เคียร์เน่ (Kearney) บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก และ ลัคซ์เอเซีย (LUXASIA) ผู้นำการสร้างแบรนด์ในเอเชียแปซิฟิกผ่านการทำตลาดแบบออมนิแชนแนล เผยแพร่รายงานเรื่อง "ปลดล็อกการเติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดความงามหรูหราของเอเชีย" (Unlocking hyper-growth in Asia's luxury beauty landscape) โดยเน้นถึงโอกาส ความท้าทาย และแนวทางแก้ปัญหาสำหรับแบรนด์หรูในเอเชีย รายงานเผยให้เห็นว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดียมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นตลาดแห่งต่อไปที่จะเกิด "กระแสตื่นทอง" ในวงการความงามหรู ด้วยมูลค่าตลาดสูงถึง 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2569 และอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ที่ระดับ 11% ในระหว่างปี 2564-2574[1] ขณะเดียวกัน คาดว่าการเติบโตแข็งแกร่งนี้จะดำเนินต่อไป โดยขนาดของตลาดจะเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าใน 10 ปี
ตรงกันข้ามกับจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดียยังไม่อิ่มตัว โดยแบรนด์ความงามหรูจากต่างประเทศและแบรนด์ท้องถิ่นที่น่าสนใจยังมีอยู่จำกัด ประกอบกับการใช้จ่ายสินค้าความงามหรูต่อหัวประชากรมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นมาก ทั้งนี้ เมื่อเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้เติบโตเต็มที่ คาดว่าชนชั้นสูงและชนชั้นกลางจะมีจำนวนเกิน 1 พันล้านคนภายในปี 2569[2] โดยคาดว่าผู้บริโภคจะเปลี่ยนจากตลาดแมสไปสู่สินค้าแบรนด์หรูมากขึ้น จึงถือเป็นโอกาสที่แม้จะจำกัดแต่ก็เป็นโอกาสทองสำหรับแบรนด์ความงามหรูที่จะเข้าไปทำตลาดและประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากการเติบโตยังคงเป็นเรื่องยากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย เนื่องจากระบบนิเวศของตลาดที่หลากหลาย ปัจจุบัน แบรนด์หรูเผชิญกับความท้าทายหลัก 6 ประการในภูมิภาคที่กระจัดกระจายนี้ ซึ่งรวมถึงเครือข่ายค้าปลีกแบบหลายมิติ ความพึงพอใจในผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ต่างกัน แนวทางการตลาดที่แตกต่าง กรอบการกำกับดูแลที่ท้าทาย ภูมิทัศน์ห่วงโซ่อุปทานที่มีต้นทุนสูงและมีลักษณะเฉพาะ และการเลือกคู่ค้าโดยที่สองฝ่ายมีข้อมูลไม่เท่ากัน
ในขณะเดียวกัน รายงานได้สรุปความจำเป็นในการดำเนินการ 6 ประการเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการปรับธุรกิจค้าปลีกให้เหมาะสมเพื่อสร้างศูนย์กลางเชิงประสบการณ์แบบมัลติทัชพอยต์ ใช้การเติบโตอย่างต่อเนื่องของอีคอมเมิร์ซตามลักษณะเฉพาะของแต่ละตลาด หลอมรวมความสามารถด้านต่าง ๆ เพื่อเร่งผลักดันโซเชียลคอมเมิร์ซ ทำความเข้าใจผู้บริโภคท้องถิ่นอย่างลึกซึ้งผ่านการรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูล สร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นผ่านพันธมิตรด้านโลจิสติกส์ และคว้าชัยชนะด้วยการเลือกพันธมิตรที่ใช่สำหรับการสร้างแบรนด์แบบออมนิแชนแนล
สิทธารถ ปาตัก (Siddharth Pathak) หุ้นส่วนอาวุโส หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมผู้บริโภคและการค้าปลีกประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของเคียร์เน่ กล่าวว่า "ซีอีโอแบรนด์ความงามหรูระดับโลกทุกคนควรให้ความสำคัญกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย เนื่องจากตลาดเหล่านี้มีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำการเติบโตระยะต่อไปในแวดวงลักซ์ชัวรีบิวตี้ ทั้งนี้เพื่อผงาดขึ้นอย่างประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูง แบรนด์ต่าง ๆ ควรมีกลยุทธ์ที่สอดคล้องกันเพื่อก้าวข้ามอุปสรรค และอาศัยพลังจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเป็นดิจิทัล การวิเคราะห์ข้อมูล และการสนับสนุนระบบนิเวศ เพื่อปรับปรุงการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการและความยืดหยุ่นโดยรวม"
ดร.โวล์ฟกัง ไบเออร์ (Wolfgang Baier) ซีอีโอกลุ่มบริษัทลัคซ์เอเซีย ยืนยันเรื่องนี้และกล่าวเสริมว่า "เราไม่ควรพลาดโอกาสทองที่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว แบรนด์น้องใหม่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อคว้าโอกาสในการเติบโต ส่วนแบรนด์ที่มีอยู่ในตลาดควรกระตุ้นการดำเนินงานในทุกช่องทาง เพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงานมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตลาดที่ดีขึ้น ลัคซ์เอเซียพร้อมที่จะร่วมมือกับแบรนด์ความงามหรูทุกแบรนด์เพื่อการเติบโตและความสำเร็จระยะยาวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย ด้วยการสนับสนุนจากผลงานที่ผ่านมา เครือข่ายออมนิเชิงลึก และความเชี่ยวชาญในการสร้างแบรนด์"
[1] จากรายงานการวิเคราะห์ของยูโรมอนิเตอร์ และเคียร์เน่-ลัคซ์เอเซีย
[2] จากรายงานการวิเคราะห์ของธนาคารโลก ยูโรมอนิเตอร์ และเคียร์เน่-ลัคซ์เอเซีย
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2245438/Whitepaper_unravels_opportunities_challenges_solutions_luxury_brands_Asia_revealing_Southeast.jpg
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2245439/Southeast_Asia_markets_Malaysia_Thailand_Indonesia_Philippines_Vietnam_India_reaching.jpg