นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ได้ออกรายงานผลการพิจารณาข้ออุทธรณ์ซึ่งเป็นคำตัดสินขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับกรณีพิพาทเรื่องสินค้าบุหรี่ระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นรายงานของคณะผู้พิจารณาอุทธรณ์ (Appellate Body) หลังจากที่ไทยได้ยกบางประเด็นจากผลการตัดสินของคณะผู้พิจารณา (Panel) ขึ้นอุทธรณ์
นางศรีรัตน์ กล่าวว่า การพิจารณากรณีพิพาทนี้ เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 เมื่อฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องร้องไทยต่อองค์กรระงับข้อพิพาทของ WTO โดยกล่าวหาว่าไทย โดยกรมศุลกากรได้ประเมินราคาศุลกากรสินค้าบุหรี่นำเข้าไม่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของ WTO และกระทรวงการคลังจัดเก็บภาษีภายในกับสินค้าบุหรี่นำเข้าสูงกว่าบุหรี่ที่ผลิตในประเทศ ขัดกับพันธกรณีของไทยภายใต้ WTO ซึ่งกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกันดำเนินการโต้แย้งข้อกล่าวหาของฟิลิปปินส์ในกระบวนการของ WTO กฎกติกาการยุติกรณีพิพาท มาอย่างต่อเนื่อง
คณะผู้พิจารณา (Panel) (เทียบเท่าศาลชั้นต้น) ของ WTO ได้สรุปผลการพิจารณาและมีข้อตัดสินกรณีพิพาทดังกล่าว เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยสรุปได้ว่าไทยปฏิบัติสอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้ WTO ในหลายประเด็นสำคัญ เช่น กฎหมายศุลกากรของไทยสอดคล้องกับ WTO เรื่องราคาสมมุติที่ไทยสามารถกำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นฐานในการเก็บภาษีได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ราคาขายปลีกจริง การขอคืนเงินภาษี และการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังเป็นกรรมการบริหารโรงงานยาสูบ เป็นต้น แต่ยังมีบางประเด็นสำคัญที่ไทยปฏิบัติไม่สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้ WTO เช่น ความล่าช้าในการพิจารณาอุทธรณ์ การไม่ให้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งให้ผู้นำเข้าวางประกัน การกำหนดราคาขายปลีกสูงสุด (Maximum Retail Selling Price — MRSP) ที่ไม่ชัดเจน และการยกเว้นภาษีมูลค่า เพิ่มสำหรับสินค้าบุหรี่ที่ผลิตในประเทศ เป็นต้น
“ไทยได้เลือกอุทธรณ์เฉพาะประเด็นที่คณะผู้พิจารณาสรุปว่า ไทยไม่กำหนดสิทธิให้ผู้นำเข้าอุทธรณ์คำสั่งให้วางประกัน และประเด็นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าบุหรี่นำเข้า และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าบุหรี่ที่ผลิตในประเทศ รวมทั้งกำหนดภาระหน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษี สำหรับผู้ขายบุหรี่นำเข้าและบุหรี่ที่ผลิตในประเทศโดยไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งในคำตัดสินของคณะอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554 ได้ยืนตามคำตัดสินของคณะผู้พิจารณาในประเด็นเหล่านี้” นางศรีรัตน์ กล่าว
สิ่งที่ไทยจะต้องดำเนินการหลังคำตัดสินสุดท้ายของ WTO คือต้องปรับเปลี่ยนมาตรการที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้ WTO โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เรื่องการจ่ายค่าปรับ หรือจ่ายคืนภาษี หรือค่าชดเชย ให้กับฟิลิปปินส์ทั้งสิ้น เพราะระบบการยุติกรณีพิพาทของ WTO เป็นการพิจารณากรณีพิพาทระหว่างรัฐบาลประเทศสมาชิกบนพื้นฐานของกฎเกณฑ์และความตกลงภายใต้ WTO ที่สมาชิกยอมรับเป็นพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม และกฎเกณฑ์การยุติกรณีพิพาทนี้ไม่มีข้อกำหนดเรื่องการชดเชยค่าเสียหายเป็นตัวเงิน แต่มุ่งให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกทุกประเทศปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และความตกลงภายใต้ WTO ให้ถูกต้อง โดยประเทศสมาชิกในกรณีพิพาทต้องปรับปรุงมาตรการต่างๆ ที่ WTO สรุปการพิจารณาว่าไม่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ ก็ต้องปรับปรุงให้สอดคล้อง โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆเรื่องการจ่ายค่าปรับหรือค่าเสียหายเหมือนกรณีพิพาทในศาลภายในประเทศ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630