ผลวิจัยเผยมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นจากการก่อการร้าย แต่การก่อเหตุในโลกตะวันตกลดลง

ข่าวทั่วไป Tuesday March 14, 2023 13:00 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

  • การก่อการร้ายรุนแรงถึงชีวิตมากขึ้น โดยจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 26% ในการก่อเหตุแต่ละครั้ง
  • จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานลดลง 9% เนื่องจากกลุ่มตาลีบันเปลี่ยนจากกลุ่มก่อการร้ายกลายเป็นรัฐบาล*
  • นอกประเทศอัฟกานิสถาน จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายเพิ่มขึ้น 4% ทั่วโลก
  • กลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม หรือกลุ่มไอเอส และเครือข่าย ยังคงเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในโลกเป็นปีที่ 8 ติดต่อกันในปี 2565 จากการก่อเหตุใน 21 ประเทศ
  • จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายของนักรบญิฮาดไม่ทราบกลุ่มทั่วโลกเพิ่มขึ้น 8 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2560 และคิดเป็น 32% ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคซาเฮล (Sahel) ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 18 เท่า
  • ภูมิภาคซาเฮลได้รับผลกระทบหนักที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 43% ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายทั่วโลก และมากกว่าปีก่อนหน้า 7%
  • การก่อการร้ายลดลงในโลกตะวันตก แต่กลับรุนแรงขึ้นในภูมิภาคอื่นของโลก
  • การก่อการร้ายเติบโตในประเทศที่มีระบบนิเวศย่ำแย่และสภาพภูมิอากาศเลวร้าย
  • เทคโนโลยีโดรนถูกนำไปใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มไอเอส โบโกฮาราม และฮูตี

รายงานดัชนีการก่อการร้ายทั่วโลก (Global Terrorism Index หรือ GTI) ประจำปีฉบับที่ 10 เผยให้เห็นว่า การก่อการร้ายมีความรุนแรงถึงชีวิตมากขึ้น โดยจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 26% ในการก่อเหตุแต่ละครั้ง นับว่าเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี

สถานการณ์การก่อการร้ายมีแนวโน้มดีขึ้นมากในช่วงปี 2559-2562 ทว่าทั้งการก่อเหตุและการเสียชีวิตเริ่มทรงตัวนับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา โดยจำนวนประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายมีตั้งแต่ 43 ประเทศในปี 2563 ไปจนถึง 42 ประเทศในปี 2565

ศูนย์กลางการก่อการร้ายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปสู่ประเทศที่เผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ความขัดแย้ง และความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคซาเฮล ซึ่ง 8 จาก 10 ประเทศในภูมิภาคนี้มีคะแนนชี้วัดการขาดแคลนน้ำและอาหารย่ำแย่ที่สุดในรายงานภัยคุกคามทางระบบนิเวศ (Ecological Threat Report หรือ ETR) ประจำปี 2565 โดยประเทศบูร์กินาฟาโซเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายพุ่งขึ้น 50% สู่ระดับ 1,135 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิตต่อการก่อเหตุหนึ่งครั้งเพิ่มขึ้น 8% ส่งผลให้ประเทศนี้มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุด

ในปีที่แล้ว การก่อการร้ายส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 6,701 ราย ลดลง 38% จากระดับสูงสุดเมื่อปี 2558 อย่างไรก็ตาม อัตราการคร่าชีวิตของกลุ่มก่อการร้ายสองกลุ่มที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดกลับเพิ่มสูงขึ้น โดยกลุ่มไอเอสสังหารเหยื่อเพิ่มขึ้น 12% เป็น 2.9 รายต่อการก่อเหตุหนึ่งครั้ง ขณะที่กลุ่มอัล-ชาบับ มีอัตราการคร่าชีวิตสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2560 โดยเพิ่มขึ้น 32% เป็น 2.5 รายต่อการก่อเหตุหนึ่งครั้ง ข้อมูลดังกล่าวตอกย้ำให้เห็นว่าประสิทธิภาพการก่อเหตุของสองกลุ่มนี้มีมากขึ้น ส่วนกลุ่มก่อการร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดลำดับถัดมาคือกองทัพปลดแอกบาลูจิสถาน หรือกลุ่มบีแอลเอ (Balochistan Liberation Army หรือ BLA) และกลุ่มญะมาอัต นุสรัต อัล-อิสลาม วาล มุสลิมีน (Jamaat Nusrat Al-Islam wal Muslimeen หรือ JNIM) ทั้งนี้ กลุ่มไอเอสยังคงคร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในโลกเป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน ขณะที่กลุ่มบีแอลเอที่ก่อเหตุในปากีสถานนั้น ตอนนี้เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่โตเร็วที่สุดในโลก โดยคร่าชีวิตผู้คนเพิ่มขึ้น 9 เท่า เป็น 233 รายในปี 2565

จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายในภูมิภาคซาเฮลเพิ่มขึ้น 7% และตอนนี้สูงกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในภูมิภาคเอเชียใต้และภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือรวมกัน นอกจากนี้ ซาเฮลยังเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในโลก โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 43% ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายทั่วโลก ภูมิภาคซาเฮลมีความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และสถานการณ์ย่ำแย่ลงเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยิ่งไปกว่านั้นความท้าทายนานัปการยังมีความเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งรวมถึงความไม่มั่นคงทางอาหาร การขาดแคลนน้ำ การปกครองที่อ่อนแอ อาชญากรรมที่รุนแรง และอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรที่เร็วที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ขณะเดียวกัน ภูมิภาคนี้ยังได้รับผลกระทบจากความพยายามก่อรัฐประหาร 6 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งทำสำเร็จถึง 4 ครั้ง

ในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ สถานการณ์การก่อการร้ายในภาพรวมดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายในภูมิภาคเมื่อเทียบกับทั่วโลกลดลงอย่างมากตลอด 6 ปีที่ผ่านมา จาก 57% ในปี 2559 เหลือไม่ถึง 12% ในปี 2565 ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิต 791 รายในปี 2565 หรือลดลง 32% และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2556 ส่วนการก่อเหตุลดลงเกือบครึ่งหนึ่งเหลือ 695 ครั้ง นอกจากนี้ การก่อการร้ายด้วยระเบิดฆ่าตัวตายในภูมิภาคยังลดลงอย่างมาก โดยปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจากระเบิดฆ่าตัวตาย 1,947 ราย แต่ในปี 2565 มีการระเบิดฆ่าตัวตายเพียง 6 ครั้ง ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 8 คน

ในโลกตะวันตก การก่อเหตุยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปีนับตั้งแต่ปี 2560 โดยมีการก่อการร้าย 40 ครั้งในปี 2565 ลดลง 27% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งมีการก่อการร้าย 55 ครั้ง อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้เสียชีวิตกลับเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า จาก 9 รายในปี 2564 เป็น 19 รายในปี 2565 ซึ่งผู้เสียชีวิต 10 คนในจำนวนนี้มาจากการก่อการร้ายครั้งเดียวกันที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยเป็นเหตุการณ์ที่มือปืนคนหนึ่งกราดยิงพลเรือนในซูเปอร์มาร์เก็ตที่เมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก โดยนับเป็นครั้งแรกที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายเพิ่มขึ้นในโลกตะวันตกนับตั้งแต่ปี 2562 ในส่วนของมูลเหตุจูงใจนั้น การก่อการร้ายที่มีแรงจูงใจมาจากอุดมการณ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับลัทธิสุดโต่งทางการเมือง ยังคงเป็นการก่อการร้ายประเภทที่พบได้บ่อยที่สุดในโลกตะวันตก ขณะที่การก่อการร้ายที่มีแรงจูงใจทางศาสนาลดลง 89% จากระดับสูงสุดในปี 2559

