ที่ประชุมนานาชาติด้านสิทธิมนุษยชนเรียกร้องกำหนดยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพระดับโลกในรูปแบบใหม่

ข่าวต่างประเทศ Friday October 30, 2009 10:34 —Asianet Press Release

ฮานอย--30 ต.ค.--มีเดียเน็ท อินเตอร์เนชั่นแนล - เอเชียเน็ท / อินโฟเควสท์ ที่ประชุมระดับนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาสิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพ (International Conference on Realising the Rights to Health Development) ให้ข้อสรุปว่า กลุ่มผู้ที่เผชิญความเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพมากที่สุดในปัจจุบัน คือ กลุ่มมารดาผู้ให้กำเนิดบุตรในท้องถิ่นชนบทที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ การพัฒนา และสิทธิมนุษยชนซึ่งเข้าร่วมประชุมที่กรุงฮานอยในสัปดาห์นี้ ได้เรียกร้องให้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพระดับโลกในรูปแบบใหม่ โดยชี้ให้เห็นถึงปัญหาด้านมนุษยธรรมซึ่งเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก รวมถึงอัตราการเสียชีวิตของมารดาที่ให้กำเนิดบุตรจำนวน 500,000 คนในแต่ละปี ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายไม่ควรแยกย้ายแก้ไขปัญหากันเอง ดังนั้น เพื่อช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนหลายพันล้านคน เราจึงต้องยอมรับจุดบกพร่องในทุกๆแง่มุม ตั้งแต่ประเด็นเรื่องสุขอนามัย โภชนาการที่เหมาะสม และการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ รวมถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ปัญหาขาดแคลนน้ำ ตลอดจนการแพร่ระบาดของเชื้อโรคต่างๆ “แต่ละปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นปัญหาที่สำคัญ แต่หากต่างฝ่ายต่างแก้ปัญหากันเองก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่จะลดอัตราการเสียชีวิตของกลุ่มมารดาผู้ให้กำเนิดบุตร หรือแม้แต่จะเดินหน้าหารือในประเด็นสำคัญเรื่องสุขภาพและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร “แดเนียล ทารันโทลา ประธานร่วมของการประชุมและศาสตราจารย์ด้านสุขภาพและสิทธิมนุษยชนจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ กล่าว ที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลที่น่าตกใจ เกี่ยวกับเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในแต่ละปี ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 2.7 ล้านคน ขณะเดียวกัน ประเทศที่มีอัตรารายได้ต่ำถึงปานกลางถูกมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญกับโรคระบาดต่างๆ เช่น H1N1 และไข้หวัดนก เนื่องจากการผลิตวัคซีนและการรักษาโรคดังกล่าวยังกระจุกตัวอยู่แต่ในกลุ่มประเทศที่ร่ำรวย ขณะที่ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การอพยพย้ายถิ่นของประชากร และการทำลายสิ่งแวดล้อมอันสืบเนื่องจากกระแสการพัฒนาความเป็นเมืองอุตสาหกรรมนั้น ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในทุกวันนี้ “หากเราหันมาทบทวนแนวทางด้านสุขภาพระดับโลกกันใหม่ โดยมุ่งเน้นถึงสิทธิด้านสุขภาพและการพัฒนาจะช่วยปูทางให้เราสามารถแก้ปัญหาด้านสุขภาพต่างๆไปได้” ดร.เกา ดัค ไท อดีตผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเวียดนามกล่าว ศาสตราจารย์ทารันโทลา กล่าวว่า การสร้างความร่วมมือที่ยืดหยุ่นนอกเหนือจากการกำหนดนโยบายสุขภาพโลกหรือการระดมทุนนั้น นับเป็นกุญแจสำคัญต่อการกำหนดต้นแบบใหม่ด้านสุขภาพและการพัฒนา ทั้งนี้ การประชุมระดับนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาสิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพ จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ และคณะกรรมการกลางด้านประชากรและการศึกษาของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ, มูลนิธิ Atlantic Philanthropies, USAID/PEPFAR, โครงการ AusAID, มูลนิธิ Levi Strauss Foundation และสหภาพองค์กรเอดส์แห่งออสเตรเลีย เว็บไซต์ www.healthandrights.com สื่อมวลชนกรุณาติดต่อ: เฮเลน ซิกนีย์ (ซิดนีย์) โทรศัพท์: +61-425-202-654 อีเมล: helensigny@writemedia.com.au แหล่งข่าว: โครงการเพื่อสุขภาพและสิทธิมนุษยชนแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ -- เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท ( www.asianetnews.net ) --

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