อิงเกลไฮม์--28 ก.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์ — เอเชียเน็ท / อินโฟเควสท์
หลังจากที่ได้เปิดเผยผลการทดสอบขั้นที่ 2 ของยา Linagliptin ไปเมื่อช่วงต้นปี บัดนี้บริษัท โบริงเกอร์ อิงเกลไฮม์ (Boehringer Ingelheim) ขอประกาศบทสรุปของการทดลองในขั้นที่ 3 โดยบริษัทขอยืนยันว่าข้อมูลแรกที่ได้จากการทดลองขั้นที่ 3 สนับสนุนผลการทดสอบในขั้นที่ 2 ที่ระบุว่ายา Linagliptin มีประสิทธิภาพในการลดปริมาณ haemoglobin A1c (HbA1c) (-0.73%, 5 mg dose) ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็มีความปลอดภัยเทียบเท่ากับยา placebo (ยาที่มีผลทางจิตใจแต่ไม่มีฤทธิ์ในการรักษา)
Linagliptin เป็นยาตัวหนึ่งในตระกูลยาต้าน DPP-4 และถูกพัฒนาให้เป็นยารับประทานวันละครั้งสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และสำหรับการทดลองขั้นที่ 3 นี้เป็นการทดลองในผู้ป่วยกว่า 4,000 คน ใน 40 ประเทศทั่วโลก โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา Linagliptin เมื่อใช้เพียงตัวเดียวและเมื่อใช้ร่วมกับยารักษาโรคเบาหวานอื่นๆ อาทิ Metformin, Sulfonylurea และ Thiazolidinedione (TZD) ทั้งนี้ โปรแกรมการทดสอบยา Linagliptin ประกอบด้วยการศึกษาในระยะยาวรวมถึงการศึกษาเพื่อประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยา Linagliptin ในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีภาวะไตทำงานบกพร่องร่วมด้วย โดยรายละเอียดทั้งหมดของการทดสอบขั้นที่ 3 จะได้รับการเปิดเผยในการประชุมวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติหลายการประชุมนับตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป
ศจ.แอนโทนี บาร์เน็ตต์ ผู้อำนวยการแผนกโรคเบาหวานและโรคต่อมไร้ท่อ จาก Heart of England NHS Foundation Trust ในเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร กล่าวว่า “ทุก 10 วินาทีจะมีผู้ป่วย 1 คนเสียชีวิตจากอาการที่เกี่ยวกับโรคเบาหวาน ดังนั้นการวิจัยต้องเน้นไปที่การรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพ หลีกเลี่ยงโรคข้างเคียงที่เกิดจากเบาหวาน และยับยั้งไม่ให้โรคทวีความรุนแรงขึ้น ส่วนยาสำหรับรักษาก็ต้องทานง่าย มีประสิทธิภาพในการต้านทานสูง ไม่ทำให้ประสิทธิภาพลดลงเมื่อใช้ยาหลายตัวพร้อมกัน และไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างน้ำหนักขึ้นหรือระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งสำหรับผมยาต้านกลุ่ม DPP-4 เป็นการรักษารูปแบบใหม่ที่ดีกว่ายาแบบเดิมที่เคยใช้กันมา”
“สำหรับการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่การช่วยให้ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสมเท่านั้น แต่ต้องทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวด้วย แต่ยาที่ใช้รักษาในปัจจุบันยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในระยะยาวได้ นอกจากนั้นยังอาจมีผลข้างเคียงอย่างภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำด้วย ในขณะเดียวกันยารักษาต้องป้องกันมิให้เกิดโรคแทรกซ้อนในระยะยาวซึ่งมักพบมากในผู้ป่วยโรคเบาหวานขั้นรุนแรง และต้องรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคอื่นร่วมด้วยอย่างภาวะไตทำงานบกพร่องได้ด้วย” ศจ.คลอส ดูกี หัวหน้าฝ่ายองค์กรการแพทย์สัมพันธ์ จากโบริงเกอร์ อิงเกลไฮม์ กล่าว “จนถึงตอนนี้ข้อมูลแรกจากการทดสอบขั้นที่ 3 บ่งชี้ว่ายา Linagliptin จะช่วยให้เราบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้ และการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการทดลองอย่างละเอียดจะช่วยให้เราทราบถึงประสิทธิภาพทั้งหมดของยา Linagliptin ในการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2”
แม้การรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะมีความก้าวหน้ากว่าเดิมมาก แต่ผู้ป่วยโรคนี้ก็ยังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ปัจจุบันคาดว่ามีผู้ป่วยโรคเบาหวานราว 250 ล้านคนทั่วโลก และสำหรับประเทศพัฒนาแล้วโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบมากที่สุดถึง 95% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด และในแต่ละปีมีผู้ป่วยถึง 3.8 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องเสียชีวิตจากโรคร้ายนี้
บ่อยครั้งที่ยารักษาโรคเบาหวานที่ใช้กันอยู่ไม่สามารถรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมียาชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพและมีความต้านทานมากกว่าเดิม ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนารวมถึงศูนย์ความรู้เฉพาะด้านเกี่ยวกับโรคการเผาผลาญของโบริงเกอร์ อิงเกลไฮม์ ในเมือง Biberach ประเทศเยอรมนี ทีมวิจัยได้ทำการคิดค้นและพัฒนายารักษาโรคเบาหวานแบบทานที่สามารถต้าน DPP (dipeptidyl peptidase)-4 และ SGLT (sodium-dependent glucose transporter)-2 ได้ ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและทุ่มเทของบริษัทในการต่อสู้กับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ซึ่งมีความรุนแรงถึงชีวิต
สามารถดูข่าวประชาสัมพันธ์ชิ้นเต็มได้ที่ http://www.boehringer-ingelheim.com/corporate/news/press_releases/detail.asp?ID=6935
(ด้วยความยาวของ URL ข้างต้น ท่านอาจต้อง copy และ paste ลิงค์ดังกล่าวลงในช่องใส่ URL address บนอินเทอร์เน็ตบราวเซอร์โดยไม่ต้องเว้นวรรค)
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ที่
http://www.youtube.com/user/diabetesmatters และ http://www. boehringer-ingelheim-webcast.com/diabetes
แหล่งข่าว: โบริงเกอร์ อิงเกลไฮม์ จีเอ็มบีเอช
-- เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท ( www.asianetnews.net ) --