่อปี 2562
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ภาษาจีนเป็นภาษายอดนิยมในหมู่นักเรียน/นักศึกษาไทย โดยมีผู้เรียนภาษาจีนในโรงเรียนมากกว่าหนึ่งล้านคน ด้านสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า มีโรงเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาในไทยกว่า 2,000 แห่งที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาภาษาจีน โดยประเทศจีนได้ส่งอาสาสมัครกว่า 20,000 คนไปสอนภาษาจีนในโรงเรียนไทยนับตั้งแต่ปี 2546
ช่วงระหว่างการเยี่ยมชมครั้งนี้ ศ.เผิงได้สนทนากับคณะคู่สมรสของเหล่าผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมเอเปค ตลอดจนถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน
https://news.cgtn.com/news/2022-11-18/Peng-Liyuan-attends-spouses-event-of-APEC-leaders-in-Ayutthaya--1f41qNP2cV2/index.html