เพโพรมีน ไบโอ อิงค์ ( PeproMene Bio, Inc) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพขั้นคลินิกผู้พัฒนาวิธีการรักษาใหม่สำหรับโรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติ ประกาศเสร็จสิ้นการให้ยา PMB-CT01 (ซีเออาร์ ทีเซลล์มุ่งเป้า BAFFR หรือ BAFFR-CAR T Cells) ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดบีเซลล์ นอนฮอดจ์กินที่มีการกลับมาเป็นซ้ำหรืออยู่ในระยะไม่ตอบสนองของโรค (relapsed or refractory B-cell Non-Hodgkin Lymphoma หรือ r/r B-NHL) ชุดแรกที่เข้าร่วมการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 โดยผลการทดลองไม่พบความเป็นพิษจากการจำกัดขนาดยา (DLT) และจะเดินหน้าในการทดสอบกับผู้ป่วยชุดที่สองต่อไป
การทดลองในโครงการ PMB-102 กำลังดำเนินการที่ซิตี้ ออฟ โฮป ( City of Hope ) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและองค์กรรักษามะเร็งที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา โดยเพโพรมีนได้รับใบอนุญาตทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับยา PMB-CT01 จากซิตี้ ออฟ โฮป ซึ่งเป็นผู้พัฒนาการรักษา
ผู้ป่วยชุดแรกที่ได้รับยา PMB-CT01 ที่ 50x10[6] สามารถรับมือกับตัวยาได้เป็นอย่างดี ในบรรดาผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจำนวนทั้งหมด 3 ราย มีอาการจากการหลั่งไซโตไคน์ (cytokine release syndrome หรือ "CRS") ระดับ 1 เท่านั้น และอีก 2 รายมีอาการเป็นพิษทางประสาทที่เกี่ยวข้องกับเซลล์ที่ส่งผลต่อภูมิคุ้มกัน (immune effector cell-associated neurotoxicity syndrome หรือ "ICANS") ระดับ 1 และสามารถฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติได้อย่างเต็มที่ อัตราการตอบสนองโดยรวมคือ 100% (การตอบสนองสมบูรณ์ 2 ครั้ง และการตอบสนองบางส่วน 1 ครั้ง) ที่หนึ่งเดือนหลังการรักษา ทั้งนี้ ผู้ป่วย 2 รายที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดเซลล์แมนเทิลมีความก้าวหน้าหลังได้รับการรักษาด้วยซีเออาร์ ทีเซลล์มุ่งเป้า CD19 (CD19-CAR T) แบบธรรมดาก่อนหน้าการเข้าร่วมทดลองยา PMB-CT01
พญ.เอลิซาเบธ บัด ( Elizabeth Budde ) ผู้วิจัยหลักของการทดลองเพิ่มขนาดยาแบบศูนย์เดียว (NCT05370430) และรองศาสตราจารย์ประจำซิตี้ ออฟ โฮป แผนกมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ฝ่ายโลหิตวิทยาและการปลูกถ่ายเซลล์เม็ดเลือด กล่าวว่า "เรารู้สึกประหลาดใจและยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นความเป็นพิษเพียงเล็กน้อยที่เกี่ยวข้องกับอัตราการตอบสนองที่สูงเช่นนี้ในผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดอย่างหนัก ซึ่งล้มเหลวในการรักษาด้วย 3-10 วิธีก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึงซีเออาร์ ทีเซลล์มุ่งเป้า CD19 (CD19-CAR T) ที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ"
"แม้การบำบัดด้วยซีเออาร์ ทีเซลล์มุ่งเป้า CD19 (CD19-CAR T) จะมีประสิทธิภาพในระดับสูงสำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบีเซลล์และมะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่ผู้ป่วยจำนวนมากยังคงกลับมาเป็นซ้ำหลังการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการทางการแพทย์ที่เร่งด่วนซึ่งยังไม่ได้รับการตอบสนอง" นพ. ดร. แลร์รี ดับบลิว ควาก ( Larry W. Kwak ) รองประธานและรองผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งครบวงจรของซิตี้ ออฟ โฮป และผู้ก่อตั้งฝ่ายวิทยาศาสตร์ของเพโพรมีนและประธานที่ได้รับค่าตอบแทนประจำคณะที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของบริษัทฯ ทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของเพโพรมีน กล่าว "การส่งสัญญาณ BAFF-R เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตและการอยู่รอดของบีเซลล์ ซึ่งอาจจำกัดความสามารถของเนื้องอกบีเซลล์ในการหลีกเลี่ยงการรักษาโดยการสูญเสียการแสดงออกของ BAFF-R ซึ่งแตกต่างจาก CD19 ผมหวังว่าการบำบัดด้วย BAFFR-CAR T จะนำเสนอสิ่งที่มีความหมายทางคลินิกและมอบทางเลือกใหม่สำหรับผู้ป่วย"
