ขณะนี้ ด่านโหย่วอี้กวาน (Youyiguan Port) ในเมืองผิงเสียง เขตปกครองตนเองกว่างซี มีรถบรรทุกสินค้าผ่านพรมแดนจีน-เวียดนามอย่างคึกคัก ระเบียงการค้าหลักที่เชื่อมโยงจีนกับอาเซียนและส่วนอื่น ๆ ของโลกแห่งนี้ ได้เพิ่มประสิทธิภาพและการปรับนโยบายการเข้า-ออกในปีนี้ โดยได้กลับสู่บรรยากาศที่คึกคักและมีชีวิตชีวาเหมือนเมื่อก่อนแล้ว
ความแตกต่างของสภาพอากาศทำให้ผลไม้จากประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนามและไทย สุกเร็วขึ้น ซึ่งเดือนมีนาคมเป็นฤดูนำเข้าผลไม้มากที่สุดสำหรับประเทศจีน ผลไม้เป็นสินค้าที่เน่าเสียง่าย จึงมีข้อกำหนดมากมายในการขนส่งโลจิสติกส์ คลังสินค้า และพิธีการศุลกากร คุณหวง เฟยเฟย (Huang Feifei) หัวหน้าฝ่ายกำกับดูแลด่านศุลกากรโหย่วอี้กวานส่วนที่ 1 กล่าวว่า "ศุลกากรดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวด และยังใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น 'ช่องทางสีเขียว' สำหรับผลไม้นำเข้า พิธีการศุลกากรแบบจองล่วงหน้าที่ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง และการทดสอบในห้องปฏิบัติการแบบเร่งรัด ซึ่งช่วยลดระยะเวลาพิธีการทางศุลกากรสำหรับการนำเข้าผลไม้ของอาเซียนได้อย่างมาก"
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กว่างซีได้สนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของด่านชายแดนหลัก ๆ อย่างจริงจัง รวมทั้งเพิ่มจุดตรวจสอบและจุดขนถ่ายสินค้าขนาดใหญ่ขึ้น โดยจะใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งนาทีสำหรับรถบรรทุกที่จะผ่านจุดตรวจที่ด่านโหย่วอี้กวาน โดยคุณเซีย เกาเฟง (Xia Gaofeng) ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศและท่าเรือพาณิชย์เมืองฉงจั่ว (Chongzuo Foreign Affairs and Commercial Port Bureau) กล่าวว่า "เราได้ดำเนินมาตรการปฏิรูปหลายชุด เช่น พิธีการศุลกากรแบบครบวงจร พิธีการศุลกากรอัจฉริยะที่ใช้ข้อมูลอย่างครบถ้วน 'การตรวจสอบและเดินพิธีการศุลกากรล่วงหน้าสำหรับสินค้านำเข้าและส่งออก การตรวจสอบและปล่อยของที่ด่านตรวจ' ทำให้ลดระยะเวลาการดำเนินพิธีการศุลกากรทางบกได้อย่างมาก"
การปรับปรุงประสิทธิภาพพิธีการศุลกากรช่วยแสดงศักยภาพของด่านแห่งนี้อย่างแท้จริง ขณะที่การปฏิรูปทางการเงินบริเวณชายแดนของกว่างซีได้อำนวยความสะดวกอย่างยิ่งสำหรับการค้าข้ามพรมแดน โดยในศูนย์ธุรกิจด้านสกุลเงินจีน-อาเซียน (เขตนำร่องตงซิง) ซึ่งห่างจากด่านตงซิงเพียงไม่กี่ก้าวนั้น มีหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ขนาดยักษ์แสดงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการจากสกุลเงินหยวนของจีน (RMB) เป็นสกุลเงินดงของเวียดนาม (VDN) โดยทุกวันนี้ ในบริเวณดังกล่าวมีการแลกเปลี่ยนสกุลเงินระหว่างเงินหยวนและเงินดงโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนทางตรง
การปฏิรูปการเงินตามแนวชายแดนได้สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนทั้งจีนและเวียดนาม และการค้าข้ามพรมแดนก็เจริญรุ่งเรืองมากขึ้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สถาบันการเงิน เช่น ธนาคารกุ้ยหลิน (Bank of Guilin) ได้ดำเนินการโอนธนบัตรสกุลเงินหยวนและสกุลเงินดงข้ามพรมแดนอย่างต่อเนื่อง และการเงินข้ามพรมแดนก็ค่อย ๆ ขยายจากธุรกิจการชำระเงินไปสู่หลากหลายสาขา
