ไทย-อินเดีย เดินหน้าเจรจา FTA เพื่อเร่งสรุปผลการเจรจาเปิดเสรีสินค้าอีกเกือบ 5,000 รายการ การค้าบริการ และการลงทุน ในช่วงปลายปี 2554 ตามที่ผู้นำสองฝ่ายตั้งเป้าหมาย คาดการค้าขยายตัว 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2557
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 28-30 เมษายน 2554 ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าไทย-อินเดีย ครั้งที่ 20 และการประชุมคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะเจรจาในส่วนของข้อบทในเรื่องต่างๆ ทั้งสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า การค้าบริการ การลงทุน และกลไกระงับข้อพิพาท ให้มีความคืบหน้ามากที่สุด และจะได้หารือรายการสินค้าที่ทั้งสองฝ่ายต้องการให้แต่ละฝ่ายเปิดเสรีให้ดีขึ้นกว่าที่เปิดไปแล้วในกรอบ FTA อาเซียน-อินเดีย
นางศรีรัตน์ กล่าวว่า การเจรจาในกรอบไทย-อินเดีย ได้เว้นช่วงมากว่า 2 ปี แต่ทั้งสองฝ่ายได้กลับมาเจรจากันต่อ โดยในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ได้หารือในหลักเกณฑ์การเปิดเสรีการค้าสินค้า ที่ต่างฝ่ายเห็นควรเปิดตลาดให้กันได้ดีกว่าในกรอบ FTA อาเซียน-อินเดีย เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์สูงสุดจากการเจรจา จึงตั้งเป้าหมายที่จะสรุปผลการเจรจา FTA ระหว่างกัน ทั้งเรื่องเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ให้ได้ภายในปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับความตั้งใจของไทยที่ต้องการเป็นหุ้นส่วนระดับยุทธศาสตร์กับอินเดีย ซึ่งผู้นำของทั้งสองประเทศประกาศร่วมกันให้เร่งสรุปผลการเจรจา FTA ไทย-อินเดีย ที่ครอบคลุมทั้งการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ รวมทั้งได้ตั้งเป้าหมายการค้าให้เป็น 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2557 จากประมาณ 6,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา ในโอกาสที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางเยือนอินเดีย ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีอินเดีย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เมื่อต้นเดือนเมษายน 2554 ที่ผ่านมา
นางศรีรัตน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน อินเดียมีความสำคัญในแง่เศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยเป็นประเทศพี่ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ได้ก้าวมาเป็นประเทศหนึ่งที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลก ให้ความสำคัญกับนโยบายต่างประเทศในการ “มองตะวันออก” (Look East) มุ่งหาพันธมิตรทางเศรษฐกิจกับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน ไทยเองมองอินเดียเป็นประเทศศูนย์กลางในการขยายการค้า การลงทุนของไทยสู่ภูมิภาคเอเชียใต้ กลไกสำคัญคือการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ โดยการเจรจาการค้าเสรี (FTA) กับอินเดีย ทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค ได้แก่ ไทย-อินเดีย อาเซียน-อินเดีย และ BIMSTEC การเจรจา FTA กับอินเดียใน 3 กรอบดังกล่าว จะเป็นยุทธศาตร์สำคัญของไทยในการสร้างหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ที่เชื่อมอาเซียนและเอเชียใต้เข้าด้วยกัน โดยมีไทยและอินเดียเป็นศูนย์กลาง
“นโยบายการเจรจาความตกลงทางการค้าของอินเดียในปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีตามแนวทางเจรจาแบบ comprehensive คือรวมเรื่องการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ไว้ในความตกลงฉบับเดียว (single undertaking) ทั้งนี้ อินเดียได้จัดทำความตกลง FTA ทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาคกับหลายประเทศ ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว ได้แก่ อินเดีย-สิงคโปร์ (เริ่ม 1 ส.ค. 2548) อินเดีย-เกาหลี (เริ่ม 1 ม.ค. 2553) อินเดีย-มาเลเซีย (คาดว่าจะเริ่ม 1 ก.ค. 2554) อาเซียน-อินเดีย (เฉพาะสินค้าเริ่ม 1 ม.ค. 2553) และที่อยู่ระหว่างเจรจา ได้แก่ อินเดีย-ญี่ปุ่น อินเดีย-ออสเตรเลีย และอินเดีย-สหภาพยุโรป เป็นต้น ในส่วนของ FTA ไทย-อินเดีย ตั้งแต่ปี 2549 ทั้งสองฝ่ายได้ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้า Early Harvest Scheme แต่ครอบคลุมสินค้าเพียง 82 รายการ เท่านั้น ดังนั้น หากไทยต้องการที่จะเสริมสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนกับอินเดีย ให้แข็งแกร่งและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น คงจะต้องรีบเดินหน้าเจรจา FTA สองฝ่ายกับอินเดียให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อไทยจะได้ประโยชน์จากการลด/ยกเลิกภาษีสินค้าของอินเดียที่ดีขึ้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630