จีนเปิดตัวดัชนีการค้าสินค้าประเภทเทกอง มุ่งสร้างเสถียรภาพให้กับห่วงโซ่อุตสาหกรรมและซัพพลายเชนทั่วโลก

ข่าวต่างประเทศ Friday September 1, 2023 17:12 —Asianet Press Release

ในงานสัมมนาการค้าทางท่าเรือและทางบกลุ่มแม่น้ำเหลืองแห่งชิงเต่า (Qingdao Yellow River Basin Land-Sea Linkage High-Quality Development Seminar) ประจำปี 2566 ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2566 ได้มีการเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งประกอบด้วยรายงานดัชนีการพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระดับสากล (International Shipping Hubs Development Index Report) ปี 2566 รายงานดัชนีสินค้าประเภทเทกองท่าเรือขนส่ง โดยซินหัว-เอสพีจี (Xinhua-SPG Port Bulk Commodity Index Report) ปี 2566 และรายงานดัชนีการค้าทางเรือของประเทศสมาชิกในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP Seaborne Trade Index Report) ปี 2566

ผู้เข้าร่วมงานระบุว่า การค้าขายสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทเทกองในรูปแบบของดัชนีต่าง ๆ สามารถนำเสนอในรูปแบบดิจิทัลได้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงที่มีประสิทธิภาพระหว่างการขนส่งทางท่าเรือและการค้าขายสินค้าประเภทเทกอง และมอบแนวปฏิบัติเพื่อให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมและซัพพลายเชนทั่วโลกดำเนินการได้อย่างราบรื่น

หลังจากที่มีการเปิดตัวดัชนีการพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งสินค้าซินหัว-บอลติก (Xinhua-Baltic International Shipping Center Development Index) นั้น ฝ่ายบริการข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจจีน (China Economic Information Service หรือ CEIS) ก็ได้นำเสนอดัชนีวัดประเมินท่าเรือและการขนส่งระดับโลกขี้นอีกหนึ่งรายการ นั่นคือ ดัชนีการพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระดับสากลประจำปี 2566 โดยรายงานฉบับนี้มีการประเมินการพัฒนาโดยภาพรวมของศูนย์กลางการขนส่งและกลุ่มท่าเรือ ตามประเภทสินค้าและลักษณะต่าง ๆ

ผลสำรวจบ่งชี้ว่า ศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระดับสากลแห่งหลัก ๆ ซึ่งประกอบด้วยท่าเรือสิงคโปร์ ท่าเรือเซี่ยงไฮ้  ท่าเรือหนิงโป-โจวซาน ท่าเรือรอตเตอร์ดัม และท่าเรือชิงเต่า ล้วนมีการพัฒนาอย่างมาก ขณะที่ท่าเรือกวางโจว ท่าเรือแอนต์เวิร์ป-บรูจส์ และท่าเรือเทียนจิน คือตัวอย่างของศูนย์กลางการขนส่งแบบบูรณาการระดับภูมิภาค ซึ่งมีคุณสมบัติที่โดดเด่นและอยู่ในระดับสูงสุดท่ามกลางประเทศสมาชิกในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ส่วนผลประเมินกลุ่มท่าเรืออย่างรอบด้านแสดงให้เห็นว่า กลุ่มท่าเรือสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี และกลุ่มท่าเรือบริเวณอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า อยู่ในอันดับต้น ๆ ของการจัดอันดับ ขณะที่กลุ่มท่าเรือซานตงที่อยู่รอบอ่าวโป๋ไห่ และกลุ่มท่าเรือปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในระดับนานาชาติ

ฝ่ายบริการข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจจีนและกลุ่มท่าซานตง (Shandong Port Group) ร่วมกันเปิดตัวรายงานดัชนีสินค้าประเภทเทกองท่าเรือขนส่ง โดยซินหัว-เอสพีจี ซึ่งได้รับการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ที่เปิดตัวในปี 2564 โดยดัชนีดังกล่าวให้ข้อมูลอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับระบบดัชนีราคา ดัชนีคงคลัง และดัชนีเข้าและออก ซึ่งในปีนี้ ระบบดัชนีดังกล่าวได้ขยายให้รวมถึงดัชนีราคาซื้อขายกำมะถันและถ่านโค้กปิโตรเลียมในตลาดสป็อตด้วย

เมื่อมีรายการเพิ่มเข้ามาใหม่แล้ว ระบบดัชนีดังกล่าวประกอบด้วยดัชนีราคารวม 7 รายการ สำหรับน้ำมันดิบ แร่เหล็ก ถ่านโค้ก เหล็กแท่ง เหล็กแผ่นรีดร้อน ซัลเฟอร์ และถ่านโค้กปิโตรเลียม ตลอดจนดัชนีอีก 6 ดัชนีสำหรับแร่เหล็กคงคลัง ถ่านโค้กคงคลัง แร่เหล็กนำเข้า แร่เหล็กส่งออก ถ่านโค้กนำเข้า และถ่านโค้กส่งออก

จากแผนข้างต้น จะมีการเปิดเผยดัชนีชี้วัดถ่านโค้กปิโตรเลียมคงคลังต่อไปในอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อสะท้อนแนวโน้มความผันผวนของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในท่าเรือต่าง ๆ มอบเกณฑ์วัดประเมินมูลค่าและข้อมูลอ้างอิงที่มีประสิทธิภาพสำหรับกิจกรรมการค้าที่ท่าเรือ และยกระดับความสามารถในการติดตาม วิเคราะห์ และเพิ่มศักยภาพในการแจ้งเตือนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างครอบคลุม

รายงานดัชนีการค้าทางเรือของประเทศสมาชิกในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคประจำปี 2566 ได้ประเมินประเทศสมาชิก 14 ประเทศ (ยกเว้นลาว) เป็นเป้าหมายการวิจัยและเลือกสินค้าหลัก 6 ประเภท ประกอบด้วย สินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ แร่เหล็ก ถ่านหิน ผลิตภัณฑ์น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และรถยนต์ ให้เป็นเป้าหมายการวิเคราะห์ เพื่อสะท้อนแนวโน้มการพัฒนาในแต่ละปีของการค้าทางเรือแถบประเทศสมาชิกฯ จาก 2 มิติ ได้แก่ ปริมาณการค้าโดยรวมและปริมาณการค้าทางเรือ โดยข้อมูลจากรายงานดัชนีระบุว่า ดัชนีการค้าทางเรือของประเทศสมาชิกฯ แตะที่ 101.4 ในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากระดับเริ่มต้นในปี 2562 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่ปริมาณการค้าทางเรือของประเทศสมาชิกฯ มีส่วนแบ่งในตลาดทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งนี้ รายงานเปิดเผยว่า ดัชนีการค้าทางเรือของประเทศสมาชิกฯ ปรับตัวลดลง 0.2 จุดเมื่อเทียบรายปีในปี 2565 สอดคล้องกับแนวโน้มขาลงของปริมาณการค้าทางเรือที่ได้รับการสำรวจทั่วโลก ทั้งนี้ รายงานระบุว่า ข้อตกลงของประเทศสมาชิกฯ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบสำหรับประเทศผู้ลงนามทั้ง 15 ประเทศในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 จะส่งผลให้การค้าทางเรือในหมู่ประเทศสมาชิกฯ เฟื่องฟูมากกว่าแนวโน้มการค้าโลกในปี 2566

ที่มา: ฝ่ายบริการข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจจีน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