หวัง หยุนเซียว (Wang Yunxiao) รองประธานธนาคารกุ้ยหลิน กล่าวว่า "เรายังได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ทางการเงินพิเศษสำหรับชายแดน เช่น 'สินเชื่อฮุ่ยเบียน' (Huibian Loan), 'สินเชื่อฮูชี่' (Hushi Loan) และ 'สินเชื่อเปียนยี่' (Bianyi Loan) เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินของผู้อยู่อาศัยบริเวณชายแดนที่ทำธุรกิจข้ามพรมแดน วิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปวัตถุดิบนำเข้า และผู้ซื้อ"
โครงสร้างพื้นฐานชายแดนที่ยอดเยี่ยมของกว่างซีเป็นเครื่องรับประกันการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของการค้าข้ามพรมแดน การอัปเกรดโครงข่ายไฟฟ้าชายแดนนำไปสู่การเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าแบบก้าวกระโดด ส่วนการเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารชายแดนก็ทำให้ครอบคลุมเครือข่าย 4G ขณะที่เครือข่ายทางหลวงก็ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ช่องทางโลจิสติกส์ราบรื่นยิ่งขึ้น และสิ่งอื่นที่คล้ายกัน โครงสร้างพื้นฐานของชายแดนกว่างซีได้รับการปรับปรุงอย่างแท้จริงด้วยความพยายามร่วมกันของหลายฝ่าย
วู เสี่ยวฮุ่ย (Wu Xiaohui) รองผู้อำนวยการบริหาร คณะกรรมการบริหารเขตฉงจั่ว เขตการค้าเสรีนำร่องแห่งประเทศจีน (กว่างซี) เปิดเผยว่า เมืองผิงเสียงมีรถไฟข้ามพรมแดน 13 ขบวนและเส้นทางโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน 22 สาย ซึ่งสามารถเข้าถึงเมืองศูนย์กลางหลัก ๆ กว่า 20 แห่งในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีเครือข่ายโลจิสติกส์ครอบคลุมคาบสมุทรอินโดจีน
รัฐบาลประชาชนของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเพิ่งออกแผนพัฒนาหลายด้าน เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทุน การค้า การเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามพรมแดน และการขนส่ง โดยมีจุดประสงค์ในการส่งเสริมการปฏิรูปเชิงลึกและความก้าวหน้าในการเปิดประเทศ
ไป่ หลาน (Bai Lan) รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตการค้าเสรีนำร่องแห่งประเทศจีน (กว่างซี) แนะนำว่าแผนดังกล่าวเรียกร้องให้เขตการค้าเสรีกว่างซีดำเนินการการปฏิบัติเช่นเดียวกับคนในประเทศก่อนการลงทุน (pre-establishment national treatment) พร้อมระบบจัดการรายการประเภทกิจการต้องห้าม โดยมีระบบการจัดการกำกับดูแลการปฏิบัติงานและหลังการปฏิบัติงานที่สอดรับกับวิธีการจัดการรายการกิจการต้องห้าม พร้อมส่งเสริมการเปิดกว้างด้านโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ต การศึกษา และด้านอื่น ๆ อย่างเป็นระเบียบ ตลอดจนพัฒนารูปแบบการค้าต่างประเทศใหม่ ๆ อย่างจริงจัง เช่น อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน การค้านอกชายฝั่ง และการค้าดิจิทัล
นอกจากนี้ ในแง่ของการพัฒนาแบบเปิด การสำรวจ และนวัตกรรม เขตการค้าเสรีนำร่องของจีน (กว่างซี) จะเร่งสำรวจการเปิดสถาบัน สร้างคลัสเตอร์โครงการสาธิตความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement หรือ RCEP) ตามมาตรฐานระดับสูง เทียบเคียงกับข้อบังคับตามข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP) และดำเนินการทดลองนำร่องและประเมินผลกระทบต่อความเสี่ยงในประเด็นสำคัญ เช่น การค้าบริการ การบริการทางการเงิน และเศรษฐกิจดิจิทัล
ที่มา: คณะกรรมการบริหาร เขตการค้าเสรีนำร่องแห่งประเทศจีน (กว่างซี)