ทรินา โซลาร์ (Trina Solar) ผู้ให้บริการโซลูชันเบ็ดเสร็จด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานอัจฉริยะชั้นนำระดับโลก เล็งเห็นว่าอินโดนีเซียมีศักยภาพอย่างมากในด้านพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งที่ดีที่สุดของพลังงานหมุนเวียนในการบรรลุเป้าหมายของประเทศ
รัฐบาลอินโดนีเซียได้ตั้งเป้าหมายในการมีพลังงานหมุนเวียนเป็นสัดส่วน 23% ของแหล่งพลังงานทั้งหมดภายในปี 2568 และ 31% ภายในปี 2593
ปัจจุบันพลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วน 11-14% ในแหล่งพลังงานทั้งหมดของอินโดนีเซีย แต่ความท้าทายสำหรับอินโดนีเซียคือการทำให้มั่นใจว่าการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนไม่เพียงแต่สอดรับกับการเติบโตของการบริโภคพลังงานขณะที่ประชากรและเศรษฐกิจขยายตัวเท่านั้น แต่ยังต้องสูงกว่านั้นด้วย เพื่อให้อินโดนีเซียสามารถบรรลุเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนของประเทศ
รายงานประเมินแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงานของอินโดนีเซีย (Indonesia Energy Transition Outlook) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (International Renewable Energy Agency หรือ IRENA) และกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ธาตุแห่งอินโดนีเซียเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน คาดการณ์ว่าประชากรของอินโดนีเซียจะเพิ่มเป็น 335 ล้านคนในช่วงสามทศวรรษข้างหน้านี้ พร้อมทั้งคาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยห้าเท่าเป็น 1,700 เทระวัตต์ชั่วโมง (TWh) ภายในปี 2593
รายงานดังกล่าวยังแนะนำการขยายทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบันถ่านหินยังมีสัดส่วนเป็นกว่า 40% ของแหล่งพลังงานทั้งหมดของอินโดนีเซียและ 60% ของการผลิตกระแสไฟฟ้า ในขณะเดียวกัน พลังงานแสงอาทิตย์ยังมีสัดส่วนน้อยกว่าไฟฟ้าพลังงานน้ำและพลังงานความร้อนใต้พิภพ
เช่นนี้ขัดกับกับแนวโน้มระดับโลก โดยสำนักงานพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศระบุว่า โลกในปี 2564 ได้เพิ่มพลังงานหมุนเวียนเกือบ 257 กิกะวัตต์ (GW) โดย 133 กิกะวัตต์มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขณะที่กำลังผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ของอินโดนีเซียในปี 2564 เพิ่มขึ้น 14% เป็น 211 เมกะวัตต์ (MW) จาก 185 เมกะวัตต์ สำนักงานพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศระบุ ขณะนี้อินโดนีเซียอยู่ในอันดับเจ็ดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านพลังงานแสงอาทิตย์
กำลังผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ สิ้นสุดปี 2564
ประเทศ | กำลังผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ (MW) | การเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า | |
1 | เวียดนาม | 16,600 | 0 % |
2 | ไทย | 3,049 | 2 % |
3 | มาเลเซีย | 1,787 | 20 % |
4 | ฟิลิปปินส์ | 1,370 | 29 % |
5 | สิงคโปร์ | 433 | 15 % |
6 | กัมพูชา | 428 | 36 % |
7 | อินโดนีเซีย | 211 | 14 % |
ที่มา: สำนักงานพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ
คุณเอลวา หวาง (Elva Wang) หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของทรินา โซลาร์ กล่าวว่า "เพื่อให้อินโดนีเซียเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและบรรลุเป้าหมายของประเทศ อินโดนีเซียต้องเร่งการติดตั้งใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมเนื่องจากมีอยู่พร้อมและสามารถติดตั้งใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นตลาดที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองอย่างมากในด้านพลังงานแสงอาทิตย์ มีความต้องการอย่างใหญ่หลวงที่เราสามารถเติมเต็มได้ด้วยโมดูลพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบหมุนตามตะวัน (tracker) และโซลูชั่นพลังงานแสงอาทิตย์แบบบูรณาการระดับแนวหน้าของตลาดของเรา"
