สรุปผลการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 5 วันที่ 28 ตุลาคม 2553 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม
รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) ร่วมในคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2553 ซึ่งจัดขึ้นในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 17 และการประชุมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 26-30 ตุลาคม2553 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนามการประชุมข้างต้นมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
1. AEC Scorecard
- ที่ประชุมรับทราบการวัดผลการดำเนินงานของอาเซียนเพื่อให้เป็นไปตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตาม AEC Scorecard ในช่วงปี 2008-2009 ซึ่งอาเซียนมีผลดำเนินงานคิดเป็นร้อยละ 82.9 จึงมีมาตรการต่างๆที่ยังไม่ได้ดำเนินการตามแผน AEC Blueprint ร้อยละ 17.1 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรการด้านการค้าภาคบริการ การลงทุน และการขนส่ง
- ที่ประชุมได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุง Scorecard เพื่อให้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการวัดผลดำเนินการของอาเซียนมากยิ่งขึ้น โดยเห็นว่าปัจจุบัน มีปัญหาเกี่ยวกับวิธีการวัดผล ซึ่งใช้การวัดเป็นจำนวนมาตรการที่ดำเนินการได้หรือไม่ได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสถานะการดำเนินการของประเทศสมาชิกในความเป็นจริงได้ เนื่องจากประเทศสมาชิกอาจต้องมีการดำเนินการภายในประเทศหลายระดับ หรือหลายขั้นตอน ก่อนที่จะสามารถดำเนินมาตรการต่างๆได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งในเรื่องนี้ไทยได้เสนอให้ปรับปรุงวิธีการประเมินผลให้มีการวัดผลเป็นระดับต่างๆ เพื่อให้สามารถทราบว่า มาตรการเหล่านั้นอยู่ในระดับที่ยังไม่ได้ดำเนินการเลย หรืออยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ หรือดำเนินการเสร็จแล้ว ตามลำดับ ซึ่งกัมพูชาได้สนับสนุนข้อเสนอของไทย เนื่องจากเห็นว่าจะช่วยให้ผู้นำทราบถึงขั้นตอนที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคต่อการดำเนินมาตรการต่างๆ สำนักเลขาธิการอาเซียนได้แสดงความเห็นว่า การวัดเป็นขั้นตอน (Step by Step) ที่ไทยเสนอจะเป็นประโยชน์ อย่างไรก็ดี เนื่องจากขั้นตอนภายในของแต่ละประเทศสมาชิกอาจแตกต่างกัน ประเทศสมาชิกจึงอาจต้องเป็นผู้แจกแจงรายละเอียดของขั้นตอนเหล่านั้นเพื่อให้สำนักเลขาธิการอาเซียนสามารถติดตามผลได้อย่างถูกต้อง
- ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ดำเนินการตามข้อคิดเห็นของที่ประชุมเกี่ยวกับการปรับปรุง AEC Scorecard ในประเด็นต่อไปนี้
(1) การคำนึงถึงระยะต่างๆของการดำเนินมาตรการ ความแตกต่างของขนาดของการดำเนินการของประเทศขนาดเล็กและขนาดใหญ่ การกระจายน้ำหนักระหว่างมาตรการต่างๆ โดยการระบุมาตรการหลัก
(2) แต่ละประเทศควรมีแผนงานระดับชาติ ที่จำแนกรายละเอียดของขั้นตอนการดำเนินการ และกรอบเวลาสำหรับการดำเนินการตาม AEC Blueprint และข้อริเริ่มของอาเซียนภายในปี2015
(3) แต่ละประเทศสมาชิกอาจจัดทำรายงานเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการตาม AEC Blueprint
- ในเรื่องที่อาเซียนมอบหมายให้ ERIA (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia) ทำการศึกษาเพื่อปรับปรุง AEC Scorecard นั้น ไทยได้แสดงความเห็นว่า อาจมีข้อจำกัดเนื่องจากมีเรื่องที่ต้องศึกษามาก จึงเสนอให้อาเซียนเปิดโอกาสให้สถาบันวิจัยของแต่ละประเทศมีส่วนร่วมในการศึกษาด้วย เช่น อาจเปิดให้สถาบันวิจัยเหล่านั้นเข้าร่วมเป็นองค์กรพันธมิตรของ ERIA ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้อาเซียนพิจารณาการจัดสรรเงินทุนให้ ERIA เพื่อให้ ERIA สามารถดำเนินการเพื่อรองรับความต้องการสนับสนุนด้านการศึกษาวิจัยของอาเซียนได้มากขึ้น ปัจจุบันแหล่งเงินทุนของ ERIA มาจากการสนับสนุนของประเทศคู่เจรจาเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น
- นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติให้ทุกประเทศสมาชิกเร่งเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่หน่วยงานที่เป็นหน่วยประสานงานและติดตามการดำเนินการไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและขอให้สำนักเลขาธิการอาเซียนเสริมสร้างความเข้มแข็งของส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการติดตามการดำเนินการไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย
สำหรับมาตรการที่ต้องดำเนินการสำหรับปี 2010-2011 ที่ประชุมรับทราบว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2010 อาเซียนสามารถดำเนินมาตรการที่ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปี 2010 แล้วประมาณร้อยละ 60 ของจำนวนมาตรการที่ต้องดำเนินการทั้งหมด อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 2010-2011 อาเซียนมี 184 มาตรการที่ต้องดำเนินการ และในจำนวนดังกล่าวเป็นมาตรการที่ทุกประเทศต้องดำเนินการ รวม 169มาตรการ ที่ประชุมจึงเห็นว่าการดำเนินการไม่ควรเพียงตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินการให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด (threshold) เท่านั้น แต่ควรพิจารณาด้วยว่า การดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลในทางปฏิบัติอย่างไรต่อภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจสาขาต่างๆ ต่อไป ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับข้อคิดเห็นของไทยในการให้ทำแผนงานที่มีกรอบเวลาแน่นอนสำหรับการดำเนินมาตรการที่ยังไม่ได้ดำเนินการ และขอให้สำนักเลขาธิการอาเซียนติดตามประเมินผล
2. การค้าบริการ (Trade in Services)
ที่ประชุมรับทราบว่า การเปิดเสรีภาคบริการนับเป็นความท้าทายของอาเซียน และที่ผ่านมามีความล่าช้าของการดำเนินการเพราะเป็นเรื่องอ่อนไหวของอาเซียนทุกประเทศ และจะยิ่งมีความยากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต เนื่องจากแต่ละประเทศมีความอ่อนไหวที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี อาเซียนจำเป็นต้องสร้างความเป็นศูนย์กลาง (ASEAN Centrality) เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีความใกล้ชิดและทำให้นักธุรกิจมองอาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน เป็นประชาคมเดียวกัน ดังนั้น การเปิดตลาดภาคบริการระหว่างอาเซียนในระดับสูงขึ้นจึงมีความจำเป็น และต้องการเจตนารมณ์ทางการเมืองที่เข้มแข็งและชัดเจนสำหรับการเปิดเสรีการค้าบริการ โดยที่ประชุมรับทราบข้อเสนอของไทยที่ให้อาเซียนให้ความสำคัญต่อการสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการประชาสัมพันธ์ทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค เช่น การจัดสัมมนา หรือประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสีย(stakeholder) เข้าใจและเล็งเห็นประโยชน์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอเกี่ยวกับการดำเนินการตามเป้าหมายของข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 8 ได้แก่ การเพิ่มพูนการหารือระหว่างหน่วยงานและผู้มีส่วนได้เสียภายในประเทศสมาชิก ออกกฎหมายหรือระเบียบที่เอื้ออำนวยต่อการบรรลุเป้าหมายตามความเหมาะสมการนำเรื่องการค้าบริการเสนอให้คณะมนตรีประชาคมเศรษฐิจอาเซียนพิจารณาเป็นครั้งคราวเมื่อมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการประสานงานด้านนโยบายระหว่างหลายหน่วยงาน และการสรุปผลความตกลงด้านการเคลื่อนย้ายบุคคลากรภายในปี 2011
3. สถานะความคืบหน้าของการดำเนินการของกลไกระดับรัฐมนตรีรายสาขาภายใต้ AEC
- ประธานการประชุมอธิบดีศุลกากรอาเซียน (ปัจจุบันคืออธิบดีกรมศุลกากรของไทย) ได้เสนอรายงาน ความคืบหน้าและความท้าทายของการบูรณาการศุลกากรในอาเซียนและความคืบหน้าของการจัดตั้งระบบศุลกากรหน้าต่างเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) เพื่อไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2015 ซึ่งครอบคลุมประเด็นสำคัญ เช่น การปรับปรุงระบบพิธีการศุลกากรให้สอดคล้องกัน การนำระบบความเสี่ยงมาใช้ในการปรับปรุงงานศุลกากรให้ทันสมัย การจัดทำ ASEAN Harmonized Tariff Nomenclature (AHTN) การพัฒนาระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียน (ASEAN Customs Transit System) การจัดให้มีการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (ASEAN Self Certification Scheme)และความคืบหน้าของการจัดทำ ASEAN Single Window (ASW) และ National Single Windows (NSW) อย่างไรก็ดี การบูรณาการระบบศุลกากรของอาเซียนยังมีอุปสรรคที่สำคัญ ได้แก่ การขาดบุคลากรที่มีทักษะและความชำนาญ
