นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและการประชุมระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียนกับกรรมาธิการการค้าสหภาพยุโรป (EU Commission) รวมทั้งเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีประชาคมอาเซียน (AEC Council) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี(นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เพื่อพิจารณาความคืบหน้าการดำเนินตามแผนงานไปสู่การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 18 และการประชุมที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 5 — 8 พฤษภาคม 2554 ณ กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย ยังได้มีการหารือในระดับรัฐมนตรีและผู้นำโดย ฯพณฯท่านนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการหารือกับอินโดนีเซีย สปป.ลาว พม่า ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้มีการหารือกับมาเลเซีย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือผ่านการประชุม Limar Dasar ครั้งที่ 2 อินโดเซีย รับพิจารณาปัญหาที่ภาคเอกชนไทยประสบ และสหภาพยุโรป เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า และแนวทางการขยายความร่วมมือทางการค้า อีกทั้งยังได้พบปะนักธุรกิจไทยในอินโดนีเซียเพื่อรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ รวมถึงลู่ทางการขยายการค้าการลงทุนในอินโดนีเซีย
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้อาเซียนเหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึง 4 ปี ในการดำเนินการตามพิมพ์เขียวหรือแผนงาน (AEC Blueprint) เพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 โดยในการประเมินผลการดำเนินการรอบที่ 1 (ช่วงปี 2551-2552) ในภาพรวมอาเซียนสามารถดำเนินการตามแผนได้ 83.8 % (ไทยดำเนินการได้ 93.63%) ของมาตรการทั้งหมดที่ต้องดำเนินการ และสำหรับรอบที่ 2 (ช่วงปี 2553- เมษายน 2554) อาเซียนดำเนินการได้ 52.78% (ไทยดำเนินการได้ 63.64%) มาตรการที่ยังดำเนินการไม่ทันกำหนดในรอบแรกส่วนใหญ่เป็นมาตรการด้านศุลกากร คมนาคม และมาตรฐานสินค้า โดยอาเซียนจะจัดการประชุมทบทวนในภาพรวมช่วงกลางปีนี้ เพื่อประเมินว่ามาตรการใน AEC Blueprint มีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน ความสามารถในการแข่งขัน และสวัสดิการทางสังคมในอาเซียนอย่างไรบ้าง รวมทั้ง กำลังอยู่ระหว่างการปรับความคืบหน้าวิธีการประเมินผลการดำเนินการเพื่อให้วัดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ปัญหาสำคัญที่ประเทศอาเซียนประสบในการดำเนินการตาม Blueprint ได้แก่ ปัญหาด้านการประสานงานระหว่างหน่วยงานภายในประเทศ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย และปัญหาในการดำเนินกระบวนการต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มาตรการของตนเป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน Blueprint ทั้งนี้ เนื่องจากความคืบหน้าในการดำเนินการเป็นไปอย่างเชื่องช้า ที่ประชุมจึงเห็นร่วมกันว่า ให้มีการสำรวจว่ามีมาตรการใดที่ทำให้ประเทศสมาชิกดำเนินการแล้วเสร็จได้ยาก โดยต้องนำมาหารือและขอแนวทางจากระดับผู้นำอาเซียนในการดำเนินการต่อไป เพื่อให้ทุกประเทศสามารถดำเนินการตาม AEC Blueprint ได้อย่างพร้อมเพรียงกันในปี 2558” นายอลงกรณ์ กล่าว
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้ให้ความสำคัญในประเด็นความท้าทายเกี่ยวกับปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาค รวมทั้งประเด็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การพัฒนาอย่างยั่งยืน และเสถียรภาพของตลาดการเงิน ตลอดจนสนับสนุนให้มีการรวมตัวทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้มากขึ้น โดยการส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวกันของตลาดการเงิน สร้างเสริมความร่วมมือทางด้านการเงิน ส่งเสริมให้อาเซียนเป็นแหล่งลงทุน รวมถึงกำหนดระบบระวังภัยเศรษฐกิจของอาเซียน และจะส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการจัดทำข้อผูกพันการค้าบริการชุดที่ 8 รวมทั้งได้เน้นย้ำความสำคัญของการทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อร่วมแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำการค้าที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น