นิวยอร์ก--24 ก.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์ — เอเชียเน็ท / อินโฟเควสท์
บลูมเบิร์ก และ เกตส์ ร่วมลงทุนกว่า 500 ล้านดอลลาร์เพื่อต่อต้านการสูบบุหรี่ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศใช้มาตรการอย่างเป็นรูปธรรมในการลดการสูบบุหรี่เพื่อรักษาชีวิตของผู้คนทั่วโลก
ไมเคิล บลูมเบิร์ก และ บิล เกตส์ จับมือกันต่อต้านการสูบบุหรี่ซึ่งกำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยเงินลงทุนร่วมกันกว่า 500 ล้านดอลลาร์ จะช่วยให้รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาสามารถกำหนดนโยบายและเพิ่มงบประมาณในการควบคุมการสูบบุหรี่ในประเทศของตนได้ จากการศึกษาพบว่าหากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ผู้คน 1 พันล้านคนหรือกว่า 2 ใน 3 ของประชากรในประเทศกำลังพัฒนา อาจเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ได้ ทั้งนี้ พอลล่า จอห์นส์ กรรมการบริหารพันธมิตรเพื่อการควบคุมการสูบบุหรี่แห่งบราซิล และ ชาร์ลี โรส ผู้สื่อข่าวชื่อดัง ต่างก็มีส่วนร่วมกับบลูมเบิร์ก และ เกตส์ ในการประกาศปณิธานดังกล่าวเช่นกัน
โครงการบลูมเบิร์กเพื่อลดการสูบบุหรี่ (The Bloomberg Initiative to Reduce Tobacco Use) ซึ่งก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2548 และมีเงินทุนกว่า 125 ล้านดอลลาร์ จะเติบโตกว่าเดิมด้วยงบประมาณเพิ่มเติมกว่า 250 ล้านดอลลาร์สำหรับการดำเนินโครงการเป็นระยะเวลา 4 ปี ส่งผลให้ปัจจุบันบลูมเบิร์กมีงบประมาณดำเนินโครงการรวมทั้งหมด 375 ล้านดอลลาร์
ในขณะเดียวกัน มูลนิธิ บิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ (The Bill and Melinda Gates Foundation) ก็ประกาศลงทุนมูลค่า 125 ล้านดอลลาร์ในโครงการต่อต้านการสูบบุหรี่เป็นระยะเวลา 5 ปี พร้อมบริจาคเงิน 24 ล้านดอลลาร์ให้กับโครงการบลูมเบิร์ก นอกจากนั้นมูลนิธิเกตส์ยังสนับสนุนความพยายามในการลดอัตราการสูบบุหรี่ในประเทศจีนและอินเดีย รวมถึงช่วยป้องกันมิให้การสูบบุหรี่แพร่หลายในแอฟริกาด้วย
โครงการบลูมเบิร์กมีจุดยืนที่ชัดเจนในการสนับสนุนนโยบายการขึ้นภาษีบุหรี่ การเปลี่ยนภาพลักษณ์ของบุหรี่ การปกป้องผู้ที่ไม่สูบบุหรี่มิให้ถูกทำร้ายโดยควันบุหรี่ และการช่วยให้ผู้ติดบุหรี่เลิกสูบบุหรี่ นอกจากนั้นยังสนับสนุนความพยายามของภาครัฐในการให้ความรู้ ปรับเปลี่ยนทัศนคติ รวมถึงตรวจสอบและควบคุมการใช้บุหรี่ ทั้งนี้ เงินบริจาคที่มูลนิธิเกตส์ให้กับโครงการบลูมเบิร์กจะช่วยให้มาตรการควบคุมการสูบบุหรี่ในนาม MPOWER ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพตลอด 2 ปีหลังจากนี้
“ตอนที่ผมประกาศเปิดตัวโครงการนี้ ผมได้พูดไว้ว่าผมหวังว่าทุกคนจะร่วมมือกันอย่างเต็มที่” บลูมเบิร์ก กล่าว “ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ บิล และ เมลินดา เกตส์ ให้การสนับสนุนหนึ่งในโครงการเพื่อสุขภาพที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน และด้วยความช่วยเหลือของเรา รัฐบาลหลายประเทศจะสามารถรับมือกับการสูบบุหรี่ที่กำลังลุกลามไปทั่วโลกได้โดยผ่านมาตรการ MPOWER ซึ่งให้การสนับสนุนมาตรการควบคุมการสูบบุหรี่ การขึ้นภาษีบุหรี่ การให้ความรู้กับประชาชน การสร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่สาธารณะ และการต่อต้านการโฆษณาบุหรี่”
“โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากการสูบบุหรี่ถือเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่สุดสำหรับประเทศกำลังพัฒนา” บิล เกตส์ ประธานร่วมของมูลนิธิเกตส์ กล่าว “แต่อย่างน้อยเราก็มีวิธีป้องกันมิให้โรคร้ายดังกล่าวคร่าชีวิตผู้คนหลายล้านคน และปัจจุบันก็มีหลายฝ่ายที่กำลังพยายามอย่างหนักในการแก้ปัญหาดังกล่าว เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้การสนับสนุนนายกเทศมนตรีบลูมเบิร์ก ผู้ที่ต่อสู้กับการสูบบุหรี่ในมหานครนิวยอร์กและทั่วโลกมาโดยตลอด”
บลูมเบิร์ก และ เกตส์ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลและผู้นำทางธุรกิจร่วมกันต่อต้านการสูบบุหรี่ด้วยการช่วยเพิ่มช่องทางในการควบคุมการสูบบุหรี่และสนับสนุนนโยบายเพื่อลดการสูบบุหรี่ ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า ประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางซึ่งมีประชากรร่วม 3.9 พันล้านคน มีค่าใช้จ่ายในการควบคุมการสูบบุหรี่รวมกันไม่ถึง 20 ล้านดอลลาร์ต่อปี ทั้งที่มีการเก็บภาษีบุหรี่ได้กว่า 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์
มหานครนิวยอร์กประกาศตัวเป็นเมืองปลอดบุหรี่เมื่อปี พ.ศ.2545 ซึ่งในขณะนั้นมีเพียงรัฐเดียวในสหรัฐอเมริกาที่ปลอดบุหรี่ และไม่มีประเทศใดในโลกเลยที่ปลอดบุหรี่ แต่ในปัจจุบัน หลายรัฐในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศเริ่มประกาศตัวเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ ในขณะเดียวกันความสำเร็จในการต่อต้านการสูบบุหรี่ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก อาทิ
- 24 รัฐในสหรัฐอเมริกา (รวมถึงนิวยอร์กและวอชิงตัน) รวมถึงเขตโคลัมเบีย มีกฎหมายกำหนดให้ร้านอาหารและบาร์เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100%
- อุรุกวัย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ อิตาลี และไอร์แลนด์ เป็นประเทศปลอดบุหรี่
- เมืองใหญ่อย่างเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก, อาบูจา ประเทศไนจีเรีย, ปักกิ่ง ประเทศจีน และเมืองอื่นๆ ที่ใช้จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก มีการใช้กฎหมายปลอดบุหรี่
- อุรุกวัย ตุรกี และอีกหลายประเทศ ใช้มาตรการ MPOWER ในการควบคุมการสูบบุหรี่
- อียิปต์ เพิ่งประกาศขึ้นภาษีบุหรี่เมื่อไม่นานมานี้
- บราซิลและอีกหลายประเทศ ติดภาพบนซองบุหรี่เพื่อเตือนให้เห็นถึงอันตรายของการสูบบุหรี่
- ฟิลิปปินส์มีกฎหมายห้ามมิให้มีการโฆษณาบุหรี่ผ่านสื่อทุกรูปแบบ
เมื่อช่วงต้นปีนี้ บลูมเบิร์ก และ มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ได้เปิดตัวมาตรการ MPOWER เพื่อช่วยให้รัฐบาลของนานาประเทศเลือกใช้มาตรการที่เหมาะสมที่สุดในการต่อต้านการสูบบุหรี่ในประเทศของตน ทั้งนี้ แม้มาตรการ MPOWER จะได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถช่วยลดการสูบบุหรี่ได้อย่างรวดเร็วและช่วยรักษาชีวิตผู้คนได้เป็นจำนวนมาก แต่กลับมีประชากรเพียง 5% จากทั้งหมดทั่วโลกที่มีโอกาสร่วมในโครงการใดโครงการหนึ่งของ MPOWER
วัตถุประสงค์หลัก 6 ประการของมาตรการ MPOWER ประกอบด้วย
ตรวจสอบการสูบบุหรี่และกำหนดนโยบายป้องกัน
ปกป้องประชาชนจากควันบุหรี่
ให้ความช่วยเหลือในการเลิกสูบบุหรี่
