มุมไบ--10 มี.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์ — เอเชียเน็ท / อินโฟเควสท์
ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมารวมตัวกันที่การประชุมการควบคุมยาสูบโลก เพื่อถกประเด็นการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษา
แกล็กโซสมิธไคลน์ คอนซูเมอร์ เฮลท์แคร์ (Glaxosmithkline Consumer Healthcare หรือ GSK) ประกาศเผยแพร่ผลิตภัณฑ์นิโคตินเพื่อการเลิกบุหรี่ หวังเข้าถึงผู้สูบบุหรี่กว่า 800 ล้านคนทั่วโลกภายใน 4 ปีข้างหน้า โดยถ้อยแถลงในครั้งนี้มีขึ้นระหว่างการประชุมการควบคุมยาสูบโลก (World Conference on Tobacco OR Health หรือ WCTOH) ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี และในปีนี้จัดที่อินเดีย ประเทศที่คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตเพราะบุหรี่ราว 1 ล้านคนต่อปีภายในปีหน้า(1) ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกจะรวมตัวกันเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการสูบบุหรี่และป้องกันโรคภัยที่เกิดจากการสูบบุหรี่
“แกล็กโซสมิธไคลน์ต้องการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกสูบบุหรี่เพื่อเข้าถึงกลุ่มนักสูบกว่า 85% ทั่วโลกภายในปี พ.ศ.2556 เราจะร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละท้องถิ่นเพื่อเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ของเราให้มากที่สุด” ดร.ราช มิชรา รองประธานฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบริษัท กล่าว “เราหวังว่าการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์นิโคตินไปทั่วโลกจะช่วยให้นักสูบเลิกสูบบุหรี่และป้องกันโรคภัยที่เกิดจากการสูบบุหรี่ได้ไม่มากก็น้อย”
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) รายงานว่า การสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศยากไร้ อันเป็นผลมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นพรวดพราดบวกกับอุตสาหกรรมยาสูบที่พยายามขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นรายงานดังกล่าวยังระบุว่า หากนักสูบไม่ได้รับความช่วยเหลือในการเลิกบุหรี่ จะมีนักสูบกว่า 1 พันล้านคนที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรในช่วงศตวรรษนี้(2) ดังนั้น องค์การอนามัยโลกจึงสนับสนุนให้ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกให้ความช่วยเหลือนักสูบในการเลิกสูบบุหรี่ผ่าน 3 วิธีการ ได้แก่ การให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ การให้คำปรึกษาผ่านศูนย์สุขภาพในท้องถิ่น และการรักษาด้วยยา ซึ่งรวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์นิโคตินด้วย(2)
“มีนักสูบจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเลิกบุหรี่แต่กลับไม่มีข้อมูลสำหรับการเลิกบุหรี่ให้ได้ผล การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่จึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะนำไปสู่โลกที่ปลอดบุหรี่ได้” ศจ.ดร.แรนดีป กูเลอเรีย แผนกอายุรกรรม สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ออล อินเดีย กล่าว “การที่รัฐบาลอินเดียรับรองกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะถือเป็นการส่งสัญญาณให้นักสูบกว่า 120 ล้านคนทั่วประเทศ(1) ตระหนักว่ารัฐบาลเริ่มจริงจังกับการควบคุมการแพร่กระจายของบุหรี่ในประเทศแล้ว และผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ก็เป็นหนทางที่จะช่วยให้อินเดียแก้ปัญหาสุขภาพได้เป็นอย่างดี”
ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสูบบุหรี่
- การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเสียชีวิตและการเกิดโรคที่สามารถป้องกันได้ โดยในช่วงศตวรรษที่ 21 คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่กว่า 1 พันล้านคน หากยังไม่มีการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่อย่างจริงจัง(2)
- ผู้ใหญ่กว่า 1 ใน 3 ทั่วโลก (มากกว่า 1.1 พันล้านคน) สูบบุหรี่ และกว่า 80% มาจากประเทศยากไร้และประเทศที่มีฐานะปานกลาง(2)
- หากพฤติกรรมการสูบบุหรี่ยังดำเนินต่อไปเช่นนี้ ภายในปี พ.ศ.2563 จะมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ราว 10 ล้านคนต่อปี และ 70% ของทั้งหมดจะอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา(2)
