- หัวเว่ยและพันธมิตรทั่วโลกร่วมกันจัดการประชุมโต๊ะกลมสื่อมวลชน ในระหว่างการประชุมสุดยอดนักวิเคราะห์ระดับโลกของหัวเว่ย ประจำปี 2566
ในการประชุมโต๊ะกลมสื่อมวลชนซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน ในระหว่างการประชุมสุดยอดนักวิเคราะห์ระดับโลกของหัวเว่ย ประจำปี 2566 (Huawei Global Analyst Summit 2023 หรือ HAS 2023) หัวเว่ยและพันธมิตรจากทั่วโลกได้มาร่วมแบ่งปันแนวปฏิบัติล่าสุดของโครงการเทคฟอร์ออล (TECH4ALL) พร้อมทั้งหารือกันว่าเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยสร้างโลกดิจิทัลที่เท่าเทียมและยั่งยืนกว่าเดิมได้อย่างไร
ในระหว่างการหารือกันนั้น พันธมิตรในโครงการเทคฟอร์ออลหลายรายจากทั่วโลกได้มาร่วมอัปเดตโครงการต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ โดยประเด็นสำคัญที่ต้องการสื่อก็คือ ในแต่ละโครงการนั้น การผนึกกำลังระหว่างเทคโนโลยีกับความร่วมมือเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงบวก
"ความพยายามทั้งหมดของเราในโครงการเทคฟอร์ออลเป็นไปได้ด้วยการผนึกกำลังระหว่างเทคโนโลยีกับความร่วมมือ" คุณเจฟฟรีย์ โจว (Jeffrey Zhou) ประธานฝ่ายการตลาดไอซีทีของหัวเว่ย กล่าวเปิดการประชุมโต๊ะกลม
นับตั้งแต่ริเริ่มโครงการเทคฟอร์ออลในปี 2562 หัวเว่ยได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาล ลูกค้า องค์กรระหว่างประเทศ สถาบันวิจัย และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อสร้างคุณค่าทางสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลให้กว้างขวางครอบคลุมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
การส่งเสริมความเสมอภาคและคุณภาพทางการศึกษา
เพื่อผลักดันความเท่าเทียมและช่วยสร้างอนาคตที่ยั่งยืน โครงการด้านการศึกษาของเทคฟอร์ออลได้เข้าถึงผู้รับประโยชน์แล้ว 220,000 คนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในชนบทอันห่างไกลและกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ซึ่งรวมถึงผู้หญิงและเด็กหญิง เยาวชนที่ว่างงาน ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ตลอดจนนักเรียนและครูผู้สอน
ในระหว่างการประชุมโต๊ะกลมนั้น มูลนิธิผู้ประกอบการเพื่อสังคมจีนยูเชนจ์ (YouChange China Social Entrepreneur Foundation) ได้มาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์ โดยเน้นย้ำว่าแพลตฟอร์มสนับสนุนด้วยเทคโนโลยีสามารถช่วยส่งเสริมครูในชนบทด้วยการฝึกอบรมออนไลน์ เพื่อเพิ่มความสามารถทางวิชาชีพและความเชื่อมั่นในตนเอง
"การพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการพัฒนาคน ในอนาคต เรายินดีที่จะทำงานร่วมกับหัวเว่ยต่อไป เพื่อยกระดับการศึกษาในชนบทด้วยเทคโนโลยี" คุณฮุ่ย หลิง (Hui Ling) เลขาธิการมูลนิธิผู้ประกอบการเพื่อสังคมจีนยูเชนจ์ กล่าว
การอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยเทคโนโลยี
ในด้านความยั่งยืนและการอนุรักษ์ธรรมชาตินั้น โครงการเทคฟอร์ออลได้ช่วยปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนในพื้นที่คุ้มครอง 46 แห่งทั่วโลก ซึ่งรวมถึงโครงการนำร่อง 5 โครงการภายใต้ความร่วมมือเทคฟอร์เนเจอร์ (Tech4Nature) ที่ริเริ่มขึ้นในปี 2563 ระหว่างหัวเว่ยกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature หรือ IUCN)
"เมื่อเราพูดถึงความหลากหลายทางชีวภาพและการอนุรักษ์ตามพื้นที่ เทคโนโลยีสามารถช่วยเราได้จริงในการติดตามและสนับสนุนการรายงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ สภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายการอนุรักษ์ตามพื้นที่" คุณคาลิด ปาชา (Khalid Pasha) ผู้ประสานงานประจำเอเชีย สำนักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าว
