ครบรอบ 1 ปี ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน

ข่าวทั่วไป Monday February 14, 2011 15:54 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การค้าของอาเซียนและจีนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2552 จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน โดยมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 178,185 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจีนยังเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับต้นๆ ของไทยด้วย มีมูลค่าการค้ารวมในช่วงปี 2553 (มค.-พย.) ประมาณ 41,498 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นมูลค่าการนำเข้าประมาณ 22,119 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในปริมาณการนำเข้านี้มีสัดส่วนการใช้สิทธิภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Agreement : ACFTA) ประมาณ 3,721 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 17% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมดจากจีน และมีมูลค่าส่งออกประมาณ 19,379 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนการใช้สิทธิภายใต้ ACFTA ประมาณ 6,588 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 34% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดไปยังจีน

สินค้าสำคัญที่ไทยใช้สิทธิภายใต้ ACFTA ส่งออกไปยังจีนมาก ได้แก่ มันสำปะหลัง สินค้าประเภทยางพารา พลาสติกขั้นปฐม และเคมีภัณฑ์อินทรีย์ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ไทยใช้สิทธิภายใต้ ACFTA นำเข้าจากจีน เช่น กระเบื้อง เครื่องจักร ผัก ผลไม้ ผ้าทอ เป็นต้น

อาเซียนและจีนส่งเสริมให้ใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ ACFTA อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมามีการร้องเรียนจากผู้นำเข้า-ส่งออกของอาเซียนและจีน ว่าไม่สามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ ACFTA ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากอุปสรรคของระเบียบพิธีการภายใต้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการซื้อขายผ่านนายหน้าในประเทศที่สาม เช่น ฮ่องกง อาเซียนและจีน จึงได้แก้ไขโดยการบังคับใช้พิธีสารเพื่อแก้ไข ความตกลง ACFTA ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา ทำให้สินค้าที่ผลิตในอาเซียนหรือจีน ได้รับสิทธิพิเศษทางศุลกากรจากอีกฝ่ายหนึ่ง แม้ว่าสินค้านั้นจะมีบัญชีราคาสินค้า (invoice) ที่ออกโดยประเทศที่สามภายใต้เงื่อนไข Third Party Invoicing รวมทั้งการส่งสินค้าที่ต้องผ่านประเทศกลางซึ่งต้องแบ่งจำนวนสินค้า (Break Bulk) ก็จะสามารถดำเนินการได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวทำให้ผู้นำเข้าและส่งออกของไทย สามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้ ACFTA ได้มากขึ้น และการตรวจปล่อยสินค้าสะดวกยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ภายหลังพิธีสารมีผลใช้บังคับจะทำให้การค้าระหว่างไทยและจีนขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

นางศรีรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ของไทยและจีน ได้หารือและจัดทำความตกลงการขยายความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจและการค้าหลายด้าน (Agreement on Expanding and Deepening Bilateral Economic and Trade Cooperation: EDBETC) โดยทั้งสองฝ่ายมีการลงนามความตกลงฯ เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 โดยความตกลงฯ ฉบับนี้ จะช่วยส่งเสริมการขยายการค้าการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกฎระเบียบการค้า ความร่วมมือในด้านการจัดงานแสดงสินค้า และการกำหนดสาขาความร่วมมือที่ไทยและจีนมีความสนใจร่วมกันใน 10 สาขา เช่น เกษตร อาหาร พลังงาน โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว ร้านอาหาร และความร่วมมือด้าน SMEs ซึ่งทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาระยะ 5 ปี เพื่อทำโครงการความร่วมมือในสาขาต่างๆ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นโอกาสดีที่ไทยจะหารือถึงการแก้ไขปัญหาจากการค้าการลงทุนระหว่างกัน ภายหลังการเปิดเสรีทางการค้า (FTA) โดยเฉพาะกฎระเบียบทางด้านศุลกากร ขั้นตอนการตรวจปล่อยสินค้า การกักกันพืชและสัตว์ การอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ประกอบการส่งออกสินค้าของไทย

การลงนามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 เป็นผลให้อาเซียน-จีน มีการลดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันในปี 2548 โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 อัตราภาษีของสินค้าซึ่งครอบคลุมรายการสินค้ากว่า 90% ของรายการสินค้าทั้งหมดได้ลดลงเหลือ 0% แล้ว ซึ่งในวันที่ 1 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา อาเซียนและจีนได้เปิดเสรีระหว่างกันอย่างสมบูรณ์ ครบ 1 ปี

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