ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2573 ของมองโกเลีย ได้สรุปวัตถุประสงค์ 45 ประการ และกิจกรรมต่อต้านการทุจริต 224 รายการ
หน่วยงานอิสระต่อต้านการทุจริตแห่งมองโกเลีย (Independent Authority Against Corruption: IAAC) หรือ "สำนักงานต่อต้านการทุจริต" (Anti Corruption Agency) ได้ประกาศยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2573 เพื่อต่อต้านการทุจริตในทุกแง่มุมของชีวิตของชาวมองโกเลีย โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ถูกยื่นต่อรัฐสภามองโกเลียอย่างเป็นทางการแล้ว และจะได้รับการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการสามัญประจำรัฐสภามองโกเลียในอีกไม่นานนี้
นายเค.เอช. เนียมบาตาร์ (K.H. Nyambaatar) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงมหาดไทย แสดงความคิดเห็นว่า "ประวัติศาสตร์ได้ถูกจารึกในวันนี้ โดยรัฐบาลได้น้อมรับยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม ซึ่งช่วยเติมเต็มสิ่งที่เราดำเนินการไปแล้วใน "ปีแห่งการต่อสู้กับการทุจริต" ซึ่งรัฐบาลประกาศไปก่อนหน้านี้"
"ในช่วงเวลาที่ความไว้วางใจในรัฐบาลตกต่ำทั่วโลก เรารู้ว่ามีงานต้องทำเพื่อให้ได้มาและรักษาความไว้วางใจจากประชาชนของเรา นี่คือเหตุผลที่เรามุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับสำนักงานต่อต้านการทุจริตเพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติไปจนถึงปี พ.ศ. 2573" นายเนียมบาตาร์กล่าว
วัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์ดังกล่าวครอบคลุมถึงการเสริมสร้างบริการสาธารณะที่ปราศจากการทุจริต, การมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพของประชาชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน, ความเป็นอิสระของสถาบันของรัฐ, การลดความเสี่ยงในการทุจริตงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้าง ไปจนถึงการจัดการกับการลักทรัพย์ การยักยอกทรัพย์ และการทำให้ทรัพย์เสียหาย
สำนักงานต่อต้านการทุจริตได้รับคำแนะนำจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศและองค์กรเพื่อการพัฒนาหลายแห่ง และได้นำมาใช้ปรับปรุงกฎหมายกว่า 40 ฉบับ รวมถึงกฎหมายอาญา กฎหมายต่อต้านการทุจริต กฎหมายว่าด้วยการกำกับดูแลผลประโยชน์ของรัฐและเอกชนในการบริการสาธารณะ และการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน
ยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าวช่วยสนับสนุนโครงการต่อต้านการทุจริต "Tavan-sh" ที่รัฐบาลประกาศไปก่อนหน้านี้ โดยมุ่งเน้นที่ 5 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การแจ้งเบาะแส การปลดเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต การส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการส่งตัวผู้ต้องหากลับประเทศ การติดตามทรัพย์สินคืน และการสร้างความโปร่งใส นอกจากนี้ รัฐบาลเพิ่งยื่นกฎหมาย 3 ฉบับว่าด้วยการปกป้องผู้แจ้งเบาะแส การปฏิรูปการเงินในการหาเสียง และความโปร่งใสของรัฐวิสาหกิจ
"ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นการดำเนินการด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ และมีเป้าหมายเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการทุจริตในหมู่สถาบันของรัฐ เจ้าหน้าที่ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม พรรคการเมือง และกลุ่มต่าง ๆ โดยเราจะทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อสร้างสังคมที่โปร่งใส เปิดกว้าง และมีความรับผิดชอบมากขึ้น" นายดาชดาวา ซานดรา (Dashdavaa Zandraa) ผู้อำนวยการสำนักงานต่อต้านการทุจริตแห่งมองโกเลีย กล่าว
"ความพยายามในการต่อต้านการทุจริตกำลังมีความคืบหน้าอย่างมาก แต่ยังมีอะไรอีกมากมายที่เราต้องทำ ยุทธศาสตร์นี้ช่วยกำหนดเส้นทางที่ชัดเจนในการเดินหน้าและปรับปรุงมาตรการต่อต้านการทุจริตของเรา อีกทั้งยังยืนยันว่าเรามาถูกทางในการสร้างสังคมแห่งความไว้วางใจและความเชื่อมั่นในรัฐบาลและในประเทศของเรา" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของมองโกเลีย กล่าว