นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในระหว่างที่ตนนำคณะผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน และตัวแทนสมาคม เดินทางเยือนประเทศเอเชียใต้ 3 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย และศรีลังกา ระหว่างวันที่ 19-23 ธันวาคม 2553 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างไทยกับเอเชียใต้ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และผลักดันการเจรจาการค้าเสรีในกลุ่ม บิมสเทคให้บรรลุผลสำเร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2554
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า การเดินทางเยือนบังกลาเทศ ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์บังกลาเทศ (นาย Muhammad Faruk Khan) ซึ่งได้ประสบความสำเร็จในการตั้งเป้าหมายการค้าร่วมกันเป็น 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2554 และจะลดอุปสรรคการค้าที่มีอยู่ คือ (1) การตรวจปล่อยสินค้าก่อนส่งออก (Pre-shipment Surveyor Inspection) ซึ่งฝ่ายบังกลาเทศรับจะแก้ไขปัญหาส่งออกสินค้าของไทย โดยจะอนุญาตให้บริษัทที่ตรวจสินค้าก่อนส่งที่มีสำนักงานในกรุงเทพฯ ออกใบรับรองให้แทนการส่งเรื่องไปออกใบรับรองในฟิลิปปินส์ (2) ใบรับรองการปลอดกัมมันตภาพรังสี ซึ่งฝ่ายบังกลาเทศจะเร่งพิจารณาแก้ปัญหา (3) การตรวจนำเข้าสินค้าไทยทุก Lot ของหน่วยงานมาตรฐานสินค้าของบังกลาเทศ โดยไทยขอให้ตรวจเฉพาะสินค้าที่ยังไม่มี การนำเข้าหรือนำเข้าครั้งแรก ส่วนที่เคยนำเข้ามาแล้วก็ไม่จำเป็นต้องตรวจ เนื่องจากมีการสุ่มตรวจมาแล้ว ซึ่งบังกลาเทศรับจะนำไปพิจารณาแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ บังกลาเทศสนับสนุนท่าทีไทย ในการเร่งรัดการเจรจา BIMSTEC FTA ให้สรุปผลโดยเร็ว หลังจากล่าช้ามากว่า 1 ปี
ทั้งนี้ ไทยเสนอให้มีการรื้อฟื้นการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือ Joint Trade Committee (JTC) ที่ได้มีการจัดตั้งกันมาตั้งแต่ปี 2529 แต่มีการประชุมไปเพียงสองครั้ง และการประชุมได้เว้นว่างมานานถึง 21 ปี อีกทั้งยังได้เสนอเป็นเจ้าภาพจัดงาน Thailand-Bangladesh Business Summit Forum ในปี 2554 โดยจะจัดรูปแบบเดียวกับการประชุมลิมอ ดาซาร์ ที่มีประธานเป็นระดับรัฐมนตรี ประกอบด้วยการประชุมภาครัฐและภาคเอกชน การจัด Business Matching และงานแสดงสินค้า โดยจะจัดทุกปี และผลัดกันเป็นเจ้าภาพ ส่วน รมช. บังกลาเทศ ต้องการเห็นไทยเป็นหุ้นส่วนการค้าด้วย และสนับสนุนการจัด Business Summit Forum และการรื้อฟื้น JTC ซึ่งจะเริ่มในปีหน้าโดยไทยรับเป็นเจ้าภาพ
ส่วนการพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นาย Alhaj Syed Abul Hossain) ฝ่ายบังกลาเทศได้เชิญชวนบริษัทก่อสร้างไทยมาลงทุนและร่วมโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม โดยเฉพาะทางหลวงระยะทาง 300 กิโลเมตร จากธากาถึงจิตตะกอง และท่าเรือน้ำลึกที่จิตตะกอง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่น่ายินดีคือ ฝ่ายบังกลาเทศแจ้งว่า โครงการทางด่วนยกระดับในกรุงธากา ระยะทาง 26 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นโครงการใหญ่ที่สุดของรัฐบาลนี้ ฝ่ายบังกลาเทศยินดีที่บริษัทของไทย คือ บริษัท Ital-Thai ได้ชนะการประมูล ซึ่งรัฐบาลบังกลาเทศจะเร่งทำสัญญากับ Ital-Thai ภายในเดือนนี้
นอกจากนี้ ไทยหวังว่าจะมีการพัฒนาระบบขนส่งที่เชื่อมโยงเอเชียใต้และอาเซียนเข้าด้วยกัน อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะระบบคมนาคมทางถนนระหว่างอินเดีย-บังกลาเทศ-พม่า และไทย เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าให้มีความคล่องตัว และรวดเร็วขึ้น และไทยยังได้แสวงหาความร่วมมือจากบังกลาเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการขนส่งทางน้ำสู่อ่าวเบงกอลด้วย เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามกิจกรรมการส่งออกสินค้าและบริการในอนาคต
บังกลาเทศ เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 3 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย และปากีสถาน แม้การค้ายังมีมูลค่าไม่มากนัก แต่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น และไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าบังกลาเทศมาโดยตลอด แม้ในปี 2552 ที่ผ่านมา การค้าของไทยกับประเทศคู่ค้าสำคัญจะลดลง เนื่องจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ แต่การค้าระหว่างไทยกับบังกลาเทศยังคงขยายตัว 9.6% เป็น 654.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยส่งออกไปบังกลาเทศ 621.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากบังกลาเทศ 32.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
“ในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค. 2553)การค้ารวมไทย-บังกลาเทศ มีมูลค่าสูงถึง 752.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวกว่า 39.36% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า จึงคาดว่าการค้าสองฝ่ายจะบรรลุเป้าหมายการค้า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2554 อย่างแน่นอน” นายอลงกรณ์ กล่าว
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630