นิวยอร์ก--21 ก.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์ — เอเชียเน็ท / อินโฟเควสท์
รายงานอัลไซเมอร์โลก 2009 ของสมาพันธ์อัลไซเมอร์สากล (Alzheimer's Disease International: ADI) ระบุว่า ในปีหน้าทั่วโลกจะมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมกว่า 35 ล้านคน โดยรายงานดังกล่าวได้รับการเปิดเผยในวันนี้ (21 กันยายน 2552) เนื่องในวันอัลไซเมอร์โลก
ตัวเลขผู้ป่วยดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ถึง 10% นอกจากนั้นรายงานล่าสุดยังระบุว่าจำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าทุก 20 ปี ดังนั้นในปี 2573 จะมีผู้ป่วยถึง 65.7 ล้านคน และพุ่งถึง 115.4 ล้านคนในปี 2593
นักวิจัยเผยว่าจำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นทั่วโลกเพราะจำนวนผู้ป่วยในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้นใน 3 ภูมิภาค ได้แก่ ยุโรปตะวันตก (7.29% จาก 5.92%), เอเชียใต้ (5.65% จาก 3.40%) และลาตินอเมริกา (8.50% จาก 7.25%) แต่ลดลงในเอเชียตะวันออก (4.98% จาก 6.46%) และเท่ากันในอเมริกาเหนือ
นักวิจัยกล่าวว่าในปีหน้า 57.7% ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจะอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง และจะเพิ่มขึ้นแตะ 70.5% ภายในปี 2593 นอกจากนั้นในระยะเวลา 20 ปีต่อจากนี้ สัดส่วนการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางจะมีมากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้สูง
“ข้อมูลจากรายงานอัลไซเมอร์โลก 2009 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเราไม่สามารถเพิกเฉยต่อโรคอัลไซเมอร์และสมองเสื่อมได้อีกต่อไป” มาร์ก วอร์ธมานน์ กรรมการบริหารสมาพันธ์ ADI กล่าว “หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัย โรคอัลไซเมอร์จะสร้างภาระอันหนักหน่วงให้กับผู้ป่วย ครอบครัว ไปจนถึงระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจโลก”
“เราต้องจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการให้เงินสนับสนุนด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม รวมถึงให้เงินทุนในการวิจัยด้วย” วอร์ธมานน์ กล่าว “ปัจจุบัน ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เกาหลี และสหราชอาณาจักร ได้มีการพัฒนาแผนระดับชาติเพื่อจัดการกับโรคอัลไซเมอร์ และอีกหลายประเทศก็กำลังพัฒนาแผนดังกล่าวอยู่ ดังนั้นเราขอสนับสนุนให้ประเทศอื่นๆ พัฒนาแผนดังกล่าวขึ้นมาเช่นกัน”
ผลกระทบทางอารมณ์และการเงินสืบเนื่องมาจากโรคสมองเสื่อม
ในบทที่ 2 ของรายงานอัลไซเมอร์โลก 2009 ได้กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดจากโรคสมองเสื่อม โดยโรคสมองเสื่อมสามารถส่งผลกระทบได้ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และการเงิน ทั้งต่อตัวผู้ป่วย ผู้ดูแล ครอบครัว เพื่อน ไปจนถึงระบบสาธารณสุขและสังคมโดยรวม โดยข้อมูลสถิติในรายงานระบุว่า 40-75% ของผู้ดูแลผู้ป่วยจะเกิดการเจ็บป่วยทางร่างกายอันเป็นผลมาจากการดูแลผู้ป่วย และ 15-32% เกิดภาวะซึมเศร้า
รายงานดังกล่าวยังระบุถึงปัญหาต่างๆ ที่ภาครัฐและระบบสาธารณสุขทั่วโลกอาจต้องเผชิญ และได้ให้ข้อเสนอแนะ 8 ข้อซึ่งอ้างอิงจากผลวิจัย
ท่านที่สนใจสามารถดูรายงานอัลไซเมอร์โลก 2009 ฉบับเต็มได้ที่ http://www.alz.co.uk/worldreport
โรคสมองเสื่อมเป็นโรคทางสมองที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถทางปัญญาของผู้ป่วย ซึ่งรวมถึงความจำ การเรียนรู้ ความเข้าใจ ภาษา และการตัดสินใจ โดยเฉพาะอัลไซเมอร์เป็นโรคที่สามารถมีอาการรุนแรงขึ้นจนทำให้เสียชีวิตได้ ปกติโรคดังกล่าวจะเกิดกับผู้สูงอายุโดยเฉพาะที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และหลังช่วงอายุดังกล่าวจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุกๆ 5 ปี ทั้งนี้ โรคสมองเสื่อมเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้คนชรากลายเป็นผู้ไร้สมรรถภาพ โดยมีโรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการสมองเสื่อม และมีโรคสมองเสื่อมที่เกิดจากเส้นเลือดในสมอง โรคสมองเสื่อมที่เกิดจาก Lewy bodies และโรคสมองเสื่อมที่เกิดจากการขาดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่วนหน้าและส่วนข้าง เป็นสาเหตุรอง
วันที่ 21 กันยายนเป็นวันอัลไซเมอร์โลก ซึ่งหน่วยงานด้านอัลไซเมอร์จากทั่วโลกจะช่วยกันกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของโรคนี้ ท่านที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ http://www.alz.co.uk/adi/wad/
สมาพันธ์อัลไซเมอร์สากล เป็นองค์กรระดับนานาชาติซึ่งเป็นจัวแทนของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ 71 สมาคมจากทั่วโลก โดยสมาชิกแต่ละรายเป็นสมาคมอัลไซเมอร์ระดับชาติของประเทศตนเอง ซึ่งคอยช่วยเหลือผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมและครอบครัว ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักของ ADI คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคจิตสมองและครอบครัวจากทั่วโลก สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.alz.co.uk/adi/
แหล่งข่าว: สมาคมอัลไซเมอร์
ติดต่อ: สมาคมอัลไซเมอร์
โทร: +1-312-335-4078
อีเมล: media@alz.org
-- เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท ( www.asianetnews.net ) --