จีนจะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ต่อไป นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ในพิธีปิดการประชุมสุดยอดว่าด้วยข้อตกลงทางการเงินระดับโลกฉบับใหม่ (Summit for a New Global Financing Pact) ณ กรุงปารีส
นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เป็นผู้เสนอให้จัดการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ในระหว่างการประชุมสุดยอด G20 ที่บาหลีเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจสถานะปัจจุบันและแนวโน้มการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการปฏิรูประบบการเงินระหว่างประเทศ
พิธีปิดการประชุมมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 60 คน ประกอบด้วยประมุขแห่งรัฐ ตัวแทนรัฐบาล และองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ นายลูอีซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิล, นายซีริล รามาโฟซา ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ และนายเชห์บาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถาน
การดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
บรรดาผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดต่างเรียกร้องให้มีความพยายามร่วมกันในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ แก้ไขปัญหาหนี้สินของประเทศกำลังพัฒนา และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วโลก
นายมาครงกล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า ประเทศร่ำรวยให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์แก่ประเทศกำลังพัฒนา พร้อมกับจัดตั้งกองทุนสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพและคุ้มครองป่าไม้
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นายหลี่ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านพลังงานว่า จีนกำลังเร่งส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ ตลอดจนมีส่วนร่วมอย่างรับผิดชอบในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านพลังงานทั่วโลกและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เขากล่าวเสริมว่า จีนยินดีที่จะทำงานร่วมกับประเทศอื่น ๆ และยึดมั่นในหลักการของผลประโยชน์ร่วมกันและความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ทุกฝ่าย โดยมีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เพื่อส่งเสริมการจัดตั้งพันธมิตรด้านพลังงานสะอาดระดับโลก อันจะนำไปสู่การสร้างโลกที่สะอาดและสวยงามไปด้วยกัน
การปฏิรูประบบการเงิน
นายมาครงกล่าวสุนทรพจน์ปิดงานว่า มีฉันทามติในการปฏิรูปองค์กรการเงินระดับโลก เช่น ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อทำให้ "มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยุติธรรมมากขึ้น และเหมาะสมกับโลกปัจจุบันมากขึ้น"
นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เตือนว่า ระบบการเงินโลกในปัจจุบันทำให้ความไม่เท่าเทียมยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น โดยกลุ่มประเทศยากจนที่สุดไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อและไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านหนี้สินตามที่ต้องการและสมควรได้รับ
"เมื่อเวลาล่วงไปเกือบ 80 ปี สถาปัตยกรรมการเงินทั่วโลกก็ล้าสมัย ใช้งานไม่ได้ และไม่ยุติธรรม จึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการของโลกในศตวรรษที่ 21 ได้อีกต่อไป ท่ามกลางโลกหลายขั้วที่เศรษฐกิจและตลาดการเงินบูรณาการกันอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งยังมีความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และความเสี่ยงเชิงระบบเพิ่มมากขึ้น"
นายหลี่เรียกร้องให้องค์กรการเงินระดับโลกดำเนินการปฏิรูปโควตาและสิทธิในการออกเสียง โดยผลักดันให้ตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนามีสิทธิมีเสียงมากขึ้น
นายหลี่กล่าวเสริมว่า จีนได้จับมือกับประชาคมโลกผลักดันการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน ตลอดจนต่อต้านการกีดกันทางการค้า รวมถึงการแยกและขัดขวางห่วงโซ่อุปทานทุกรูปแบบ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจีนเลือกยุโรปเป็นจุดหมายปลายทางในการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง เขาบอกกับนายมาครงว่าจีนและยุโรปมีจุดแข็งของตัวเอง และจำเป็นต้องเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
จีนและยุโรปควรรับมือกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ระหว่างประเทศด้วยการรักษาความสัมพันธ์จีน-ยุโรปให้มีเสถียรภาพ และร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของมนุษยชาติ เขากล่าวในการประชุมสุดยอดครั้งนี้
https://news.cgtn.com/news/2023-06-23/China-pledges-support-for-developing-countries-at-financing-summit-1kSnrVnRy6s/index.html