บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ร่วมกับโกลบอล ฟันด์ และเครือข่ายนักลงทุนเพื่อสังคมแห่งเอเชีย จัดการประชุมประจำปีว่าด้วยวัณโรคในเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 2 เพื่อเดินหน้าสู่การทำให้วัณโรคในภูมิภาคหมดไป
เยาวชนในภูมิภาคมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคหากปราศจากการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนการต่อสู้กับวัณโรค ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในการประชุมนี้
เมื่อวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2565 บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ร่วมกับโกลบอล ฟันด์ (Global Fund) และเครือข่ายนักลงทุนเพื่อสังคมแห่งเอเชีย (Asian Venture Philanthropy Network หรือ AVPN) ได้จัดการประชุมประจำปีว่าด้วยวัณโรคในเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Tuberculosis Forum) ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นเวทีสำหรับผู้นำเยาวชน ผู้กำหนดนโยบาย องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และนักวิชาการในการร่วมมือกันกำจัดวัณโรค (TB) ในเอเชียแปซิฟิกที่มีผู้ป่วยวัณโรคมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก วาระการประชุมในครั้งนี้ซึ่งได้รับกำหนดโดยการสนับสนุนของโกลบอล ทีบี คอคัส (Global TB Caucus) มุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจผลกระทบของวัณโรคที่มีต่อเยาวชนและเด็ก รวมถึงพัฒนาและแบ่งปันแนวทางใหม่ ๆ ในการขับเคลื่อนและสร้างเยาวชนในฐานะตัวแทนแห่งการเปลี่ยนแปลงด้านการกำจัดวัณโรค
เยาวชนและหนุ่มสาวอายุระหว่าง 15 ถึง 34 ปีได้รับผลกระทบอย่างมากจากวัณโรคและต้องแบกรับภาระมากที่สุด ขณะที่เป็นกลุ่มประชากรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีบทบาทและศักยภาพในด้านทุนทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ การมอบการเข้าถึงการดูแลและสร้างการมีส่วนร่วมที่สำคัญในการกำจัดวัณโรคให้หมดไปในทุกระดับแก่เยาวชน จะปูทางไปสู่โลกที่ปราศจากวัณโรค ซึ่งเป็นโลกที่ดีกว่าเดิม ปลอดภัยและแข็งแรงขึ้น[1]
คุณโอเคียน คิม (Oakyeon Kim) รองประธานฝ่ายกิจการรัฐบาลและนโยบาย ประจำบริษัทแจนเซ่น เอเชีย แปซิฟิก (Janssen Asia Pacific) กล่าวว่า "แม้จะมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ แต่เยาวชนก็มีโอกาสน้อยที่จะได้รับการรักษาวัณโรคด้วยเหตุผลหลายประการ ประกอบด้วยการขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาการของโรค หรือการถูกสังคมตีตราเมื่อเป็นโรค ด้วยเหตุนี้ การต้องร่วมมือกับพันธมิตรทั่วโลกในการขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อช่วยสร้างความตระหนักในชุมชน ส่งเสริมพฤติกรรมการแสวงหาสุขภาพที่ดี ผลักดันการวินิจฉัยวัณโรคในระยะเริ่มต้น และรับประกันการดูแลที่จำเป็นแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจึงเป็นสิ่งสำคัญ"
เป็นเวลากว่าสองทศวรรษที่จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เป็นหุ้นส่วนระดับโลกที่มุ่งมั่นในการต่อสู้กับวัณโรค ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มเพื่อการกำจัดวัณโรคระยะเวลา 10 ปี ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2561 จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน มุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมและการส่งเสริมให้เยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่บอบบางอย่างน่าตกใจและมีความเกี่ยวข้องรวมถึงได้รับผลกระทบอย่างมากในการต่อสู้กับวัณโรค ผ่านแคมเปญต่าง ๆ เช่นทีบี เชนจ์เมคเกอร์ส (TB Changemakers) ในอินเดีย และแคมเปญทีบี วอร์ริเออร์ส (TB Warriors) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมเยาวชนในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนามให้มีสุขภาพที่ดี และสนับสนุนชุมชนของพวกเขาโดยการแบ่งปันความรู้ผ่านโซเชียลมีเดียและเกมมือถือ เพื่อกำจัดวัณโรคให้หมดไปจากสังคม
