การเปลี่ยนแปลงวันมีผลบังคับใช้ของร่างพิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน-จีน

ข่าวทั่วไป Tuesday November 9, 2010 13:33 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงการค้าสินค้าภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสาธารณรัฐประชาชนจีน(ASEAN-China Free Trade Area: ACFTA) ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนวันมีผลใช้บังคับจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 เป็นวันที่ 1 มกราคม 2554

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า พิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงการค้าสินค้าภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสาธารณรัฐประชาชนจีน(ASEAN-China Free Trade Area: ACFTA) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2553 รวมทั้ง ผ่านที่ประชุมร่วมรัฐสภาแล้ว เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2553 แต่เนื่องจากสมาชิกอาเซียนหลายประเทศแสดงความกังวลว่าจะไม่สามารถดำเนินการภายในให้พิธีสารดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ทันภายในกำหนดการเดิมคือ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 จึงได้ปรับเปลี่ยนวันมีผลใช้บังคับของพิธีสารฯ เป็นวันที่ 1 มกราคม ปีหน้า เพื่อให้ใช้ประโยชน์ต่อการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีได้มากขึ้น โดยพิธีสารมีกำหนดจะลงนามโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและจีน ในการประชุมผู้นำอาเซียน-จีน (ASEAN Summit) ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ในวันที่ 29 ตุลาคม 2553

“การปรับพิธีสารฯ ครั้งนี้ ไม่ได้ปรับเปลี่ยนสาระสำคัญอื่นๆ ที่ได้มีการระบุไว้จากเดิม โดยผู้นำเข้าสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้เงื่อนไขที่เรียกว่า Movement Certificate (หรือเงื่อนไขที่เรียกว่า Back-to-Back CO ภายใต้กรอบอาเซียน) และกำนดให้ผู้นำเข้าสามารถให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร สำหรับสินค้าที่มีการซื้อขายผ่านประเทศนายหน้า ภายใต้เงื่อนไขที่เรียกว่า Third Party Invoicing ได้ อีกทั้งยังช่วยให้ดำเนินการเพื่อให้ศุลกากรสามารถตรวจปล่อยสินค้าได้โดยสะดวกมากขึ้น” นายอลงกรณ์ กล่าว

การลงนามพิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลง ACFTA นี้จะส่งผลให้ผู้นำเข้า/ส่งออก สามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้ ACFTA ได้มากขึ้น และการดำเนินการเพื่อการตรวจปล่อยสินค้าที่มีการขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรมีความสะดวกยิ่งขึ้น สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยหรือจีนซึ่งได้รับการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจะสามารถได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากอีกฝ่ายหนึ่ง แม้ว่าสินค้านั้นจะมีบัญชีราคาสินค้า (Invoice) ที่ออกโดยประเทศที่สามภายใต้เงื่อนไข Third Party Invoicing รวมทั้งการส่งสินค้าที่ต้องผ่านประเทศตัวกลาง ซึ่งต้องแบ่งจำนวนสินค้า (Break Bulk) สามารถดำเนินการได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยให้สินค้าของไทยสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ความตกลง ACFTA ได้มากขึ้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