โมดูลพลังงานแสงอาทิตย์สามารถติดตั้งได้อย่างรวดเร็วบนหลังคาและพื้นที่ว่าง ทรินา โซลาร์ ให้บริการทุกส่วนของตลาด ทั้งในระดับที่พักอาศัย การพาณิชย์และอุตสาหกรรม (C&I) และสาธารณูปโภค พลังงานแสงอาทิตย์มอบอิสรภาพแก่ผู้อยู่อาศัยและธุรกิจพาณิชย์และอุตสาหกรรมในการบรรลุความต้องการด้านพลังงานของตน บรรเทาภาระจากราคาพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนและการต่อสู้กับภาวะโลกรวน
โมดูลพลังงานแสงอาทิตย์เป็นโซลูชั่นที่คุ้มค่าต้นทุนที่สุด โดยมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุโครงการ (LCOE) ที่ต่ำกว่า ปัจจุบันผลผลิตไฟฟ้าของโมดูลได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในปี 2552 โมดูลใหม่มีกำลังผลิตเฉลี่ย 290 วัตต์ ขณะที่โมดูลกำลังสูงในปัจจุบันมีกำลังผลิต 500 วัตต์ขึ้นไป
ขณะเดียวกัน ราคาของโมดูลได้ลดต่ำลงเนื่องจากมีเทคโนโลยีการผลิตที่ดีขึ้นและ 'การประหยัดต่อขนาด' (economy of scale) ปัจจุบันพลังงานแสงอาทิตย์ได้บรรลุจุดที่ต้นทุนการผลิตเท่ากับระบบสายส่ง (grid parity) แล้วในตลาดหลายแห่ง โดยมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำกว่ากริดไฟฟ้า
เพื่อให้อินโดนีเซียบรรลุเป้าหมายการมีพลังงานหมุนเวียนเป็นสัดส่วน 23% ของพลังงานทั้งหมดภายในปี 2568 จำเป็นที่จะต้องมีโซลูชั่นที่มีอยู่ในปัจจุบันและสามารถติดตั้งใช้งานได้อย่างรวดเร็ว โดยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาสามารถติดตั้งใช้งานได้ในเวลาหลักวัน ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยังสามารถพัฒนาได้รวดเร็วกว่าพลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่นๆมาก ในแง่นี้ โมดูลกำลังสูงและประสิทธิภาพสูงของทรินา โซลาร์มีอยู่พร้อมในตลาดปัจจุบัน เช่นเดียวกับระบบหมุนตามตะวันของทรินา โซลาร์ซึ่งช่วยส่งเสริมการผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้นไปอีกขั้น
ทรินา โซลาร์ เวอร์เท็กซ์ ดีอี19อาร์ (Trina Solar Vertex DE19R) สำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ใช้เซลล์ยาว 210 มม. มีกำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุด 580 วัตต์ และมีประสิทธิภาพสูงสุด 21.5%
ที่ผ่านมาทรินา โซลาร์ ทำงานร่วมกับคู่ค้าในอินโดนีเซีย ซึ่งรวมทั้งผู้ติดตั้งและผู้จัดจำหน่าย เพื่อช่วยให้ธุรกิจได้มีระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคา ทั้งนี้ พลังงานแสงอาทิตย์เป็นที่น่าสนใจสำหรับบริษัทเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เนื่องจากใช้พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานบนหลังคาในการผลิตกระแสไฟฟ้า
ทรินา โซลาร์ ยังมีแผนที่จะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ ทรินา โซลาร์ เวอร์เท็กซ์ เอ็น เอ็นอีจี19อาร์ซี.20 (Trina Solar Vertex N NEG19RC.20) เข้าสู่อินโดนีเซียสำหรับโครงการระดับสาธารณูปโภค โมดูลดังกล่าวนี้สามารถใช้งานในโครงการเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมเช่นกัน
เวอร์เท็กซ์ เอ็น เอ็นอีจี19อาร์ซี.20 นี้มีการออกแบบแบบแรงดันต่ำ (low voltage) จึงมีประสิทธิภาพสูงกว่าและมีต้นทุนสมดุลกำลังไฟฟ้าของระบบ (balance of system หรือ BOS) ต่ำกว่า แต่โมดูลใหม่นี้มีกำลังสูงเพราะใช้เทคโนโลยี 210 (210 Technology)