- ที่ประชุมมีมติให้ประธานการประชุมอธิบดีศุลกากรเสนอรายงานต่อที่ประชุม AEC Council เกี่ยวกับความคืบหน้าการดำเนินงานด้านศุลกากรอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยให้เสนอรายงานครั้งต่อไปในการประชุมคณะมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในเดือนตุลาคม 2554 รวมทั้งให้เร่งดำเนินการจัดตั้ง ASEAN Single Wingdow (ASW) และ National Single Window (NSW) และให้มีการหารือระหว่างหน่วยงานกรมศุลกากรอาเซียนกับภาคเอกชน เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ในการเสนอรายงานครั้งต่อไปให้มีการนำเสนอความคืบหน้าการดำเนินโครงการนำร่องเรื่องการรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าด้วยตนเองด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เร่งรัดให้ประเทศสมาชิกเข้าร่วมโครงการนำร่อง ASEAN Single Window และให้นำเรื่องการเสริมสร้างทักษะและขีดความสามารถในด้านศุลกากรไปหารือในบริบทของความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในกรอบการประชุมคณะทำงานอาเซียนที่ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาประเด็นสำคัญในกรอบอาเซียน+3 และ +6 ต่อไปด้วย
4. ความเห็นจากภาคเอกชนเกี่ยวกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน
- ที่ประชุมรับทราบตาราง Matrix เกี่ยวกับข้อเสนอแนะและการรายงานปัญหาจากภาคเอกชน (เช่นจาก ASEAN Business Advisory Council, US Business Council) อย่างไรก็ดี ในชั้นนี้อาเซียนยังไม่มีแนวทางสนองตอบต่อข้อร้องเรียนดังกล่าวชัดเจน เนื่องจากบางประเด็นอาจมีความเกี่ยวข้องกับกฏหมายภายในแต่ละประเทศ ที่ประชุมจึงเห็นพ้องว่าจะนำประเด็นต่างๆ ไปหารือในโอกาสต่อไป
5. รายงานของ AEC Council ต่อผู้นำ
ที่ประชุมได้จัดทำรายงานเสนอต่อผู้นำ สรุปผลดำเนินการตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตามที่ประเมินผลโดย AEC Scorecard ในช่วงปี 2008-2009 และได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อผู้นำให้สั่งการรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(1) กระตุ้นเร่งรัดการดำเนินการตามพันธกรณีทั้งภายในอาเซียนและกับภายนอกอาเซียนโดยให้ใช้ความพยายามอย่างสูงสุดในการพิจารณาแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามพันธกรณีและกรอบเวลาภายใต้ AEC Blueprint และหารือในประเด็นเรื่องข้อจำกัดทางด้านกฎหมายกฎระเบียบต่างๆ ที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามพันธกรณีทั้งภายในและภายนอกอาเซียน
(2) สร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสานงานระดับชาติ (National Coordinating Agency) เพื่อให้การประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายในการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
6. การลงนามพิธีสารด้านเศรษฐกิจ
ที่ประชุมรับทราบว่า ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 17 และการประชุมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะลงนามเอกสารด้านเศรษฐกิจ 3 ฉบับ ได้แก่
(1) พิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 8 ภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการค้าบริการ (The 8th ASEAN Framework Agreement on Services Protocol)
(2) พิธีสารแก้ไขพิธีสารเรื่องข้าวและน้ำตาล (Protocol to Amend the Protocol to Provide Special Consideration for Rice and Sugar)
(3) พิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับที่ 2 (Protocol to Amend the 2nd Package of Specific Commitments under the Agreement on Trade in Goods of the Framework Agreement on Comprehensive Economic Co-operation between ASEAN and China)
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630