จีนได้จัดการประชุมทางการเงินครั้งสำคัญที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันจันทร์และอังคารที่ผ่านมา เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาการเงินของจีน
การประชุมนี้คือการประชุมการเงินกลาง ซึ่งจัดทุก 5 ปี ถือเป็นการประชุมทางการเงินที่สำคัญที่สุดของจีน และกำหนดแนวทางการพัฒนาและปฏิรูปการเงินของประเทศในระยะต่อไป
จุดเด่นของการประชุมในปีนี้คือการออกข้อกำหนดใหม่หลายข้อ ซึ่งรวมถึงการสร้างจีนให้เป็น "ประเทศการเงินชั้นนำ" และการสำรวจ "เส้นทางการพัฒนาการเงินในลักษณะเฉพาะของจีน" ส่งสัญญาณใหม่ถึงงานด้านการเงินในอนาคตของจีน
หลิว เสี่ยวชุน (Liu Xiaochun) ศาสตราจารย์สมทบของสถาบันการเงินขั้นสูงเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Advanced Institute of Finance) แห่งมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง (Shanghai Jiao Tong University) เปิดเผยว่า การยกแนวความคิดในการสร้าง "ประเทศการเงินชั้นนำ" ขึ้นมา เผยให้เห็นว่า การเงินมีบทบาท และตำแหน่งที่สำคัญมากขึ้น ต่อเศรษฐกิจทั้งมวลของประเทศ
การเปิดกว้างทางการเงินระดับสูง
ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความพยายามในการส่งเสริมการเปิดกว้างทางการเงินในระดับสูง
ทั้งนี้โดยจำเป็นต้องเพิ่มการเปิดกว้างของสถาบันในภาคส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง ยกระดับการลงทุนข้ามพรมแดน และการอำนวยความสะดวกทางการเงิน โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดสถาบันการเงินต่างประเทศและเงินทุนระยะยาวให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาธุรกิจในประเทศจีน
กวน เทา (Guan Tao) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากแบงค์ออฟไชน่า ซิเคียวริตีส์ (Bank of China Securities) เปิดเผยกับซีเอ็มจี (CMG) ว่า ในอนาคต จีนจะพยายามทำให้แน่ใจว่ากฎเกณฑ์ทางการเงินของตนจะสอดคล้องกับระเบียบทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ และการเปิดกว้างในปัจจุบันจะมีความโปร่งใสและคาดเดาได้มากขึ้น
คุณกวนชี้ว่าจีนจะส่งเสริมการตลาด หลักนิติธรรม และความเป็นสากลให้ตลาดการเงินของตนต่อไป โดยใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรี ท่าเรือการค้าเสรี และศูนย์กลางทางการเงินบางแห่ง
ที่ประชุมเรียกร้องให้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและอิทธิพลของเซี่ยงไฮ้ ให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ และยกระดับสถานะของฮ่องกงให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ก็ยังควรดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ในการเพิ่มการเปิดกว้างด้วย
นับจนถึงสิ้นเดือนกันยายน มีธนาคาร 202 แห่ง จาก 52 ประเทศและภูมิภาค จัดตั้งสถาบันการเงินในจีน
ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่ามีสถาบันการเงินต่างประเทศถึง 1,110 แห่ง ที่เข้าถึงตลาดพันธบัตรของจีน โดยมีมูลค่าการถือครองสูงถึง 3.3 ล้านล้านหยวน นับจนถึงสิ้นเดือนกันยายน
สร้างความมั่นคงทางการเงินของชาติ
ที่ประชุมยังเน้นเรื่องความมั่นคงทางการเงิน เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดกว้างด้วย
ทั้งนี้โดยได้เน้นย้ำว่าความมั่นคงทางการเงิน เศรษฐกิจของประเทศ และการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน จะต้องเป็นแก่นของภาคการเงินตลอดไป
ข้อมูลจากธนาคารกลางจีน (PBOC) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2557 ถึงเดือนกันยายน 2566 จีนมียอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวนที่ปล่อยสู่ภาคเศรษฐกิจจริงพุ่งสูงเป็นกว่า 230 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 32.04 ล้านล้านดอลลาร์) จาก 81.43 ล้านล้านหยวน โดยมีการเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี สอดคล้องกับการเติบโตของ GDP
อย่างไรก็ตามที่ประชุมระบุว่าด้วยปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงิน อาทิ การคอร์รัปชันทางการเงิน และประสิทธิภาพที่ยังต่ำของภาคการเงินในการรองรับเศรษฐกิจที่แท้จริง จึงยังคงมีความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ในภาคเศรษฐกิจและการเงิน
คุณกวน กล่าวว่า "ที่ประชุมได้เสนอข้อกำหนดหลายประการสำหรับขั้นตอนต่อไปในการควบคุมการเงิน โดยได้ให้คำแนะนำและกฎระเบียบ เพื่อเสริมสร้างและปรับปรุงการกำกับดูแลทางการเงิน อุดช่องโหว่ด้านกฎระเบียบ และปรับปรุงประสิทธิผลของการกำกับดูแลในอนาคต"
สิ่งที่การประชุมการเงินกลางเน้นย้ำ คือการสร้างจีนให้เป็นประเทศการเงินชั้นนำ โดยคุณกวนกล่าวว่า การเงินคือเลือดที่หล่อเลี้ยงของเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นส่วนสำคัญของความสามารถในการแข่งขันหลักของประเทศ "ดังนั้นการสร้างประเทศการเงินชั้นนำ จึงมีความจำเป็นต่อประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ"
https://news.cgtn.com/news/2023-11-01/How-China-will-expand-financial-opening-up-after-key-meeting--1onnU4kyk6c/index.html