ครม. ผ่านความเห็นชอบการลงนามความตกลงทางการค้าระหว่างไทย-อินโดนีเซีย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอต่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้ไทยสามารถไปลงนามในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 ได้ในเดือนตุลาคมนี้
นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 ครม. ได้ผ่านความเห็นชอบการลง นามความตกลงทางการค้าระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐอินโดนีเซียแล้ว โดยความตกลงฯนี้ มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ไทยและอินโดนีเซียจะให้การประติบัติเยี่ยงชาติ ที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favored-Nation Treatment: MFN) แก่อีกฝ่ายหนึ่ง
2. การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ไทยและอินโดนีเซีย
3. ตกลงที่จะดำเนินการต่างๆ ในการส่งเสริมการจัดกิจกรรมทางการค้าและเศรษฐกิจ และการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อขยายและพัฒนาการค้าระหว่างสองประเทศ
4. สามารถใช้มาตรการปกป้อง (Safeguard measures) ในลักษณะที่ไม่เลือกปฏิบัติ
5. การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย - อินโดนีเซีย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย และรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของอินโดนีเซียเป็นประธานร่วม
6. การระงับข้อพิพาท ถ้ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นจากการดำเนินการตามความตกลง หรือเกี่ยวข้องกับการดำเนินการ อย่างฉันท์มิตรผ่านทางการหารือหรือเจรจาตกลงกัน
7. หน่วยงานที่จะดูแลรับผิดชอบความตกลง รวมทั้งการดำเนินการตามความตกลง คือ กระทรวงพาณิชย์ของไทย และกระทรวงการค้าของอินโดนีเซีย
8. การมีผลบังคับใช้ จะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 3 ปี และจะได้รับการต่ออายุออกไปโดยอัตโนมัติในช่วงเวลาที่เท่าเทียมกัน
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า การลงนามความตกลงฯนี้ จะทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างเวทีการเจรจาทวิภาคีที่เป็นรูปธรรม ในการพัฒนาความร่วมมือทางการค้า และลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและเอกชนของทั้งสองประเทศ อีกทั้งทำให้ไทยได้เพิ่มโอกาสขยายมูลค่าการค้าและการลงทุนของไทย เพราะอินโดนีเซียเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมีประชากรเป็นอันดับ 4 ของโลกประมาณ 240 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของตลาดอาเซียน
ปัจจุบันอินโดนีเซียเป็น คู่ค้าลำดับที่ 3 ของไทยในอาเซียนรองจากมาเลเซียและสิงคโปร์ และเป็นคู่ค้าลำดับที่ 8 ของโลก ในขณะที่ ไทยเป็นอันดับที่ 3 ของอินโดนีเซียทั้งตลาดส่งออกและตลาดนำเข้า โดยในปี 2553 การค้าระหว่างกัน มีมูลค่า 13,022.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 53.79 โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ามูลค่า 1,670.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ “อินโดนีเซียอยู่ระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง จึงมีความต้องการสินค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้ภายในบ้าน ยา อาหารเสริม เครื่องสำอาง สิ่งทอ รองเท้าและเครื่องหนัง ผลไม้ รถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น ดังนั้น สินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดอินโดนีเซีย ได้แก่ ข้าวและน้ำตาล ถือเป็นสินค้าที่มีศักยภาพสูงของไทย รวมทั้งสินค้าอาหารทุกประเภท โดยเฉพาะผลไม้ไทย เช่น ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง ส้มโอ ฝรั่ง และชมพู่ เนื่องจากผลไม้ไทยบางชนิดไม่สามารถปลูกในอินโดนีเซียได้ หรือมีรสชาติแตกต่างจากผลไม้พื้นเมืองของอินโดนีเซีย อาหารสำเร็จรูป เช่น เครื่องปรุงรส อาหารกระป๋อง (ปลากระป๋อง ผลไม้กระป๋อง) น้ำผลไม้ ของขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น ซึ่งชาวอินโดนีเซียจะนิยมสินค้าไทย เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี” นายอลงกรณ์ กล่าว
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630