นับตั้งแต่มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) เมื่อปี 2561 การค้าระหว่างจีนกับเอลซัลวาดอร์ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ จีนยังมีส่วนร่วมในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเอลซัลวาดอร์มากขึ้นอีกด้วย
โครงการต่าง ๆ เช่น การก่อสร้างหอสมุดแห่งชาติและท่าเรือในจังหวัดลาลีเบร์ตัด (La Libertad) ไม่เพียงแต่สร้างงานให้กับประชาชนในท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนอีกด้วย
สำนักงานศุลกากรจีนรายงานว่า ในปี 2565 การค้าระหว่างสองประเทศมีมูลค่าสูงถึง 1.892 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 9.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี
"ความสัมพันธ์กับจีนผ่านข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นเวลาห้าปีมีประสิทธิผลอย่างมาก" นางอาดรีอานา มิรา (Adriana Mira) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเอลซัลวาดอร์ ให้สัมภาษณ์กับ ไชน่า มีเดีย กรุ๊ป (China Media Group) พร้อมเสริมว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ใกล้ชิดกับประเทศอื่น ๆ ภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอีกด้วย
ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นหนึ่งในคำที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเมื่อกล่าวถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เป็นผู้นำเสนอแนวคิดนี้ในปี 2556 เพื่อบุกเบิกเส้นทางใหม่สำหรับการพัฒนาร่วมกันและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันผ่านความร่วมมือ ซึ่งประสบความสำเร็จตลอดระยะเวลา 10 ปีของการพัฒนา
ในระหว่างการเยือนคาซัคสถานเมื่อเดือนกันยายน 2556 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ณ มหาวิทยาลัยนาซาร์บาเยฟ
เขาได้พาผู้ฟังย้อนกลับไปเมื่อกว่า 2,100 ปีมาแล้ว เมื่อครั้งที่จีนส่งทูตไปยังเอเชียกลางเพื่อทำภารกิจส่งเสริมสันติภาพและมิตรภาพ พร้อมกับเปิดเส้นทางสายไหมเพื่อนำผ้าไหม ชา และเครื่องเคลือบของจีนไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก รวมทั้งนำเครื่องเทศ ขนสัตว์ ผลไม้ และอัญมณีจากต่างแดนกลับมายังเมืองจีน
ผู้นำจีนไม่เพียงหวนรำลึกถึงอดีตอันรุ่งโรจน์เท่านั้น แต่ยังนำเส้นทางสายไหมโบราณมาเป็นแรงบันดาลใจเพื่อนำเสนอแนวคิดในการสร้าง "แถบเศรษฐกิจตามเส้นทางสายไหม"
หนึ่งเดือนต่อมาที่อินโดนีเซีย ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เสนอให้สร้างเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21 ซึ่งเมื่อรวมกับแถบเศรษฐกิจที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ในที่สุดก็ก่อเกิดเป็นข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางส่งเสริมการเปิดกว้างและการเติบโตที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยผู้นำจีนเชื่อว่าการเปิดประเทศเพิ่มเติมจะนำไปสู่ความเข้มแข็งและความเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น
เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการต่าง ๆ ภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ในปี 2557 จีนได้ประกาศจัดตั้งกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) ด้วยเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์
ในปี 2558 จีนได้ประกาศวิสัยทัศน์และแนวปฏิบัติว่าด้วยการร่วมกันสร้างแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21 (Vision and Actions on Jointly Building Silk Road Economic Belt and 21st-Century Maritime Silk Road) เพื่อเร่งดำเนินการตามข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ตลอดจนเชื่อมโยงประเทศในเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น เพื่อความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน
ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) คือสถาบันการเงินพหุภาคีรูปแบบใหม่ที่ริเริ่มโดยจีนและร่วมกันก่อตั้งโดย 57 ประเทศ โดยเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม 2559
ด้วยเป้าหมายที่จะยกระดับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคเอเชีย ทางธนาคารได้เติบโตจากสมาชิกผู้ก่อตั้ง 57 ประเทศ เป็นสมาชิกที่ได้รับการอนุมัติ 109 ประเทศ และพัฒนาโครงการ 202 โครงการ ใน 33 ประเทศ คิดเป็นมูลค่ารวม 3.88 หมื่นล้านดอลลาร์
ในปี 2559 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
นับเป็นบันทึกความเข้าใจฉบับแรกระหว่างรัฐบาลจีนกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดยการร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศถือเป็นการพัฒนารูปแบบใหม่และสร้างสรรค์สำหรับข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
ในเดือนพฤษภาคม 2560 การประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (Belt and Road Forum for International Cooperation) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ กรุงปักกิ่ง ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม โดยมีตัวแทนมากกว่า 1,600 คน จากกว่า 140 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศกว่า 80 องค์กร รวมถึงประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาลจาก 29 ประเทศเข้าร่วมการประชุม
การประชุมดังกล่าวมีรายการของผลผลิต (list of deliverables) รวม 76 รายการ ประกอบด้วยผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากกว่า 270 รายการ ซึ่งนำไปสู่การบรรลุฉันทามติระหว่างประเทศว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
การประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ ครั้งที่ 2 ได้จัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งเมื่อปี 2562 โดยมีตัวแทนมากกว่า 6,000 คน จาก 150 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 92 องค์กรเข้าร่วมการประชุม รวมถึงผู้นำต่างประเทศ 37 คน เลขาธิการองค์กรสหประชาชาติ และกรรมการผู้จัดการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
ที่ประชุมได้บรรลุฉันทามติที่สำคัญว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอย่างมีคุณภาพสูง และการจัดตั้งหุ้นส่วนการเชื่อมโยงระดับโลก ซึ่งก่อให้เกิดผลลัพธ์ความร่วมมือเชิงปฏิบัติมากมาย และบ่งชี้ว่าข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางได้เข้าสู่ระยะใหม่แล้ว
รายงานสมุดปกขาวของสำนักสารสนเทศแห่งคณะมุขมนตรีจีน (State Council Information Office) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 กันยายน ระบุว่า ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางคือตัวอย่างที่ชัดเจนของการสร้างประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน โดยได้กลายเป็นสินค้าสาธารณะของโลกและเวทีความร่วมมือที่จีนมอบให้แก่ทั่วโลก
จีนมุ่งมั่นสร้างความร่วมมือที่เปิดกว้าง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สะอาด และมีมาตรฐานสูง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนสนับสนุนความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอย่างมีคุณภาพสูง
ผู้เข้าร่วมข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางได้ร่วมกันพัฒนาการเชื่อมโยงแบบ "hard connectivity" "soft connectivity" และ "people-to-people connectivity" ซึ่งก่อให้เกิดเวทีสำคัญที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในวงกว้าง การสร้างฉันทามติระดับนานาชาติ และการรวมจุดแข็งของทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน
https://news.cgtn.com/news/2023-10-03/Ten-years-of-development-How-BRI-grows-from-vision-to-reality-1nASj3bv2Zq/index.html