นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 27-30 ตุลาคม 2553 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ตนนอกจากจะเข้าร่วมการประชุม AEC Council ครั้งที่ 5 ในฐานะ ASEAN Economic Minister ของไทย ร่วมกับนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ในฐานะ AEC Council ของไทย แล้ว ยังมีกำหนดหารือทวิภาคีกับประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และพม่า เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา/อุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในนโยบาย 3 วงแหวน 5 ประตูการค้า และเข้าร่วมหารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนร่วมกับนายกรัฐมนตรีในระหว่างงานเลี้ยงอาหารกลางวัน
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อว่า ในการหารือทวิภาคีกับกัมพูชา นอกจากจะเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าของทั้งสองฝ่ายแล้ว ยังจะหารือเรื่องการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 3 และการประชุมระดับพาณิชย์จังหวัดตามชายแดนไทยและกัมพูชา รวมถึงความร่วมมือด้านวิชาการและปัญหาการขนส่งสินค้าข้ามแดนและผ่านแดน การหารือกับลาว ไทยและลาวจะหารือกันในเรื่องการประชุมระหว่างภาครัฐและเอกชนไทย-ลาว ครั้งที่ 1 การประชุมแผนความร่วมมือระหว่างสำนักงานพาณิชย์จังหวัดของไทยกับแผนกอุตสาหกรรมและการค้าแขวงของลาว ตามแนวชายแดนไทย-ลาว ครั้งที่ 4 รวมถึงการจัดกิจกรรมที่ไทยและลาวจะจัดร่วมกันในเดือนมกราคม-กันยายน 2554 การหารือกับอินโดนีเซีย ประเด็นที่จะหารือ คือการจัดทำความตกลงทางการค้าไทย-อินโดนเซีย และกฏระเบียบใหม่ของอินโดนีเซียเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้า เช่น สินค้าอิเลคทรอนิกส์ เสื้อผ้า ของเด็กเล่น รองเท้า อาหาร-เครื่องดื่ม การหารือกับมาเลเซีย จะหารือเรื่อง โครงการยุทธศาสตร์ 5-5-5 ลีมอ ดาซาร์ ห้าจังหวัด ห้ารัฐและห้าสาขาเศรษฐกิจ และการขนส่งสินค้าเน่าเสียง่ายผ่านแดนโดยทางถนนจากไทยผ่านแดนมาเลเซียไปยังสิงคโปร์ รวมถึงการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 2 การหารือกับพม่า ไทยและพม่าจะมีการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เพื่อพิจารณายกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าสินค้า 15 รายการ ได้แก่ ผลไม้บางชนิด เช่น สาลี องุ่น ทุเรียน สัมเขียวหวาน และผลิตภัณฑ์พลาสติก ในเดือนมกราคม 2554 การหารือกับเวียดนาม จะประชุมหารือความร่วมมือทางการค้าระหว่างไทยกับเวียดนามและมาตรการ Import Licensing ของเวียดนามให้สอดคล้องกับความตกลงของ Import Licensing Agreement ของ WTO -2- “นอกจากจะประชุมกับประเทศสมาชิกอาเซียนและอาเซียนกับคู่เจรจาแล้ว ยังมีการหารือกับภาคเอกชน คือสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ABAC) ซึ่ง ABAC ต้องการผลักดันให้จัดตั้ง ASEAN Trade and Investment Center เพื่อเป็นฐานข้อมูล ซึ่งรวมด้านการค้าและการลงทุนสำหรับ SME และจะมีการลงนามพิธีสารด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1) พิธีสารว่าเพื่อแก้ไขพิธีสารด้วยการพิจารณาเป็นพิเศษสำหรับสินค้าข้าวและน้ำตาล 2) พิธีสารเพื่ออนุวัติข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 8 ภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการค้าภาคบริการ และ 3) พิธีสารเพื่อแก้ไขข้อผูกพันชุดที่ 2 ภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนกับจีน” นายอลงกรณ์ กล่าว
นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ จะหารือกันในประเด็น ความคืบหน้าการจัดตั้งประชาคมอาเซียน การดำเนินการตามพันธกรณีภายใต้กฎบัตรอาเซียน และวิสัยทัศน์ของอาเซียนหลังปี 2015 รวมถึงความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานในภูมิภาค ความเชื่อมโยงกันภายในอาเซียน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีการประชุมสุดยอดอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย การประชุมสุดยอดแม่โขง-ญี่ปุ่น การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น การประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลี การประชุมสุดยอดอาเซียน+3 การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ การประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย การประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลียและการประชุมสุดยอดอาเซียน-นิวซีแลนด์ การส่งออกของไทยไปอาเซียนในปี 2553 (ม.ค.-ส.ค.) ไทยมีมูลค่าการค้ารวมกับอาเซียน 49,216.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 39.7 ประกอบด้วย การส่งออกของไทยไปยังอาเซียน มูลค่า 29,103.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าของไทยจากอาเซียน 20,113.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 46 และ 31.5 ตามลำดับ ทำให้ไทยได้ดุลการค้ากับอาเซียน 8,989.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630