เนื่องจากจีนให้ความสำคัญในการรับมือกับโรคโควิด-19 ด้วยนโยบายโควิดเป็นศูนย์แบบพลวัต (dynamic zero-COVID) มาโดยตลอด สื่อตะวันตกและนักวิชาการบางส่วนจึงตั้งคำถามเกี่ยวกับ "ความพร้อม" ของจีนในการเปลี่ยนแปลงนโยบายรับมือโควิด-19
ความพร้อมสามารถประเมินได้จากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งในกรณีของโควิด-19 ก็คือจำนวนผู้รอดชีวิต นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด จีนได้เตรียมความพร้อมให้กับประชาชนในการรับมือกับไวรัส ขณะที่นโยบายโควิดเป็นศูนย์แบบพลวัตได้ถูกนำมาใช้เพื่อซื้อเวลาให้ไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์ที่ตามมามีอันตรายถึงชีวิตน้อยลง
หลี่ กว่างซี (Li Guangxi) ผู้เชี่ยวชาญของกลไกการป้องกันและควบคุมร่วมของสภาแห่งรัฐ (State Council's Joint Prevention & Control Mechanism) ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า "ตอนที่ไวรัสปรากฏขึ้นบนโลก มันมีความรุนแรงมาก จนทำให้โรงพยาบาลโดยเฉพาะเตียงไอซียูมีผู้ป่วยเต็ม ซึ่งสถานการณ์นี้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วโลก ตอนนี้ เมื่อไวรัสมีความรุนแรงน้อยลงมากและเบาบางลง เราจึงต้องการผ่อนปรนมาตรการของเรา แน่นอนว่าจะต้องมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตและโควิดสายพันธุ์รุนแรงจะน้อยลงกว่าเดิมมาก"
อู่ จุนโหยว (Wu Zunyou) หัวหน้านักระบาดวิทยาของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งประเทศจีน ระบุว่า สัดส่วนผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยวิกฤตลดลงจาก 16.47% ในปี 2563 เหลือเพียง 0.18% เมื่อมานานมานี้
เจียว หย่าหุย (Jiao Yahui) ผู้อำนวยการแผนกบริหารการแพทย์ของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แถลงข่าวเมื่อเดือนธันวาคมว่า โรงพยาบาลชั่วคราวสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 จะได้รับการปรับปรุงให้มีความสามารถในการรักษามากขึ้น เพื่อเป็นโรงพยาบาลรองสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งนี้ จีนมีเตียงผู้ป่วยวิกฤตประมาณ 138,100 เตียง คิดเป็น 10 เตียงต่อประชากร 100,000 คน จีนมีผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยวิกฤตรวม 80,500 คน และมีพยาบาลดูแลผู้ป่วยหนักราว 220,000 คน นอกจากนั้นยังมีแพทย์มากกว่า 106,000 คน และพยาบาล 178,000 คนที่สามารถปฏิบัติงานในแผนกไอซียูได้
เพื่อคุ้มครองประชากรกลุ่มเปราะบาง รวมถึงผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นความท้าทายที่สำคัญของประเทศ จีนได้เริ่มฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิโควิดเข็มที่สองเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม นอกจากนั้นยังมีวัคซีนชนิดสูดดมสำหรับผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอหรือไม่สามารถฉีดวัคซีนได้
ขณะเดียวกัน มีการจัดหาเวชภัณฑ์ต้านโรคระบาดเพิ่มมากขึ้น โดยฝ่ายบริหารและหน่วยงานด้านยาของกรุงปักกิ่งได้ส่งคณะทำงานร่วมจำนวนกว่า 50 คนไปยังบริษัทค้าส่งยาขนาดใหญ่ 5 แห่งในกรุงปักกิ่ง เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนยารักษาและป้องกันโรคระบาด ด้านข้อมูลจากบริษัท ไชน่า รีซอสเซส ฟาร์มาซูติคอล คอมเมอร์เชียล กรุ๊ป จำกัด (China Resources Pharmaceutical Commercial Group Co., Ltd) แสดงให้เห็นว่า บริษัทได้จัดหายาต้านโรคระบาดมากกว่า 3.5 ล้านกล่องให้แก่ลูกค้ากว่า 4,000 รายในกรุงปักกิ่งในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งประกอบด้วยโรงพยาบาล 300 แห่ง ศูนย์สุขภาพชุมชนกว่า 2,200 แห่ง และร้านขายยากว่า 1,500 แห่ง
ทางด้านนครเซี่ยงไฮ้ คลินิกไข้ (Fever Clinic) ในโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิและสูงกว่าจำนวน 145 แห่ง ได้ถูกขอให้เปิดทำการอย่างเต็มรูปแบบเช่นเดิมต่อไป ส่วนในมณฑลเจ้อเจียง มีการเปิดโรงพยาบาลทางอินเทอร์เน็ตในบางเมืองเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการวินิจฉัยและการรักษาในคลินิกไข้
การป้องกันและควบคุมคือกระบวนการวางระบบและส่งเสริมศักยภาพทางการแพทย์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จีนสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วตามสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงปรับเปลี่ยนนโยบายตามความคิดเห็นของประชาชนและวงการแพทย์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายสะท้อนถึงความจริงที่ว่า จีนพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
https://news.cgtn.com/news/2022-12-31/Is-China-prepared-for-shift-in-COVID-19-policies-Yes--1gcS2Uz1GYE/index.html
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1977413/image1.jpg