เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2553 ในช่วงการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ณ ประเทศญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีของไทย (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) และประธานาธิบดีของชิลี (H.E. Mr. Sebastian Pinera) ได้ร่วมกันประกาศให้ทั้งสองฝ่ายเริ่มการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
การจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี เกิดขึ้นจากแนวคิดในการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยกับประธานาธิบดีของชิลี (H.E. Mr. Ricardo Lagos Escobar) ในการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2546 หลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับชิลี (Thailand-Chile Joint Study on the Feasibility of a Free Trade Agreement) และได้สรุปผลการศึกษาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2549 การศึกษาครอบคลุมประเด็นการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลการศึกษาของทั้งสองฝ่ายมีความสอดคล้องกัน โดยรวมพบว่า การทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี จะช่วยให้เกิดการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างสองฝ่ายเพิ่มมากขึ้น โดยสินค้าส่งออกของไทยที่จะมีการขยายตัวมากขึ้น ได้แก่ ยานยนต์ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบยานยนต์ ข้าว สับปะรด ยางพารา ปลาทูน่ากระป๋อง สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์พลาสติก สำหรับสินค้าที่ไทยไม่เคยส่งออกมาก่อนจะมีการส่งออกไปชิลีได้มากขึ้นหากความตกลง FTA มีผลใช้บังคับ ได้แก่ เครื่องรับโทรทัศน์สี หน่วยเก็บข้อมูลของเครื่องประมวลผลข้อมูลอัติโนมัติ รถบรรทุกส่งของ เสื้อคาร์ดิแกนชนิดทำด้วยเส้นใยประดิษฐ์ แจ็คเก็ตหรือเสื้อเบลเซอร์ทำด้วยฝ้าย เหล็กแผ่นรีดร้อน และกระเบื้องปูพื้นและปูทางเดิน เป็นต้น
ในส่วนของการค้าบริการและการลงทุน การทำ FTA จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าบริการและขยายการลงทุนให้มากขึ้น สาขาบริการที่ไทยมีศักยภาพในการลงทุนในชิลี ได้แก่ การท่องเที่ยว และสปา และสาขาที่มีศักยภาพในการร่วมลงทุนกับชิลี ได้แก่ การขนส่งทางเรือ การขนส่งทางอากาศ การจัดจำหน่าย และการประมง เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จัดทำกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี โดยได้รวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2553 ต่อมา ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 และ 15 กันยายน 2553 ตามลำดับ
หลังจากการประกาศเริ่มการเจรจาของทั้งสองฝ่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องมาเป็นระยะๆ โดยล่าสุด ได้จัดการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการเปิดตลาดสินค้า สาขาสินค้าไลฟสไตล์และแฟชั่น และสาขาสินค้าประมงแช่เย็นแช่แข็ง อาหารแปรรูป น้ำตาล เครื่องดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2554 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจา FTA กับฝ่ายชิลีต่อไป โดยกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกของไทย เช่น เสื้อผ้า อาทิ ชุดกีฬา และชุดชั้นใน อาหารกระป๋อง อาทิ ผลไม้กระป๋อง และปลาแม็คเคอเรลกระป๋อง พร้อมจะบุกตลาดชิลี ทั้งนี้ จะมีการประชุมหารืออย่างต่อเนื่องต่อไป โดยคาดว่า ไทยและชิลีจะเริ่มเจรจารอบแรกประมาณกลางปี 2554
ชิลีเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคอเมริกาใต้ที่ไทยมีโอกาสขยายการค้าการลงทุนได้อีกมาก เนื่องจากชิลีเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ มีรายได้ประชากรต่อหัวสูงเป็นลำดับต้นๆ ของภูมิภาคอเมริกาใต้ นอกจากนี้ ชิลียังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ที่สำคัญ ได้แก่ ทองแดง ปลา ไม้ และเยื่อไม้ โดยชิลีเป็นผู้ผลิตทองแดงอันดับหนึ่งของโลก และเป็นผู้ส่งออกปลาแซลมอลเป็นอันดับ 2 ของโลก ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ชิลีมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าสูงกว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออก แสดงให้เห็นถึงอำนาจซื้อสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสดีที่ไทยจะขยายการส่งออกไปยังชิลีให้มากขึ้น
ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2549-2553) การค้าไทย-ชิลีมีมูลค่าเฉลี่ย 552.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกเฉลี่ย 317.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการนำเข้าเฉลี่ย 235.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในปี 2553 ชิลีเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 44 ของไทย และเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในทวีปอเมริกาใต้รองจากบราซิล และอาร์เจนตินา มีการค้าระหว่างกันมูลค่า 818.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 173.45 เป็นมูลค่าการส่งออก 514.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 267.47 และการนำเข้า 304.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 91 ไทยได้ดุลการค้ากับชิลีคิดเป็นมูลค่า 209.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปชิลี ได้แก่ รถปิคอัพ (คิดเป็นมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกไปยังชิลีทั้งหมดของไทย) เครื่องซักผ้า ปูนซีเมนต์ ปลาปรุงแต่ง รถยนต์นั่ง ยางธรรมชาติ และข้าว
สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากชิลี ได้แก่ ทองแดง (มีการนำเข้าเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากชิลี) ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง เยื่อกระดาษ สินแร่โลหะ องุ่นสด และไวน์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630