ในระหว่างการประชุมโต๊ะกลมนั้น ซีไมนด์ส (C Minds) ซึ่งเป็นพันธมิตรของเทคฟอร์ออล ได้มาร่วมแบ่งปันเกี่ยวกับการดำเนินโครงการเทคฟอร์เนเจอร์ในประเทศเม็กซิโก ซึ่งริเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยหัวเว่ยได้ร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซีไมนด์ส และพันธมิตรท้องถิ่นรายอื่น ๆ โครงการนี้ใช้ประโยชน์จากพลังของเทคโนโลยีเอไอ (AI) และแนวทางที่มีชุมชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในเขตสงวนแห่งรัฐดซิลัม (Dzilam State Reserve) ซึ่งรวมถึงการอนุรักษ์เสือจากัวร์อเมริกาเหนือที่ใกล้สูญพันธุ์
"การใช้เทคโนโลยีช่วยให้สามารถยกระดับการอนุรักษ์ไปสู่ระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน และรับประกันกรอบเวลาที่สั้นลง ซึ่งเราเห็นผลสำเร็จอย่างชัดเจนในกรณีนี้ โดยการติดแท็กข้อมูลแบบแมนนวลและการตีความข้อมูลที่ใช้เวลานานหลายปีสามารถทำได้สำเร็จในเวลาไม่ถึง 1 ปีเมื่ออาศัยเทคโนโลยีและความร่วมมือ นอกจากนั้นยังสามารถสร้างผลลัพธ์ที่มีความโปร่งใสและวัดผลได้อีกด้วย" คุณเรจินา เซอร์เวรา ปาเชโก (Regina Cervera Pacheco) ผู้ประสานงานโครงการจากซีไมนด์ส กล่าว
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการพัฒนาชนบท
ฝ่ายการพัฒนาของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU-D) ได้มาร่วมอัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับโครงการสมาร์ทวิลเลจในปากีสถาน ที่ริเริ่มขึ้นในเดือนมกราคม 2566 เพื่อเร่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) หลายข้อ ด้วยการช่วยให้หมู่บ้านห่างไกลสามารถเข้าถึงบริการดิจิทัลต่าง ๆ เช่น บริการสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ (e-health), การศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ (e-education) และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ
"ปากีสถานเป็นที่ตั้งของโครงการสมาร์ทวิลเลจแห่งแรกในเอเชียแปซิฟิกของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการสมาร์ทวิลเลจและสมาร์ทไอแลนด์ เราภูมิใจมากที่ได้ร่วมมือกับรัฐบาลปากีสถานและหัวเว่ยในส่วนนี้ โครงการนำร่องเหล่านี้นำมาซึ่งพันธมิตรใหม่ที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่กว่าได้ ผมขอขอบคุณทุกคนที่ก้าวเข้ามาเพื่อร่วมกันทำสิ่งนี้ให้สำเร็จลุล่วง" คุณอาชิช นารายาน (Ashish Narayan) ผู้ประสานงานโครงการของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ประจำสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าว
ทั้งนี้ บรรดาพันธมิตรของโครงการเทคฟอร์ออลที่เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมสื่อมวลชนครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการทำงานร่วมกันโดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อบรรลุผลสำเร็จในทางปฏิบัติ และหัวเว่ยหวังที่จะสร้างความเท่าเทียมและความยั่งยืนทางดิจิทัลโดยอาศัยเทคโนโลยีล้ำสมัยและความร่วมมือระยะยาวต่อไป
เกี่ยวกับโครงการเทคฟอร์ออลของหัวเว่ย
เทคฟอร์ออล (TECH4ALL) เป็นโครงการริเริ่มและแผนปฏิบัติการระยะยาวของหัวเว่ย ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยและความร่วมมือ เพื่อช่วยส่งเสริมความเท่าเทียมและความยั่งยืนในโลกดิจิทัล
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์โครงการเทคฟอร์ออลของหัวเว่ย https://www.huawei.com/en/tech4all
ติดตามเราทางทวิตเตอร์ https://twitter.com/HUAWEI_TECH4ALL
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2060617/Huawei_partners_held_TECH4ALL_roundtable_Day_2_HAS_2023.jpg
คำบรรยายภาพ - หัวเว่ยและพันธมิตรจัดการประชุมโต๊ะกลมเทคฟอร์ออล ในวันที่ 2 ของการประชุมสุดยอดนักวิเคราะห์ระดับโลกของหัวเว่ย ประจำปี 2566