เตือนภัยอันตรายจากบุหรี่
ต่อต้านการโฆษณาบุหรี่
สนับสนุนการขึ้นภาษีบุหรี่
“บิลและผมต้องการให้ทุกคนเห็นถึงความร้ายแรงของปัญหาดังกล่าว รวมถึงกระตุ้นให้รัฐบาลและประชาคมโลกร่วมเคลื่อนไหวเพื่อยับยั้งการสูบบุหรี่ที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วโลก” บลูมเบิร์ก กล่าว “เราขอให้รัฐบาลนานาประเทศแสงความเป็นผู้นำด้วยการเริ่มใช้มาตรการควบคุมการสูบบุหรี่และเพิ่มงบประมาณเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาดังกล่าว”
ข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่
- ปัจจุบันมีผู้สูบบุหรี่กว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก (หรือกว่า 1 ใน 4 ของผู้ใหญ่ทั้งหมด) และบุหรี่เป็นปัจจัยเดี่ยวที่คร่าชีวิตผู้คนมากกว่าปัจจัยเดี่ยวอื่นๆ
- ผู้สูบบุหรี่กว่าครึ่งเสียชีวิตหากไม่เลิกสูบบุหรี่และจำนวนมากต้องกลายเป็นผู้พิการ โดยผู้เสียชีวิตจากบุหรี่มีอายุขัยลดลงเฉลี่ย 10-15 ปี ส่วนผู้ได้รับควันบุหรี่มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคปอด โรคมะเร็ง หรือโรคอื่นๆ สำหรับสตรีมีครรภ์อาจทำให้เด็กเสียชีวิตหรือมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่ามาตรฐาน
- ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่กว่า 5 ล้านคน ซึ่งมากกว่าผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรียรวมกัน และหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน บุหรี่อาจคร่าชีวิตผู้คนได้มากกว่า 1 พันล้านคน
- ภายในปี พ.ศ.2573 กว่า 80% ของการเสียชีวิตจากบุหรี่ทั่วโลกจะเกิดขึ้นกับประชากรในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง
- กลุ่มครัวเรือนที่ยากจนที่สุดในบังกลาเทศใช้เงินซื้อบุหรี่มากกว่าใช้เงินเพื่อการศึกษาถึง 10 เท่า
- ในประเทศจีนซึ่งมีผู้สูบบุหรี่ 350 ล้านคนหรือมากเป็นอันดับ 3 ของโลก ค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาโรคที่เกิดจากบุหรี่ส่งผลให้ประชากรกว่า 50 ล้านคนตกอยู่ในภาวะยากไร้ และในแต่ละปีมีชาวจีนเสียชีวิตจากบุหรี่กว่าล้านคน
- ชาวอินโดนีเซียใช้เงินซื้อบุหรี่มากกว่าใช้เงินเพื่อการศึกษาราว 2.5 เท่า และใช้เงินซื้อบุหรี่มากกว่าใช้เพื่อการรักษาสุขภาพถึง 3.2 เท่า ทั้งนี้ ขนบธรรมเนียมอินโดนีเซียในอดีตไม่ยอมรับผู้หญิงที่สูบบุหรี่ แต่ในปัจจุบันกลับเห็นว่าเป็นค่านิยมที่ทันสมัย โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ต่างๆ
- ในอินเดีย คาดว่าการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มขึ้นจากปีละ 700,000 ราย เป็น 930,000 ราย ภายในปี พ.ศ.2553 ปัจจุบัน บิดิ (บุหรี่มวนเอง) มีสัดส่วนกว่า 77% ของตลาดบุหรี่ทั้งหมด โดยผลการศึกษาเผยว่าผู้สูบบุหรี่บิดิมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ถึง 5-6 เท่า
- ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดว่าการควบคุมการสูบบุหรี่เป็นวิธีต่อต้านบุหรี่ที่ได้ผลจริง โดยหลายโครงการสามารถช่วยให้อัตราการสูบบุหรี่ในระดับสูงลดต่ำลง และป้องกันมิให้อัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่มีอัตราการสูบบุหรี่ต่ำอยู่แล้ว
เกี่ยวกับ โครงการบลูมเบิร์ก