เป้าหมายของการประชุมประจำปีคือการสร้างเวทีที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลักๆ และมีบทบาทในการกำจัดวัณโรค จะสามารถร่วมกันแบ่งปัน สร้างและขยายโครงการริเริ่มเพื่อปิดช่องว่างและกระตุ้นการเข้าถึงผู้ป่วย โดยเน้นไปที่เยาวชนในฐานะกลุ่มเป้าหมาย เยาวชนในฐานะผู้ปกครอง (เพื่อหาเด็กที่เป็นวัณโรค) และเยาวชนที่เป็นตัวขับเคลื่อน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนและความร่วมมือต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญในการต่อสู้กับวัณโรคทั่วทั้งภูมิภาค
การมุ่งเน้นไปที่เยาวชนยังได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2562 ผ่านการประชุม Youth Town Hall to End TB ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย การมีส่วนร่วมของพวกเขาในการประชุมครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า เยาวชนคือผู้เปลี่ยนแปลงและเป็นพันธมิตรที่สำคัญในโครงการวัณโรคระดับชาติ และจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการกำจัดวัณโรค
คุณไนนา ซับเบอร์วัล บาตรา (Naina Subberwal Batra) ซีอีโอของเครือข่ายนักลงทุนเพื่อสังคมแห่งเอเชีย กล่าวว่า "นับเป็นเรื่องน่าวิตกที่วัณโรคกลับมาระบาดอีกครั้งในอินเดีย จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม และส่งผลกระทบต่อกลุ่มประชากรเยาวชนโดยตรง เครือข่ายนักลงทุนเพื่อสังคมแห่งเอเชีย ในฐานะชุมชนนักลงทุนทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีความภาคภูมิใจในการทำงานร่วมกับจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน โกลบอล ฟันด์ และโกลบอล ทีบี คอคัส เพื่อแสวงหานักลงทุนทางสังคมเพื่อระดมทุนที่จำเป็นในเรื่องนี้"
หัวข้อสำคัญในการประชุมระยะเวลาสองวันคือความจำเป็นในการกำจัดวัณโรค เนื่องจากวัณโรคเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตจากโรคติดต่อในภูมิภาค การตอบสนองต่อวัณโรคของเอเชียแปซิฟิกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 ในขณะที่ 12 ประเทศจากทั้งหมด 30 ประเทศที่ประสบปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยาต่างอยู่ในภูมิภาคนี้เช่นกัน ในปี 2564 นั้นมี 5 ประเทศคิดเป็นสัดส่วน 90% ของการลดลงในจำนวนกรณีการแจ้งเตือนผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคทั่วโลก เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด ได้แก่อินเดีย จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเมียนมา[2]
ดร . เอลลุด วันด์วาโล (Eliud Wandwalo) หัวหน้าฝ่ายโครงการด้านวัณโรคประจำโกลบอล ฟันด์ กล่าวว่า "ในฐานะกองทุนระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดสำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับวัณโรค โกลบอล ฟันด์ เป็นหุ้นส่วนสำคัญในการช่วยให้บรรลุเป้าหมายการกำจัดวัณโรคให้หมดไปภายในปี 2573 เราต้องเพิ่มความพยายามร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชน สังคมและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากวัณโรค รวมถึงค้นหาและรักษาผู้ป่วยวัณโรค ลดผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อโครงการวัณโรค ทลายอุปสรรคทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อดูแลและเสริมสร้างความยืดหยุ่นยั่งยืน สร้างระบบชุมชนที่สามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านสุขภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างครอบคลุมและยั่งยืนทั้งในเอเชียแปซิฟิกและภูมิภาคอื่น ๆ เราจำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนทุกกลุ่มในทุกระดับของการดำเนินงานของเรา และอำนวยความสะดวกในภารกิจที่มีเยาวชนเป็นผู้นำทั้งในระดับโลกและระดับชาติ เพื่อให้แน่ใจว่าแนวคิดและมุมมองของพวกเขาจะถูกนำมาใช้ในการต่อสู้กับวัณโรค"
