- มองโกเลียขาดดุลงบประมาณลดลง 60%
- พันธบัตรได้รับการตอบรับเกินกว่าวงเงินที่เสนอขายถึงสี่เท่าตัว
รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของมองโกเลีย ประกาศว่า นโยบายฟื้นฟูใหม่ (New Recovery Policy) ซึ่งเป็นนโยบายหลักของมองโกเลีย ได้เข้ามาสนับสนุนให้มองโกเลียกำจัดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้
บี จาฟคลาน (B. Javklan) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังมองโกเลีย แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า การนำนโยบายฟื้นฟูใหม่ไปใช้ส่งผลให้มองโกเลียขาดดุลงบประมาณลดลง 60% ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจเติบโต 4% ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านและกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาด
ความเคลื่อนไหวนี้สืบเนื่องจากมาตรการกำกับดูแลหนี้สินซึ่งดำเนินการไว้เมื่อปี 2563 และ 2564 ส่งผลให้มองโกเลียจ่ายหนี้พันธบัตรชิงกิส (Chinggis Bond) วงเงิน 136.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้ในเดือนธันวาคม 2565 นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนามองโกเลีย (Development Bank of Mongolia) ยังได้ยกระดับการชำระคืนเงินกู้ เพื่อทำให้มั่นใจว่าสถานะทางการเงินของงบประมาณรัฐจะไม่เป็นอุปสรรคในการชำระหนี้พันธบัตรสกุลเงินเยน (Samurai) ตามกำหนดเวลา
รัฐมนตรีกระทรวงการคลังมองโกเลีย แสดงความคิดเห็นว่า "เศรษฐกิจปี 2566 มีแนวโน้มสดใส นักลงทุนต่างชาติจึงไว้วางใจรัฐบาลของเรา รวมถึงการบริหารจัดการหนี้สินต่างประเทศของเรา ในยามลำบากเช่นนี้ เมื่อเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 และเงินเฟ้อพุ่งสูงทั่วโลก สถานการณ์ก็ยุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปอีกจากปัญหาขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนและนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน แต่อันดับความน่าเชื่อถือของมองโกเลียก็ยังถือว่า 'แนวโน้มมีเสถียรภาพ'"
ข้อมูลเศรษฐกิจแสดงให้เห็นว่า แม้การค้าทั่วโลกชะลอตัวลงในช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 แต่ประเทศที่มีทรัพยากรถ่านหินอุดมสมบูรณ์อย่างมองโกเลียมีการส่งออกไปทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง รวมถึงการส่งออกถ่านหินไปประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุดและตลาดเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดอย่างจีน และคาดว่าการส่งออกไปทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 10-15% ในปี 2566 เมื่อมีการเปิดด่านชายแดนเพิ่มเติม
มองโกเลียมีเป้าหมายในการสร้างเศรษฐกิจที่หลากหลายและยั่งยืน เพื่อปกป้องประเทศจากปัจจัยภายนอกที่ได้ส่งผลกระทบตลอดไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยนำนโยบายฟื้นฟูใหม่ไปใช้ และเน้นหนักในภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และพลังงานหมุนเวียน ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจมองโกเลียให้เติบโตไปอีกระหว่างปี 2566 ถึง 2573 ปัจจุบัน ได้มีการจัดสรรที่ดินเพื่อการเกษตรแล้วถึง 117 ล้านเฮกตาร์ สะท้อนให้เห็นโอกาสการเติบโตมากมายในภาคส่วนนี้