- โครงการบลูมเบิร์กเพื่อลดการสูบบุหรี่ ให้การสนับสนุนภาครัฐและเอกชนในการต่อต้านการสูบบุหรี่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง โดยเฉพาะจีน อินเดีย อินโดนีเซีย สหพันธรัฐรัสเซีย และบังกลาเทศ
- โครงการบลูมเบิร์กสนับสนุนโครงการฝึกอบรม การทำเวิร์กช็อปด้านการสื่อสารมวลชน การปรับปรุงการให้ความรู้กับประชาชนในประเทศ การจับตาดูสถานการณ์การสูบบุหรี่ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก และการสำรวจความแพร่หลายของการสูบบุหรี่ตามครัวเรือน
- หนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของโครงการบลูมเบิร์กคือ การให้เงินทุนสำหรับการควบคุมการสูบบุหรี่กับประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางผ่านโครงการมอบทุน (www.tobaccocontrolgrants.org) จนถึงปัจจุบันทางโครงการได้มอบทุนกว่า 125 ทุนให้กับ 36 ประเทศทั่วโลก
- โครงการบลูมเบิร์กเพื่อลดการสูบบุหรี่ถูกนำไปใช้ผ่านองค์กรพันธมิตร 5 แห่ง ได้แก่ โครงการเด็กปลอดบุหรี่ (the Campaign for Tobacco Free Kids), มูลนิธิแห่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (the Centers for Disease Control and Prevention Foundation), วิทยาลัยสาธารณสุข จอห์นส์ ฮอปกินส์ บลูมเบิร์ก (the Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health), องค์การอนามัยโลก (the World Health Organization) และ มูลนิธิโรคปอดโลก (the World Lung Foundation)
การควบคุมการสูบบุหรี่ในมหานครนิวยอร์ก
- โครงการควบคุมการสูบบุหรี่ในมหานครนิวยอร์ก สนับสนุนการขึ้นภาษีบุหรี่ การทำให้สถานที่ทำงานปลอดบุหรี่อย่างเป็นรูปธรรม การให้ความรู้กับประชาชน การช่วยให้ผู้ติดบุหรี่เลิกสูบบุหรี่ รวมถึงการติดตามอัตราการสูบบุหรี่และผลการดำเนินงานของโครงการ
- จากสถิติพบว่าอัตราการสูบบุหรี่ในนิวยอร์กไม่เคยลดลงเลยตลอดระยะเวลา 10 ปีก่อนที่โครงการนี้จะริเริ่มขึ้น แต่ในช่วงปี พ.ศ.2545-2550 ซึ่งนิวยอร์กอยู่ภายใต้การบริหารของนายกเทศมนตรีบลูมเบิร์ก จำนวนผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ก็ลดลงกว่า 300,000 ราย หรือจาก 21.6% เหลือ 17.6% ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตจากบุหรี่ลดลงกว่า 100,000 รายในอีกหลายปีต่อจากนั้น ส่วนอัตราการสูบบุหรี่ในเยาวชนก็ลดลงจาก 17.6% ในปี พ.ศ.2544 เหลือ 8.5% ในปี พ.ศ.2550 หรือไม่ถึง 2 ใน 3 ของจำนวนเยาวชนที่สูบบุหรี่ทั่วประเทศ
แหล่งข่าว: มูลนิธิ บิล แอนด์ เมลินดา เกตส์
ติดต่อ: มูลนิธิ บิล แอนด์ เมลินดา เกตส์
โทร: +1-206-709-3400
อีเมล์: media@gatesfoundation.org
โรเบิร์ต ลอวสัน ตัวแทนของนายกเทศมนตรีบลูมเบิร์ก
โทร: +1-212-843-8040
อีเมล์: rlawson@rubenstein.com
ท่านที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของบุหรี่ทั่วโลก กรุณาติดต่อ
วินซ์ วิลล์มอร์ จาก โครงการเด็กปลอดบุหรี่
โทร: +1-202-296-5469
เคท รัดดอน จาก มูลนิธิแห่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค
โทร: +1-404-653-0790
ทิม พาร์สัน จาก วิทยาลัยสาธารณสุข จอห์นส์ ฮอปกินส์ บลูมเบิร์ก
โทร: +1-410-955-7619
ดร.จูดิธ แม็คเคย์ จาก มูลนิธิโรคปอดโลก
โทร: +852-2719-1995
มาร์ธา ซีโอเน จาก องค์การอนามัยโลก
โทร: +412-2791-2489
เว็บไซต์: http://www.tobaccocontrolgrants.org
--เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท ( www.asianetnews.net ) --