นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนจะเป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 22 ในวันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2553 ณ เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น โดยนอกจากการประชุมภายใต้กรอบเอเปคแล้ว ตนจะมีการหารือสองฝ่ายกับเปรู และลงนามกับ รมว.การค้าของเปรูในพิธีสารเพิ่มเติม ฉบับที่ 3 ภายใต้พิธีสาร เพื่อเร่งเปิดเสรีทางการค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้าปี พ.ศ 2548 และนายกรัฐมนตรีไทยและประธานาธิบดีชิลี จะประกาศเริ่มเจรจา FTA ไทย-ชิลี รวมถึงการหารือทวิภาคีกับออสเตรเลีย แคนาดา และญี่ปุ่น ในการประชุมเอเปคครั้งนี้ คาดว่าจะมีการหารือถึงปัญหาเรื่องค่าเงิน โดยเฉพาะการที่สหรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 6 แสนล้านเหรียญฯ คิดเป็น4% ของผลผลิตรวมทั้งปีของสหรัฐ ภายในเดือนมิถุนายน 2554 โดยในช่วงเดือนมิถุนายน — กันยายนที่ผ่านมา เศรษฐกิจเติบโตในอัตรา 2% ในขณะที่อัตราการว่างงานยังคงสูงถึง 9.6% มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้จะส่งผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากการแข็งขึ้นของค่าเงินบาท และจะเสนอให้ประเทศต่างๆร่วมกันวางแผนเพื่อรับมือและหลีกเลี่ยงแนวทางที่อาจก่อให้เกิดสงครามค่าเงิน และนำไปสู่การตอบโต้ทางการค้า ในเรื่องการลงนามในพิธีสารเพิ่มเติม ฉบับที่ 3 เพื่อเร่งเปิดเสรีทางการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้าปี พ.ศ. 2548 ตนจะเร่งผลักดันให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในวันพรุ่งนี้ (9 พฤศจิกายน 2553 เพื่อให้สามารถลงนามกับนาย เอดูอาโด้ เฟเรโรส คุปเปอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศและการท่องเที่ยวของเปรู ในช่วงการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค โดยมีนายกรัฐมนตรีของไทยและประธานาธิบดีเปรูร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งคาดว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถบังคับใช้ความตกลงนี้ได้ภายในต้นปี 2554
ภายใต้พิธีสารดังกล่าวนี้ ซึ่งจะทำให้พิธีสารอีก 3 ฉบับที่ได้ลงนามไปก่อนหน้านี้แล้ว ตั้งแต่ช่วงปี 2548-2552 สามารถมีผลใช้บังคับด้วย เมื่อความตกลงการค้าเสรีไทย-เปรู มีผลบังคับใช้แล้ว จะส่งผลให้มูลค่าการค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่าย มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์จากการที่เปรูยกเลิกภาษีสินค้า โดยสินค้าส่งออกของไทยที่จะได้ประโยชน์ทันทีจากการลดภาษีเป็น 0 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ไทยส่งออกมากกว่าร้อยละ 70 ของสินค้าส่งออกไปเปรูหรือคิดเป็นมูลค่า 163 ล้านเหรียญสหรัฐ ), เครื่องซักผ้า และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง
ในการประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไทยและประธานาธิบดีชิลี จะมีการหารือทวิภาคีและร่วมกันประกาศเริ่มเจรจา FTA ไทย-ชิลี ซึ่งรัฐสภาได้ผ่านความเห็นชอบกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี ในครั้งนี้ถือว่าเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ในการเดินหน้าเจรจากับชิลี ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยในภูมิภาคอเมริกาใต้ในอันดับต้นๆ ภายหลังการเดินทางเยือนภูมิภาคอเมริกาใต้ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยต่อไปไทยจะเริ่มดำเนินการเจรจากับชิลีทันที เพื่อให้ได้ผลสรุปโดยเร็ว ซึ่งหากความความตกลงดังกล่าวสามารถมีผลบังคับได้โดยเร็วจะส่งผลให้มูลค่าการค้า การลงทุนของทั้งสองฝ่ายมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2548-2552) การค้าระหว่างไทยกับชิลีมีมูลค่าการค้าเฉลี่ยปีละ 445.61 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด สินค้าส่งออกของไทยที่คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์ ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถปิคอัพ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เม็ดพลาสติก ซึ่งเป็นสินค้าที่ชิลี มีความต้องการสูง สำหรับในด้านการลงทุนคาดว่าไทยจะสามารถใช้ชิลีเป็นประตูการค้าไปสู่ประเทศอื่นๆในภูมิภาคอเมริกาใต้ และประเทศที่ชิลีได้มีความตกลงการค้าเสรีเช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีเป็นต้น
“นอกเหนือจากชิลีและเปรูแล้ว จะได้มีการหารือทวิภาคีกับออสเตรเลีย แคนาดา และญี่ปุ่น โดยออสเตรเลียจะหารือในประเด็นปัญหาพ่อครัวแม่ครัวไทย ปัญหารัฐ South Australia ไม่อนุญาตการนำเข้าสินค้าลูกบอลดับเพลิงอิไลด์ไฟร์บอลของไทย และปัญหามาตรการกำกับการนำเข้ากุ้งของออสเตรเลีย รวมถึงหารือร่วมกันในเรื่องการเจรจารอบโดฮา และการอุดหนุนส่งออกน้ำตาลของสหภาพยุโรป”นายอลงกรณ์ กล่าว ทั้งนี้ จะหารือกับแคนาดาถึงการขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทแคนาดาเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเล็งเห็นว่าไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางทางการค้าของภูมิภาคอาเซียน ถึงแม้ว่าไทยจะมีปัญหาทางการเมืองก็ไม่ได้ลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนแคนาดา สำหรับญี่ปุ่น จะหารือเรื่องการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (อาเซียน+3 และอาเซียน+6) การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนำเข้าภายใต้ AJCEP และ JTEPA ปี 2553 การใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกภายใต้ GSP ของญี่ปุ่น ปี 2553 เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630