“อลงกรณ์"บินด่วนบังคลาเทศ ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีเป็นตัวแทนรัฐบาลไทย ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามสัญญาสร้างทางพิเศษยกระดับธากา ระหว่างอิตัลไทยกับบังคลาเทศ มูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ชี้ไทยยังมีโอกาสอีกเพียบ ทั้งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรมสิ่งทอ และประมง หลังบังคลาเทศเปิดกว้างนักลงทุนต่างชาติ
นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ให้เดินทางในนามตัวแทนรัฐบาลไทย ในการเป็นสักขีพยานการลงนามสัญญาโครงการ Dhaka Elevated Expressway PPP Project ณ กรุงธากา ประเทศบังคลาเทศ โดยมี นายสัญญา สถิรบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมคณะด้วย โดยเป็นการลงนามระหว่างบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กับกระทรวงคมนาคมบังกลาเทศ ในวันที่ 19 มกราคม 2554 ซึ่งเป็นการก่อสร้างทางพิเศษยกระดับ ขนาด 4 ช่องทางจราจร (ไป-กลับ) ความยาวประมาณ 26 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นโครงการก่อสร้างใหญ่ที่สุดของรัฐบาลบังกลาเทศชุดปัจจุบัน วงเงินประมาณ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยถือเป็นเกียรติภูมิความสำเร็จในภาคเอกชนไทยด้านการก่อสร้างที่สามรถชนะ คู่แข่งที่เข้าร่วมประมูลจากหลายประเทศ
สำหรับการก่อสร้างทางพิเศษยกระดับ รัฐบาลบังคลาเทศมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปัญหาการจราจร และเพิ่มศักยภาพในการให้บริการด้านการคมนาคมในบริเวณเขตเมืองธากาที่มีปัญหาสภาพการจราจรหนาแน่นและคับคั่งสูง จึงได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม (Ministry of Communications) โดยหน่วยงาน Bangladesh Bridge Authority (BBA) ภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม เป็นตัวแทนดำเนินการจัดหาผู้รับสัมปทานในรูปแบบการดำเนินการลักษณะ Public-Private Partnership (PPP) เพื่อดำเนินการในรูปแบบ การออกแบบ การจัดหาเงินลงทุน การก่อสร้าง การจัดเก็บค่าผ่านทาง และการบำรุงรักษาทางพิเศษยกระดับ
Dhaka Elevated Expressway PPP Project เป็นโครงการก่อสร้างทางพิเศษยกระดับ (Elevated Expressway) ขนาด 4 ช่องทางจราจร (ไป-กลับ) ตั้งอยู่ในกรุงธากา บังกลาเทศ มีต้นทางการก่อสร้างเริ่มจาก Hazrat Shahjalal International Airport ซึ่งอยู่ทางด้านเหนือของธากา ถึง Jatrabari ซึ่งอยู่ทางด้านใต้ของธากา โดยเชื่อมต่อกับถนน Dhaka Chittagong Highway ซึ่งเป็นเส้นทางสายหลักทางธุรกิจ และเป็นเส้นทางเชื่อมการคมนาคมจากท่าเรือเมือง Chittagong สู่เมืองธากา และเมืองอื่นๆ ในประเทศ
“ปัจจุบันบังกลาเทศยังขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ และระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ยังไม่ได้มาตรฐาน จึงเป็นโอกาสของนักธุรกิจไทยในการเข้าไปลงทุนด้านธุรกิจก่อสร้างในบังกลาเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมและมีประสบการณ์ในการรับเหมาในต่างประเทศ นอกจากการลงทุนในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานแล้ว สาขาอื่นๆ ทีมีลู่ทางให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุน จะเป็นพวกการก่อสร้างที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรมสิ่งทอ กิจการประมง เป็นต้น โดยการลงทุนในบังกลาเทศไม่ต้องผ่านการขออนุญาตก่อน และไม่จำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติ การลงทุนทำได้ทุกภาคอุตสาหกรรม ยกเว้นอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ป่าไม้ พลังงานนิวเคลียร์ พิมพ์ธนบัตร เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลบังกลาเทศ ให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอย่างมาก โดยให้สิทธิพิเศษที่แทบจะเท่าเทียมกันระหว่างนักลงทุนในประเทศและนักลงทุนจากต่างประเทศ ในแง่การดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงการนำเข้าและส่งออก” นายอลงกรณ์กล่าว
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630