"แม้จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น พวกเราต่างได้รับกำลังใจจากผลการสังเกตเบื้องต้นด้านความปลอดภัยที่ยอมรับได้และประสิทธิภาพขั้นต้นในกลุ่มผู้ป่วย B-NHL ชุดแรกที่ได้รับการรักษาด้วย PMB-CT01 ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาทั้งหมด 3 ราย (2 รายมีความก้าวหน้าหลังการรักษาด้วย CD19 CAR T และ 1 รายที่มีมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดลบ CD19/CD20) ต่างตอบสนองต่อการรักษาด้วย PMB-CT01" ดร. เฮเซล เฉิง (Hazel Cheng) ซีโอโอของเพโพรมีน กล่าว "ผลลัพธ์ทางคลินิกเหล่านี้สอดคล้องกับข้อมูลการวิจัยขั้นพรีคลินิกของซิตี้ ออฟ โฮป ที่ตีพิมพ์ในวารสารไซเอินซ์ ทรานสเลชั่นแนล เมดิซีน (Science Translational Medicine) ในปี 2562 ซึ่งแสดงว่า PMB-CT01 (ซีเออาร์ ทีเซลล์ มุ่งเป้า BAFFR) สามารถรักษาการสูญเสียแอนติเจน CD19 ในมะเร็งในบีเซลล์ได้"
เกี่ยวกับ PMB-CT01
PMB-CT01 เป็นการรักษาด้วยซีเออาร์ ทีเซลล์มุ่งเป้า BAFFR โดยใช้เซลล์ของผู้ป่วยตัวแรก ทั้งนี้ BAFFR (ตัวรับกระตุ้นบีเซลล์ หรือ B Cell Activating Factor Receptor) ในกลุ่มตัวรับปัจจัยทำลายเซลล์มะเร็ง (tumor necrosis factor หรือ TNF) เป็นตัวรับหลักสำหรับ BAFF ที่มีฤทธิ์ต่อบีเซลล์เกือบจะโดยเฉพาะ เนื่องจากการส่งสัญญาณ BAFF-R ส่งเสริมการแบ่งตัวของบีเซลล์ที่เป็นปกติ อีกทั้งยังจำเป็นต่อการอยู่รอดของบีเซลล์ จึงทำให้มีแนวโน้มต่ำที่เซลล์มะเร็งจะสามารถหลบเลี่ยงการตอบสนองของภูมิคุ้มกันผ่านการสูญเสียแอนติเจน BAFF-R คุณสมบัติเฉพาะดังกล่าวนี้ทำให้การรักษาด้วยซีเออาร์ ทีเซลล์มุ่งเป้า BAFF-R เป็นการศึกษาที่มีแนวโน้มที่ดีสำหรับมะเร็งในบีเซลล์ ซีเออาร์ ทีเซลล์มุ่งเป้า BAFF-R สร้างขึ้นโดยใช้แอนติบอดีสายเดี่ยว (single-chain fragment variable) ต้าน BAFF-R (anti-BAFF-R scFv) ที่มีการส่งสัญญาณรุ่น 2 ซึ่งประกอบด้วย CD3? และ 4-1BB งานวิจัยของเราพบว่าซีเออาร์ ทีเซลล์มุ่งเป้า BAFFR ฆ่าเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งเม็ดเลือดขาวของมนุษย์ในการศึกษาในหลอดทดลอง (in vitro) และในสัตว์ตัวแบบ ทั้งนี้เพโพรมีนได้ขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับ PMB-CT01 จากซิตี้ ออฟ โฮปแล้ว
เกี่ยวกับเพโพรมีน
เพโพรมีน ( PeproMene) เป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพขั้นคลินิกในเมืองเออร์ไวน์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้พัฒนาวิธีการรักษาใหม่สำหรับรักษาโรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติ ขณะนี้วิธีการรักษาระดับแนวหน้าของเพโพรมีน PMB-CT01 (ซีเออาร์ ทีเซลล์มุ่งเป้า BAFFR) อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยเพื่อใช้ในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดลิมฟอยด์ บีเซลล์ (B-cell acute lymphoblastic leukemia) (B-ALL; NCT04690595) และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน บีเซลล์ (B-NHL; NCT05370430) ที่มีการกลับมาเป็นซ้ำใหม่หรืออยู่ในระยะไม่ตอบสนองของโรค ในการศึกษาทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 นอกจากนี้เพโพรมีนยังอยู่ระหว่างการพัฒนาตัวเชื่อมทีเซลล์จำเพาะสองเป้าหมายมุ่งเป้า BAFFR (BAFFR Bispecific T Cell Engager) และซีเออาร์ เซลล์เอ็นเคมุ่งเป้า BAFFR (BAFFR-CAR NK cells)
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ดร. เฮเซล เฉิง เพโพรมีน ไบโอ อิงค์ ทางอีเมล : hazel.cheng@pepromenebio.com หรือไปที่ www.pepromenebio.com
โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/1972356/Pepromene_Bio_Inc__Logo.jpg