จุดมุ่งหมายต่อจากนี้ของที่ประชุมคือการพัฒนาสภาพแวดล้อมสำหรับเยาวชนในการมีบทบาทสำคัญเพื่อกำจัดวัณโรค เยาวชนคือกลุ่มประชากรที่มีพลังและสติปัญญาในการกำหนดอนาคตที่พวกเขาวางไว้ ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับวัณโรคจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับเยาวชนเพื่อกำจัดวัณโรคให้หมดไป ดังที่กล่าวไว้โดยคุณบูดิ จี ซาดิคิน (Budi G. Sadikin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซีย ที่กล่าวเปิดไว้ว่า เยาวชนจะเป็นตัวแปรสำคัญในความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการบรรลุเป้าหมายการกำจัดวัณโรค เราจำเป็นต้องมั่นใจว่าจะไม่มีเยาวชนถูกทิ้งไว้ข้างหลังและเปิดรับพวกเขาในฐานะตัวแทนแห่งการเปลี่ยนแปลง
รับฟังบันทึกการประชุมรูปแบบเต็มได้ที่นี่
เกี่ยวกับจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน
เราเชื่อว่าสุขภาพที่ดีคือรากฐานของชีวิตที่สดใส ชุมชนที่เจริญรุ่งเรือง และอนาคตที่ก้าวหน้า ตลอดระยะเวลากว่า 130 ปีที่ผ่านมา เราจึงมุ่งมั่นสร้างเสริมสุขภาพที่ดีในทุกช่วงวัยและทุกช่วงของชีวิต ปัจจุบัน เราเป็นบริษัทเฮลธ์แคร์ที่ใหญ่ที่สุดและครอบคลุมด้านต่างๆ มากที่สุดในโลก และจะใช้ข้อได้เปรียบนี้ในการทำประโยชน์ให้กับสังคมต่อไป เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาการเข้าถึงและราคาของผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมถึงสร้างสรรค์ชุมชนที่มีสุขภาพดีกว่าเดิม ตลอดจนเปิดโอกาสให้ทุกคนทั่วโลกได้มีสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสภาพแวดล้อมที่ดี เราใช้หัวใจ วิทยาศาสตร์ และความรอบรู้ ในการเปลี่ยนแปลงวิถีสุขภาพเพื่อมวลมนุษยชาติ รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.jnj.com ติดตามเราได้ที่ @JNJNews
เกี่ยวกับเครือข่ายนักลงทุนเพื่อสังคมแห่งเอเชีย
เครือข่ายนักลงทุนเพื่อสังคมแห่งเอเชีย (AVPN) เป็นเครือข่ายนักลงทุนเพื่อสังคมที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ทำงานในเอเชียโดยมีสมาชิกที่หลากหลายกว่า 600 รายใน 33 ตลาด เครือข่ายฯ มอบความร่วมมือระหว่างผู้กำหนดนโยบาย สำนักงานครอบครัว มูลนิธิ และภาคเอกชน เพื่อเพิ่มผลลัพธ์และกระแสเงินทุนสำหรับนำไปใช้อุดช่องว่างด้านเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเอเชีย
เกี่ยวกับโกลบอล ฟันด์
โกลบอล ฟันด์ (Global Fund) เป็นหุ้นส่วนระดับโลกในการต่อสู้กับเชื้อเอชไอวี วัณโรค และมาลาเรีย สร้างอนาคตแห่งสุขภาพที่ดีขึ้น มีความปลอดภัยและเป็นธรรมมากขึ้นสำหรับทุกคน เราระดมทุนและลงทุนมากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีเพื่อต่อสู้กับโรคติดเชื้อที่อันตรายที่สุด ท้าทายความอยุติธรรมที่ก่อให้เกิดโรคและเสริมสร้างระบบสุขภาพในประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดกว่า 100 ประเทศ เราได้ลงทุนเพิ่มอีก 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 เพื่อต่อสู้กับโรคระบาดใหม่และเสริมสร้างระบบเพื่อสุขภาพ เรารวมผู้นำระดับโลก ชุมชน ประชาสังคม บุคลากรด้านสุขภาพ และภาคเอกชนเพื่อค้นหาวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดและนำไปใช้ทั่วโลก พันธมิตรของโกลบอล ฟันด์ ได้ช่วยชีวิตผู้คนกว่า 50 ล้านคนทั่วโลกตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา
เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโกลบอล ฟันด์ ได้ที่ www.theglobalfund.org
ติดตามโกลบอล ฟันด์ บนทวิตเตอร์: http://twitter.com/globalfund
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับโกลบอล ฟันด์ บนเฟซบุ๊ก: http://www.facebook.com/theglobalfund
[1] https://www.who.int/activities/mobilizing-youth-to-end-tb
[2] https://www.who.int/teams/global-tuberculosis-programme/tb-reports/global-tuberculosis-report-2022/covid-19-and-tb