นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยเตรียมลงนามในพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 3 ภายใต้พิธีสารระหว่างไทยกับเปรู ในช่วงการประชุมผู้นำเอเปกที่ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2553 โดยมีนายกรัฐมนตรีของไทยและประธานาธิบดีเปรูร่วมเป็นสักขีพยาน โดยหวังว่ารัฐสภาที่จะประชุมกันในวันที่ 9 พฤศิกายน 2553 จะผ่านความเห็นชอบให้ไทยสามารถลงนามได้
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า การที่รัฐสภาได้ผ่านความเห็นชอบการลงนามพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 3 ดังกล่าว ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นความสำเร็จของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผลมาจากครั้งที่ตนเป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเจรจากับฝ่ายเปรู เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2553 ที่ผ่านมา สำหรับ FTA ไทย-เปรู เมื่อมีผลบังคับใช้ ไทยจะได้รับประโยชน์จากการที่เปรูยกเลิกภาษีสินค้าทันที รวม 3,985 รายการ หรือร้อยละ 54.2 ของรายการสินค้าทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าสูงถึงร้อยละ 77.17 ของการนำเข้าเฉลี่ยจากไทยในปี 2549-2552 (132.24 ล้านเหรียญสหรัฐ) ขณะที่ไทยจะยกเลิกภาษีทันทีให้กับการนำเข้าสินค้าจากเปรู จำนวน 3,844 รายการ หรือร้อยละ 46.3 ของรายการทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าร้อยละ 92.16 ของการนำเข้าเฉลี่ยจากเปรูในปี 2549-2552 (70.78 ล้านเหรียญสหรัฐ) ส่วนสินค้าส่งออกของไทยที่จะได้ประโยชน์ทันทีจากการลดภาษีเป็น 0 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ไทยส่งออกมากกว่าร้อยละ 70 ของสินค้าส่งออกไปเปรูหรือคิดเป็นมูลค่า 163 ล้านเหรียญสหรัฐ ), เครื่องซักผ้า และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ในด้านการนำเข้า เปรูเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากร และสินแร่ต่างๆ ได้แก่ สินแร่สังกะสี สินแร่ดีบุก รัตนชาติ ป่าไม้ สินค้าประมง เป็นต้น จึงเป็นโอกาสดีของผู้นำเข้าไทยที่จะสามารถนำเข้าวัตถุดิบจากเปรูได้ในราคาถูกจากผลของภาษีนำเข้าที่ลดลง
นอกจากนี้ ผลจากการที่เปรูได้จัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับอีกหลายประเทศ ได้แก่ ชิลี สหรัฐฯ เม็กซิโก แคนาดา สิงคโปร์ และจีน และมีแผนที่จะเจรจา FTA กับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น EFTA และออสเตรเลีย การที่เปรูได้จัดทำ FTA กับหลายประเทศ ทำให้ไทยสามารถใช้เปรูเป็นช่องทางในการขยายตลาดส่งออกไปสู่ตลาดลาตินอเมริกาและทวีปอเมริกาเหนือ โดยใช้เปรูเป็นฐานการผลิตหรือร่วมทำธุรกิจกับเปรู (Joint Venture) เพื่อส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ได้ทำความตกลง FTA กับเปรู ขณะที่สินค้าหรือธุรกิจที่มีศักยภาพ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ เหมืองแร่ และประมง เป็นต้น นายอลงกรณ์ กล่าวต่อว่า ได้รับแจ้งจากนาย คาร์ลอส โพซาดา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศและการท่องเที่ยวของเปรู (H.E. Mr. Carlos Posada Vice Minister of Foreign Trade & Tourism) มีกำหนดจะนำคณะผู้แทนเดินทางมาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการที่ทั้ง 2 ประเทศกำลังจะมีการบังคับใช้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-เปรู ในวันที่ 1 มกราคม 2554
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630