ร่างกฎหมาย Farm Bill 2008 อาจกระทบการส่งออกปลาดุกไปสหรัฐฯ

ข่าวทั่วไป Wednesday May 25, 2011 14:17 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ร่างกฎหมาย Farm Bill 2008 ของสหรัฐอเมริกา ในประเด็นคำจำกัดความของคำว่า Catfish อาจทำให้สินค้าปลาดุกที่จะส่งเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ ต้องพบกับการตรวจสอบที่เข้มข้นเกินความจำเป็น และก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้า

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สหรัฐฯจะออกกฎหมาย Farm Bill 2008 เพื่อทดแทนกฎหมาย Farm Bill 2002 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยมีข้อกำหนดให้ United States Department of Agriculture (USDA) เป็นหน่วยงานตรวจสอบสินค้าปลาดุก (Catfish) ที่จะนำเข้าไปยังสหรัฐฯ แทน U.S. Food and Drug Administration (USFDA) ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังสหรัฐฯมีความเข้มงวดและมีขั้นตอนมากขึ้น

โดย USDA จะใช้มาตรฐานในการควบคุมเนื้อสัตว์ สัตว์ปีก และผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การเลี้ยงดู ซึ่งฝ่ายไทยมีข้อกังวล เนื่องจากสินค้าสัตว์น้ำและสัตว์ปีกนั้นมีความแตกต่างกัน จึงไม่ควรใช้ระบบการควบคุมเดียวกัน เพราะมาตรการการดังกล่าวอาจสร้างอุปสรรคทางการค้าได้

“ในการร่างกฎหมาย Farm Bill 2008 หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ Food Safety and Inspection Service (FSIS) ได้เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวได้ ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ประสานกับกรมประมงแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดส่งความเห็นไปยังสำนักงานเกษตรในต่างประเทศประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน เพื่อจัดส่งความเห็นที่ได้ไปยัง FSIS ภายในวันที่ 24 มิถุนายน 2554” นางศรีรัตน์ กล่าว

นางศรีรัตน์ กล่าวต่อว่า มาตรการดังกล่าวเข้าข่ายเป็นมาตรการที่ต้องแจ้งต่อคณะกรรมการ Sanitary and Phytosanitary หรือคณะกรรมการ Technical Barriers to Trade ของ WTO คาดว่าสหรัฐฯ จะแจ้ง WTO หลังจากปิดรับข้อคิดเห็นที่แจ้งต่อ FSIS ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (คผท.) จะติดตามและรายงานความคืบหน้าในการแจ้งมาตรการเรื่องนี้ของสหรัฐฯ ต่อ WTO ทั้งนี้ กรมเจรจาฯ จะได้ประสานกับ กรมประมง และ คผท. จัดทำข้อคิดเห็นเพื่อแจ้งต่อสหรัฐฯ และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องของ WTO ต่อไป

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