พลวัตของการก่อการร้ายกำลังเปลี่ยนไป โดยการก่อการร้ายที่ไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบกลายเป็นเรื่องที่เกิดบ่อยขึ้น ทั้งนี้ จากการก่อเหตุของผู้ก่อการร้าย 3,955 ครั้งที่บันทึกไว้ในปี 2565 พบว่า 33% ไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบ ซึ่งนักรบญิฮาดไม่ทราบกลุ่มเติบโตเร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคซาเฮลซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากผู้ก่อการร้ายไม่ทราบกลุ่มสูงกว่าในปี 2560 ถึง 18 เท่า

คุณสตีฟ คิลเลเลีย ( Steve Killelea) ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute of Economics and Peace หรือ IEP) กล่าวว่า "การก่อการร้ายยังคงเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสันติภาพ โดยสถานการณ์แทบไม่ดีขึ้นในช่วงสามปีที่ผ่านมา นักรบญิฮาดได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถปรับตัวได้ด้วยการแสวงหาพื้นที่ที่ไร้เสถียรภาพเพื่อปฏิบัติการโจมตี จึงเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นว่าการจัดการกับการก่อการร้ายจำเป็นต้องมีวิธีการที่เป็นระบบ ซึ่งรวมถึงการจัดการกับการปกครองที่ย่ำแย่ ความสามารถของรัฐบาลที่อยู่ในระดับต่ำ ความยากจน ทุกข์ของประชาชน และการปฏิบัติการทางทหาร"

"แม้ว่าความขัดแย้งในยูเครนจะดึงความสนใจและทรัพยากรไปจากทั่วโลก แต่การต่อสู้กับการก่อการร้ายทั่วโลกยังคงต้องเป็นวาระทางการเมืองที่สำคัญต่อไป ในขณะที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป การตอบสนองของประชาคมโลกก็จำเป็นต้องเปลี่ยนตามด้วยเช่นกัน เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่เราจะใจเย็นได้ และการเสียความมุ่งมั่นตั้งใจจะนำไปสู่ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต การต่อสู้กับการก่อการร้ายเป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่บรรดามหาอำนาจของโลกมีเป้าหมายร่วมกัน"

เห็นได้ชัดว่าทรัพยากรทางทหารถูกทุ่มให้กับการทำสงครามในยูเครน อันนำไปสู่ความไม่มั่นคงที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในภูมิภาคซาเฮลซึ่งรัสเซียและฝรั่งเศสได้ลดจำนวนกองกำลังทหารลง ส่วนสถานการณ์ในซีเรียนั้นตรงกันข้ามกับแนวโน้มที่ดีขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ โดยพบว่ากิจกรรมของกลุ่มไอเอสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายมากกว่าปี 2564 ถึง 42% แม้ว่าจำนวนครั้งของการก่อเหตุจะลดลงเล็กน้อยก็ตาม นอกจากนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในภูมิภาคจะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพที่เพิ่มมากขึ้น เพราะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่กลุ่มไอเอสปฏิบัติการอยู่ ในปี 2565 จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายโดยกลุ่มไอเอสในซีเรียอยู่ที่ 344 ราย และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น

สงครามและความขัดแย้งรุนแรงเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดของการก่อการร้าย โดย 88% ของการก่อเหตุและ 98% ของการเสียชีวิตเกิดขึ้นในประเทศที่กำลังมีความขัดแย้ง

ปัจจุบัน หลายประเทศกำลังประสบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอันเป็นผลมาจากระบบนิเวศและสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้ง ซึ่งทำให้ปัญหาเหล่านี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดย รายงานภัยคุกคามทางระบบนิเวศ ประจำปี 2565 ระบุว่า มี 27 ประเทศที่เผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศที่รุนแรง ในขณะเดียวกันก็มีความยืดหยุ่นทางสังคมในระดับต่ำ โดยประเทศเหล่านี้กระจุกตัวอยู่ในสามภูมิภาค ได้แก่ แอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายสะฮารา ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ และเอเชียใต้ นอกจากนั้นยังเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายมากที่สุดด้วย

วิวัฒนาการของโดรนกำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นเทรนด์ใหม่ในการก่อเหตุ โดยผู้ก่อการร้ายหลายกลุ่ม เช่น ไอเอส โบโกฮาราม และฮูตี ต่างใช้เทคโนโลยีดังกล่าว จากการประมาณการล่าสุดระบุว่ากลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ 65 กลุ่มสามารถใช้งานโดรนได้ ซึ่งมีระยะโจมตีตั้งแต่ไม่กี่กิโลเมตรไปจนถึง 1,500 กิโลเมตรสำหรับโดรนทางทหาร การที่กลุ่มฮูตีใช้โดรนโจมตีคลังน้ำมันของบริษัท ซาอุดี อารามโค (Saudi Aramco) ในปี 2562 แสดงให้เห็นถึงพลังของเทคโนโลยีดังกล่าว ด้วยการยิงโดรนจากเยเมนซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 800 กิโลเมตร นอกจากนี้ การขาดมาตรการตอบโต้การโจมตีด้วยโดรนยังทำให้โดรนมีแนวโน้มที่จะถูกใช้งานบ่อยขึ้น

สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ ซึ่งเป็นหน่วยงานมันสมองชั้นนำระดับโลก ได้เผยแพร่รายงานดัชนีการก่อการร้ายทั่วโลก ฉบับที่ 10 ซึ่งนำเสนอข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดเกี่ยวกับแนวโน้มการก่อการร้ายล่าสุดทั่วโลก ดัชนีนี้ประเมินปัจจัยหลายอย่างเพื่อให้คะแนน ได้แก่ จำนวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนผู้บาดเจ็บ และจำนวนผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกัน นอกจากนั้นยังบูรณาการข้อมูลความขัดแย้งกับข้อมูลทางเศรษฐกิจและสังคมเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับการก่อการร้าย

* กลุ่มตาลีบันเข้าควบคุมรัฐบาลอัฟกานิสถานในปี 2564 ดังนั้นการกระทำของกลุ่มจึงไม่ถูกนำมารวมในข้อมูลปีนี้

หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ

สามารถดูรายงานดัชนีการก่อการร้ายทั่วโลก ประจำปี 2566 และแผนที่แบบอินเทอร์แอคทีฟได้ที่ visionofhumanity.org

ทวิตเตอร์: @GlobPeaceIndex

เฟซบุ๊ก: facebook.com/globalpeaceindex  

ดัชนีการก่อการร้ายทั่วโลก

ดัชนีการก่อการร้ายทั่วโลก (GTI) ซึ่งจัดทำโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) ให้ข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับแนวโน้มและรูปแบบของการก่อการร้ายทั่วโลกตลอด 15 ปีที่ผ่านมา รายงานนี้จัดอันดับ 163 ประเทศ (99.7% ของประชากรโลก) ตามผลกระทบที่ได้รับจากการก่อการร้าย โดยพิจารณาจากจำนวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนผู้บาดเจ็บ และจำนวนผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกัน

รายงานดัชนีการก่อการร้ายทั่วโลกใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลติดตามการก่อการร้าย (TerrorismTracker) และแหล่งข้อมูลอื่น ๆ โดย TerrorismTracker บันทึกการก่อเหตุของผู้ก่อการร้ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ประกอบด้วยข้อมูลการก่อการร้ายกว่า 65,000 เหตุการณ์ในช่วงปี 2550-2565

สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ

สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) คือหน่วยงานมันสมองชั้นนำระดับโลกที่อุทิศตนให้กับการพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์สันติภาพและคุณค่าที่มีต่อเศรษฐกิจ ด้วยการพัฒนาดัชนีระดับชาติและระดับโลกหลายดัชนี เช่น ดัชนีสันติภาพโลก เพื่อคำนวณผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากความรุนแรง และทำความเข้าใจผลลัพธ์เชิงบวกของสันติภาพ ซึ่งเป็นทัศนคติ ธรรมเนียมปฏิบัติ รวมถึงรากฐานในการสร้างและรักษาความสงบสุขในสังคม

โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/792052/IEP_Logo.jpg


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