โซลาร์เซลล์ความยาว 210 มม. มีกำลังสูงกว่าโซลาร์เซลล์รุ่นก่อนหน้านี้ที่ขนาดเล็กกว่า นอกจากเทคโนโลยี 210 โมดูลรุ่นนี้ยังใช้เทคโนโลยีระดับแนวหน้าของตลาดอื่นๆ อย่างเช่น บัสบาร์นำไฟฟ้าแบบหลายตัว (multi-busbar) เพื่อให้ดูดซับแสงได้มากกว่า เซลล์ที่สร้างโดยใช้เทคโนโลยีการตัดแบบไม่มีการทำลาย และใช้การห่อหุ้มความหนาแน่นสูงเพื่อเพิ่มพื้นที่ของพื้นผิวโมดูลให้มากที่สุด
เวอร์เท็กซ์ เอ็น เอ็นอีจี19อาร์ซี.20 ใหม่นี้มีกำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุด 590 วัตต์ และมีประสิทธิภาพสูงสุด 21.8% โดยเป็นโมดูลแบบกระจกคู่ที่มีทั้งแบบหน้าเดียวหรือสองหน้า
ทรินา โซลาร์ ไม่เหมือนที่อื่นใดเนื่องจากเป็นผู้ผลิตโมดูลรายเดียวที่ผลิตระบบหมุนตามตะวันด้วย โดยทรินา โซลาร์ ผลิต 'ระบบหมุนตามตะวันอัจฉริยะ' (smart tracker) แวนการ์ด 1พี (Vanguard 1P) และแวนการ์ด 2พี (Vanguard 2P) ซึ่งออกแบบทางวิศวกรรมมาเพื่อให้สามารถดัดแปลงปรับได้ ทำให้ระบบหมุนตามตะวันอัจฉริยะนี้ติดตั้งได้ในหลายลักษณะพื้นผิว พร้อมทั้งให้เสถียรภาพสูงและให้ผลผลิตพลังงานไฟฟ้าสูง
ในแง่นี้ การศึกษาโดยมหาวิทยาลัยซูราบายา (University of Surabaya) ซึ่งตีพิมพ์ในปีนี้ พบว่าโมดูลในจาการ์ตาที่มีระบบหมุนตามตะวันผลิตไฟฟ้าได้สูงกว่าแบบมุมรับแสงคงที่ (fixed-tilt) อยู่ประมาณ 21%
อินโดนีเซียอยู่ในอันดับเจ็ดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแง่ของกำลังผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ ความท้าทายสำหรับอินโดนีเซียคือการติดตั้งพลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็วเพื่อบรรลุเป้าหมายสำหรับปี 2568 และปี 2593 ผลิตภัณฑ์โมดูลกำลังสูงและประสิทธิภาพสูงของทรินา โซลาร์ ประกอบกับเทคโนโลยีระบบหมุนตามตะวันที่ก้าวหน้า เป็นหนึ่งตัวเลือกที่พร้อมให้ติดตั้งใช้งานได้อย่างรวดเร็วเพื่อช่วยให้อินโดนีเซียบรรลุเป้าหมายของประเทศ
เกี่ยวกับทรินา โซลาร์ (688599. SH)
ทรินา โซลาร์ (Trina Solar) คือผู้นำระดับโลกด้านเซลล์แสงอาทิตย์และโซลูชันพลังงานอัจฉริยะครบวงจร บริษัทก่อตั้งขึ้นในปี 2540 และดำเนินธุรกิจครอบคลุมการวิจัยและพัฒนา การผลิต และการจำหน่ายเซลล์แสงอาทิตย์, การพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ การรับเหมาก่อสร้าง การดำเนินงานและบำรุงรักษา, การพัฒนาและจำหน่ายระบบไมโครกริดอัจฉริยะและระบบกักเก็บพลังงานหลายรูปแบบ รวมถึงการบริหารแพลตฟอร์มคลาวด์ด้านพลังงาน ในปี 2561 ทรินา โซลาร์ เปิดตัวแบรนด์ Energy IoT พร้อมจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือ Trina Energy IoT Industrial Development Alliance ร่วมกับองค์กรและสถาบันวิจัยชั้นนำทั้งในจีนและทั่วโลก และจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม New Energy IoT Industrial Innovation Center ทั้งนี้ ทรินา โซลาร์ ตั้งเป้าจับมือกับพันธมิตรสร้างระบบนิเวศ Energy IoT พร้อมพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อสำรวจระบบนิเวศ New Energy IoT โดยบริษัทมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำของโลกในอุตสาหกรรมพลังงานอัจฉริยะ เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ทรินา โซลาร์ ได้จดทะเบียนบนกระดานหุ้น STAR Market ของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.trinasolar.com
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2012920/Trina_Solar__Elva_Wang__head_of_Southeast_Asia__and_Yabes_Supit__sales_manager_Indonesia__PBV02714.jpg
คำบรรยายภาพ - คุณยาเบส ซูพิท ผู้จัดการฝ่ายขายประจำอินโดนีเซีย และคุณเอลวา หวาง หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากทรินา โซลาร์