ซาอุดีอาระเบียจารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ค้นพบ "ขวานหินโบราณขนาดยักษ์" ในเมืองอัลอูลา

ข่าวทั่วไป Tuesday November 7, 2023 14:55 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

  • เครื่องมือหินบะซอลต์เนื้อละเอียดนี้มีความยาวถึง 51.3 ซม. และคาดว่ามีอายุมากกว่า 200,000 ปี
  • อาจเป็น "ขวานหินโบราณ" ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีความเก่าแก่ย้อนไปถึงสมัยหินเก่าตอนต้น-ตอนกลาง
  • คณะนักวิจัยของราชกรรมาธิการอัลอูลากำลังเดินหน้าไขปริศนาโบราณต่อไป

คณะนักวิจัยที่กำลังปฏิบัติงานในเมืองอัลอูลา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย ได้ขุดค้นพบสิ่งที่น่าจะเป็น "ขวานหินโบราณ" ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และจากการประเมินภาคสนามในเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า สิ่งประดิษฐ์ขนาดยักษ์นี้มีความเก่าแก่ย้อนไปถึงสมัยหินเก่าตอนต้น-ตอนกลาง (Lower-Middle Palaeolithic) ด้วยอายุมากกว่า 200,000 ปี

ขวานหินโบราณนี้ถูกค้นพบโดยทีมนักโบราณคดีนานาชาติที่ทำงานร่วมกับราชกรรมาธิการอัลอูลา (Royal Commission for AlUla หรือ RCU) ภายใต้การนำของ ดร.โอเมอร์ "แคน" อักซอย (?mer "Can" Aksoy) และ ดร.จีเซม คาห์รามาน อักซอย (Gizem Kahraman Aksoy) จากบริษัท ทีออส เฮอริเทจ (TEOS Heritage) โดยทีมงานได้ทำการสำรวจพื้นที่ทะเลทรายทางตอนใต้ของเมืองอัลอูลาซึ่งเรียกว่า ที่ราบกุรห์ (Qurh Plain) เพื่อค้นหาหลักฐานการทำกิจกรรมของมนุษย์ในสมัยโบราณ

ทีมงานประสบความสำเร็จในการขุดค้นโบราณวัตถุที่แสดงให้เห็นว่าดินแดนนี้เป็นที่ตั้งของชุมชนที่คึกคักตั้งแต่ยุคอิสลามตอนต้น และการขุดค้นพบโบราณวัตถุหายากและไม่เหมือนใครนี้จะนำไปสู่การจารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของซาอุดีอาระเบียและทั่วโลก

ขวานหินโบราณนี้ทำจากหินบะซอลต์เนื้อละเอียด มีความยาว 51.3 ซม. และผ่านการใช้งานทั้งสองด้านจนมีคมที่ใช้ตัดหรือสับได้ ส่วนจะนำไปใช้งานใดบ้างนั้น ขณะนี้ทีมงานยังได้แต่คาดเดา และแม้ว่าจะมีขนาดใหญ่ แต่ขวานหินโบราณนี้สามารถถือได้สบายด้วยมือสองข้าง

การสำรวจยังคงดำเนินต่อไป และวัตถุโบราณที่ขุดค้นพบนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายสิบชิ้นที่คล้ายกันแต่มีขนาดเล็กกว่า ทางทีมงานหวังว่าการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมจะช่วยเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับต้นกำเนิดและการใช้งานวัตถุโบราณเหล่านี้ รวมถึงบุคคลที่สร้างวัตถุเหล่านี้ขึ้นเมื่อหลายแสนปีมาแล้ว

ดร.โอเมอร์ อักซอย ผู้อำนวยการโครงการ กล่าวว่า "ขวานหินโบราณนี้เป็นหนึ่งในการค้นพบที่สำคัญที่สุดที่ได้จากการสำรวจที่ราบกุรห์ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ เครื่องมือหินที่น่าทึ่งนี้มีความยาวมากกว่าครึ่งเมตร (ความยาว 51.3 ซม. ความกว้าง 9.5 ซม. ความหนา 5.7 ซม.) โดยเป็นเครื่องมือหินขนาดใหญ่ที่สุดที่ขุดค้นพบในพื้นที่ และจากการค้นหาข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพื่อเปรียบเทียบกับขวานหินโบราณที่ขุดค้นพบทั่วโลก ยังไม่เจอขวานหินโบราณที่มีขนาดใหญ่เท่านี้ ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ว่าวัตถุโบราณนี้เป็นหนึ่งในขวานหินโบราณที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ"