- เฉพาะในสหรัฐอเมริกา บุหรี่ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเกือบ 2 แสนล้านดอลลาร์ โดยเป็นค่ารักษาพยาบาล 9.6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี และค่าสูญเสียกำลังการผลิต 9.7 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี(3)
ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์นิโคตินของแกล็กโซสมิธไคลน์
ผลิตภัณฑ์นิโคตินช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งประกอบด้วยยาอม NiQuitin และพลาสเตอร์นิโคติน (ในออสเตรเลียใช้ชื่อว่า Nicabate) จะช่วยลดอาการอยากบุหรี่ในช่วงที่นักสูบพยายามอดบุหรี่(3) โดยผลการวิจัยทางคลินิกกว่า 110 การวิจัยซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 40,000 คน แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์นิโคตินของแกล็กโซสมิธไคลน์มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยหากใช้ตามคำแนะนำ(4) นอกจากนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์นิโคตินยังเป็นวิธีหลักที่ใช้ในการรักษาอาการติดบุหรี่ในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และองค์การอนามัยโลก(2, 3, 5) จนถึงปัจจุบันผลิตภัณฑ์นิโคตินของแกล็กโซสมิธไคลน์ช่วยให้นักสูบกว่า 6 ล้านคนทั่วโลกสามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ และช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่ด้วย(6)
ผลิตภัณฑ์นิโคตินของแกล็กโซสมิธไคลน์ได้รับการออกแบบมาเพื่อทำลายวงจรการสูบบุหรี่ ด้วยการค่อยๆ นำสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่จำกัด ช่วยบรรเทาอาการอยากบุหรี่ได้เป็นอย่างดี
เกี่ยวกับ แกล็กโซสมิธไคลน์ คอนซูเมอร์ เฮลท์แคร์
แกล็กโซสมิธไคลน์ คอนซูเมอร์ เฮลท์แคร์ เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพชั้นนำของโลก และเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าชื่อดังกว่า 30 แบรนด์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่อย่าง NicoDerm(R), CQ and Commit(R), NiQuitin(R) และ Nicabate(R) รวมถึงผลิตภัณฑ์ชื่อดังอื่นๆ อาทิ Aquafresh(R), Panadol(R), Crocin(R), Horlicks(R) และ Sensodyne(R)ทั้งนี้ แกล็กโซสมิธไคลน์ คอนซูเมอร์ เฮลท์แคร์ ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยให้ผู้สูบบุหรี่สามารถบรรลุจุดมุ่งหมายในการเลิกสูบบุหรี่ได้
เกี่ยวกับ แกล็กโซสมิธไคลน์
แกล็กโซสมิธไคลน์ เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลกด้านการดูแลสุขภาพและเภสัชกรรม บริษัทมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน ด้วยการช่วยทำให้พวกเขาสามารถทำอะไรๆได้มากขึ้น รู้สึกดีขึ้น และมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น
เอกสารอ้างอิง
(1) Jha, et al; A Nationally Representative Case - Control Study of
Smoking and Death in India; NEJM, 2008
(2) World Health Organization. WHO Report on the Global Tobacco Epidemic,
2008. Geneva: World Health Organization; 2008 [cited 2008 Mar 21]. Available
from: http://www.who.int/tobacco/mpower/en/
(3) Fiore MC, Jaen CR, Baker TB, et al. Treating Tobacco Use and
Dependence: 2008 Update. Clinical Practice Guideline. Rockville, MD: U.S.
Department of Health and Human Services. Public Health Service. May 2008.
(4) Silagy et al. Nicotine replacement therapy for smoking cessation
(Cochrane Review). In: The Cochrane Library, Issue 1, 2004. Chichester, UK:
John Wiley & Sons, LTD.
(5) NICE. 2002. Guidance on the use of nicotine replacement therapy (NRT)
and bupropion for smoking cessation. Technology Appraisal Guidance - No.39.
(6) Centers for Disease Control and Prevention. Use of FDA-approved
pharmacologic treatments for tobacco dependence. Morbidity and Mortality
Weekly Report 2000; 49: 665-668.
ติดต่อ : มาร์ก โพลิสกี้
จาก โกลินแฮร์ริส
โทร: +1-312-729-4417
อีเมล: mpolisky@golinharris.com
เจนนิเฟอร์ เมย์
จากแกล็กโซสมิธไคลน์ คอนซูเมอร์ เฮลท์แคร์
โทร: +1-412-200-3729
อีเมล: Jennifer.L.May@gsk.com
แหล่งข่าว: แกล็กโซสมิธไคลน์ คอนซูเมอร์ เฮลท์แคร์
ติดต่อ : มาร์ก โพลิสกี้ จากโกลินแฮร์ริส
โทร: +1-312-729-4417
อีเมล: mpolisky@golinharris.com
เจนนิเฟอร์ เมย์ จากแกล็กโซสมิธไคลน์ คอนซูเมอร์ เฮลท์แคร์
โทร: +1-412-200-3729
อีเมล: Jennifer.L.May@gsk.com
--เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท ( www.asianetnews.net ) --