ผลกระทบของโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่ และอิทธิพลเชิงลบจากสถานการณ์ในยูเครน ทำให้เศรษฐกิจโลกซึ่งเดิมทีก็แผ่วลงอยู่แล้ว ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน
การดำเนินนโยบายทางการคลังและการเงินแบบตึงตัวเพื่อชะลอภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศ ประกอบกับการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานและการผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่ลดลง ยิ่งบั่นทอนแนวโน้มทางเศรษฐกิจในระดับโลก
สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (Institute of International Finance) ในวอชิงตัน ดีซี คาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะต่ำ แต่จะมีการเติบโตสุทธิเป็นบวกที่ราว 1.2% ในปี 2566 และการลดลงของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจจะนำไปสู่การลดลง 2.0% ของการเติบโตของจีดีพีรายปีในยุโรป
ในการเผชิญกับความท้าทายหลายประการ จีนได้รักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจจีนในระหว่างวิกฤตโรคระบาด โดยเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ของโลกที่กลับมาเปิดการทำงานและการดำเนินงานของธุรกิจในปี 2563 และเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวที่มีการเติบโตเป็นบวกในปีดังกล่าว
"จีนสามารถจำกัดผลกระทบของวิกฤตโรคระบาดต่อห่วงโซ่อุปทานและการดำเนินงานทางธุรกิจของประเทศ" ศาสตราจารย์หลิว บิน (Professor Liu Bin) จากสถาบันจีนเพื่อการศึกษาองค์การการค้าโลก (China Institute for WTO Studies) มหาวิทยาลัยธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (University of International Business and Economics) ในปักกิ่ง กล่าว
"ด้วยบทบาทระดับใหญ่ของจีนในการค้าโลก มาตรการที่ได้รับการปรับให้เหมาะสมและการปรับเปลี่ยนล่าสุดของจีนในการตอบสนองต่อวิกฤตโรคระบาด สามารถส่งเสริมการฟื้นตัวและกระตุ้นเศรษฐกิจโลกอย่างทันท่วงที"
ทางการด้านสุขภาพแห่งชาติจีนเปิดเผยว่า จีนจะยกเลิกการบังคับการกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าจีนจากต่างประเทศในวันที่ 8 มกราคม นโยบายดังกล่าวนี้เป็นหนึ่งในการดำเนินการล่าสุดเพื่อเปิดประเทศจีน
การค้นหาจุดหมายปลายทางระหว่างประเทศยอดนิยมพุ่งสูงขึ้นสิบเท่าภายในครึ่งชั่วโมงหลังจากการประกาศผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง ในขณะเดียวกัน การค้นหาตั๋วเครื่องบินและโรงแรมระหว่างประเทศสูงที่สุดในรอบสามปี จากข้อมูลของแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวจีนอย่างซีทริป (Ctrip)
"หลังจากการปรับเปลี่ยนนโยบายโรคระบาด การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะฟื้นตัวในปี 2566" หลิวกล่าวกับ CGTN
คุณหลิวเปิดเผยว่า ความเร็วของการฟื้นตัวดังกล่าวภายในประเทศจีนน่าจะเร็วกว่าในตลาดระหว่างประเทศ และถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเพิ่มความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
สถาบันการเงินในต่างประเทศแสดงมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนเช่นกัน หลังจากการปรับมาตรการป้องกันโรคระบาดของจีน โดยเจพี มอร์แกน แอสเซท แมเนจเมนต์ (J.P. Morgan Asset Management) คาดว่าการเติบโตของจีดีพีจีนจะฟื้นตัวไปที่ 5.4% ในปี 2566 ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ที่ธนาคารเพื่อการลงทุนในสหรัฐฯ อย่างโกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ระบุว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจในภาพรวมเป็นไปในเชิงบวก แม้จะมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อ
บริษัทในต่างประเทศยังคงแสดงความสนใจเกี่ยวกับการลงทุนในจีนแม้อยู่ระหว่างโควิด-19 โดยกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในจีนแผ่นดินใหญ่เพิ่มขึ้น 17.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็น 168,300 ล้านดอลลาร์ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565
รายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน 2565 โดยหอการค้าอเมริกันในจีนใต้ (American Chamber of Commerce in South China) ระบุว่า 76% ของบริษัทอเมริกัน จะลงทุนซ้ำในจีนภายในปลายปี 2565 เพื่อขยายการดำเนินงานที่มีอยู่เดิม
"ในท้ายที่สุดแล้ว การทำงานร่วมกันเป็นแนวทางของอนาคต" ฮาร์ลีย์ เซเยดิน (Harley Seyedin) ประธานหอการค้าอเมริกันในจีนใต้ กล่าว พร้อมเสริมว่าจีนจะเฟื่องฟูต่อไปอย่างสันติ ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งโลก
ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า การลงทุนโดยตรงจากเยอรมนีในจีนแผ่นดินใหญ่เพิ่มขึ้น 30.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าในช่วงแปดเดือนแรกของปี 2565 และมีการลงทุนสะสมสองทางสูงกว่า 55,000 ล้านดอลลาร์
ระหว่างการไปเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีเยอรมนี โอลาฟ ซอลซ์ (Olaf Scholz) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 นักธุรกิจเยอรมนีราว 100 คนได้เสนอตัวร่วมด้วย โดยมีผู้บริหาร 12 คนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วม รวมถึงตัวแทนจากซีเมนส์ (Siemens), เมอร์ค (Merck), ดอยช์แบงก์ (Deutsche Bank) และไบโอเอ็นเทค (BioNTech)
จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเยอรมนีในช่วงหกปีที่ผ่านมา โดยดึงดูดการลงทุนของบริษัทเยอรมันเพิ่มขึ้นในปี 2565
เมื่อเดือนกันยายน เครือบริษัทเคมีสัญชาติเยอรมัน บีเอเอสเอฟ (BASF) ได้เปิดโรงงานในเมืองจานเจียงทางชายฝั่งตะวันตกของมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนของบริษัทฯ รวมมูลค่าสูงสุด 10,000 ล้านยูโร (10,680 ล้านดอลลาร์) ภายในปี 2573
แถลงการณ์ของบริษัทฯ ระบุว่า โรงงานแห่งแรกจะผลิตส่วนประกอบพลาสติกวิศวกรรม 60,000 ตันต่อปีสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์
เมื่อเดือนตุลาคม โฟล์คสวาเกน (Volkswagen) ประกาศว่า บริษัทฯ จะลงทุนราว 2,400 ล้านยูโร (2,600 ล้านดอลลาร์) ในกิจการร่วมค้าในจีน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการขับขี่อัตโนมัติ และบีเอ็มดับเบิลยู (BMW) ประกาศการลงทุนมูลค่า 10,000 ล้านหยวน (1,400 ล้านดอลลาร์) ในเดือนพฤศจิกายน เพื่อขยายการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าในจีน
จีนได้รักษาความดึงดูดต่อนักลงทุนต่างประเทศ ขณะขยายการเข้าถึงตลาดและปรับปรุงกระบวนการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยจีนได้บังคับใช้กฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศเมื่อปี 2563 เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของนักลงทุนจากต่างประเทศ
ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายดังกล่าวนี้กำหนดให้รัฐบาลสร้างระบบบริการเพื่อให้คำปรึกษาและบริการแก่บริษัทที่ได้รับทุนจากต่างประเทศในด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อมูลของโครงการการลงทุน เป็นต้น
สำนักงานศุลกากรจีนระบุว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565 การค้าสินค้าจีนขยายตัว 8.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็น 38.34 ล้านล้านหยวน (7.47 ล้านล้านดอลลาร์)
"เนื่องจากเป็นแหล่งห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่สำคัญ ความมั่นคงยืดหยุ่นของการส่งออกจีนได้ยกระดับเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานโลก" หลิวกล่าว พร้อมเสริมว่า ในแง่ของอุปสงค์ภายในประเทศ ตลาดจีนที่มีขนาดใหญ่จะช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้กับตลาดการส่งออกของโลก
https://news.cgtn.com/news/2023-01-03/China-s-economy-to-drive-global-economic-recovery-and-growth-in-2023-1giqbeLg7Li/index.html