นอกเหนือจากการสำรวจที่ราบกุรห์แล้ว ปัจจุบัน ราชกรรมาธิการอัลอูลายังดูแลโครงการด้านโบราณคดีอีก 11 โครงการในเมืองอัลอูลาและเมืองเคย์บาร์ (Khaybar) ที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งโครงการวิจัยอันยิ่งใหญ่นี้กำลังดำเนินการโดยมีเป้าหมายเพื่อไขความลับของยุคโบราณในภูมิภาคนี้ และการค้นพบที่ไม่ธรรมดาครั้งล่าสุดนี้ตอกย้ำว่ายังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในซาอุดีอาระเบีย

โบราณคดีเป็นองค์ประกอบสำคัญของการฟื้นฟูเมืองอัลอูลาอย่างครอบคลุม ในฐานะจุดหมายปลายทางชั้นนำระดับโลกในด้านมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ

โครงการด้านโบราณคดี 12 โครงการที่ดำเนินการในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2566 ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคม ถือเป็นการวิจัยและการอนุรักษ์ทางโบราณคดีที่มีความเข้มข้นมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยภารกิจนี้จะดำเนินต่อไปพร้อมกับภารกิจเพิ่มเติมในช่วงฤดูหนาวจนถึงฤดูใบไม้ผลิปี 2567

โครงการที่ดำเนินการในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2566 เป็นการรวมตัวของนักโบราณคดีและผู้เชี่ยวชาญด้านมรดกทางวัฒนธรรมมากกว่า 200 คนจากนานาประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ซาอุดีอาระเบีย สวิตเซอร์แลนด์ ซีเรีย ตูนิเซีย ตุรกี และสหราชอาณาจักร โดยหลายโครงการเป็นการต่อยอดการวิจัยที่กำลังดำเนินอยู่ และในโอกาสนี้ยังมีการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาโบราณคดีมากกว่า 100 คนในซาอุดีอาระเบีย

ทั้งนี้ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา การประชุมสุดยอดโบราณคดีโลกเมืองอัลอูลา (AlUla World Archaeology Summit) ได้แสดงให้เห็นถึงจุดยืนของเมืองอัลอูลาในฐานะศูนย์กลางการทำกิจกรรมทางโบราณคดี โดยการประชุมสุดยอดดังกล่าวดึงดูดผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 300 คน จาก 39 ประเทศ และมีการเสวนาแบบสหวิทยาการโดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงโบราณคดีกับชุมชนในวงกว้าง

เกี่ยวกับราชกรรมาธิการอัลอูลา

ราชกรรมาธิการอัลอูลา (Royal Commission for AlUla หรือ RCU) ก่อตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาในเดือนกรกฎาคมปี 2560 เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาเมืองอัลอูลาในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ แผนการระยะยาวของราชกรรมาธิการอัลอูลาคือการพัฒนาเศรษฐกิจและเมืองด้วยความระมัดระวัง รับผิดชอบ และยั่งยืน พร้อมกับอนุรักษ์มรดกทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติในพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมให้เมืองอัลอูลาเป็นจุดหมายปลายทางการอยู่อาศัย ทำงาน และท่องเที่ยว เป้าหมายเหล่านี้ก่อให้เกิดโครงการมากมายทั้งในด้านโบราณคดี การท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา และศิลปะ ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ การสร้างพลังให้กับชุมชน และการอนุรักษ์มรดกตกทอดตามวิสัยทัศน์ปี 2573 หรือ Vision 2030 ของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

เกี่ยวกับทีออส เฮอริเทจ

ทีออส เฮอริเทจ (TEOS Heritage) ในเมืองอิซเมียร์ ประเทศตุรกี เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านแหล่งมรดกที่มีความเชี่ยวชาญในภูมิภาคเอเชียตะวันตก บริษัทให้คำแนะนำและคำปรึกษาด้านโบราณคดีและสถาปัตยกรรม พร้อมให้บริการประเมินแหล่งมรดกและสำรวจพื้นที่ โดยมีทักษะความเชี่ยวชาญในด้านงานโบราณคดีภาคสนาม การบันทึกข้อมูลแหล่งมรดก การจัดเตรียมรายงานและสิ่งพิมพ์ รวมถึงกลยุทธ์การจัดการแหล่งมรดก

รูปภาพ: https://mma.prnewswire.com/media/2268730/Hand_Axe_In_Situ.jpg
รูปภาพ: https://mma.prnewswire.com/media/2268729/Dr_Omer_Aksoy.jpg
รูปภาพ: https://mma.prnewswire.com/media/2268731/Hand_Axe_via_Magnifying_Lamp.jpg
รูปภาพ: https://mma.prnewswire.com/media/2268736/Three_Hand_Axe_Artefacts.jpg


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