ความคืบหน้าการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับประเทศ/กลุ่มต่างๆ เดือนพฤศจิกายน 2550 (ไทย - EFTA)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 13, 2007 14:58 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          ความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-EFTA (Thailand - EFTA Free Trade Agreement: TEFTA)
ความเป็นมา/การดำเนินการ
ความเป็นมา
ประธานาธิบดีแห่งสมาพันธรัฐสวิสได้เสนอให้มีการจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ในระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 17-19 มีนาคม 2004 ซึ่งนายกรัฐมนตรีของไทยได้ให้ความเห็นชอบในหลักการ ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ได้มีมติเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2004 เห็นชอบให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (นายเกริก
ไกร จีระแพทย์) เป็นหัวหน้าคณะเจรจา โดยเริ่มการเจรจาอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน 2005
กรอบการเจรจา
- ครอบคลุมเรื่องการค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน และความร่วมมือต่างๆ ระหว่างกัน (comprehensive) โดยการเจรจายึดหลักความยืดหยุ่น (flexibility) เพื่อให้ทั้งสองประเทศได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน (mutual benefit) และความตกลงฯ ควรสอดคล้องกับหลักการขององค์การการค้าโลก
กลไกการดำเนินการ
- จัดตั้งคณะเจรจา เพื่อเจรจารายละเอียด
สถานะล่าสุด
การเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย—EFTA รอบที่ 2 ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 — 20 มกราคม 2006 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยครอบคลุมการเจรจาทุกหัวข้อ และสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
- การเปิดตลาดสินค้า
- สินค้าเกษตรแปรรูป ไทยขอให้ EFTA ยกเลิกการเก็บ Price Compensation (PC) ในสินค้ากลุ่มนี้ แต่ EFTA แจ้งว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากต้องแก้ไขกฎหมายภายในประเทศ และขอประชามติจากประชาชน และแจ้งว่าข้อเสนอที่ให้แก่ไทยเป็นข้อเสนอเหมือนกับที่ให้แก่สหภาพยุโรป (Price Compensation คือ ภาษีเพื่อชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาวัตถุดิบของสินค้านำเข้ากับสินค้าภายในประเทศ เช่น น้ำตาล ธัญพืช แป้ง เป็นต้น ประเทศที่เรียกเก็บ Price Compensation คือ สวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์)
- สินค้าเกษตรพื้นฐาน ไทยขอให้ EFTA พิจารณาเปิดตลาดเนื้อไก่สดและแปรรูป น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นสินค้าอ่อนไหวของ EFTA โดยขอโควตาพิเศษสำหรับสินค้าเกษตรที่มีโควตาภาษี ขณะที่ สวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์ขอให้ไทยเปิดตลาดเนื้อแกะและเนยแข็งสำหรับไอซ์แลนด์ขอให้ไทยเปิดตลาดเนื้อม้า
- สินค้าอุตสาหกรรม EFTA ลดภาษีให้ไทยเป็น 0 ทุกรายการ (พิกัด 25-97) ยกเว้นสินค้าประมาณ 10 รายการที่สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ และนอร์เวย์ขอเป็น Exclusion List เนื่องจากเป็นรายการที่อ่อนไหวและจะไม่มีการลดภาษี
- สินค้าประมง EFTA เสนอลดภาษีเหลือ 0% เกือบทุกรายการ ขณะที่ไทยเสนอลดภาษีทุกพิกัดเหลือร้อยละ 0 ทันที ยกเว้นสินค้าใน 10 พิกัด ได้แก่ ปลาแมคเคอเรล สด แช่เย็น แช่แข็งปลาอื่นๆ สด แช่เย็น แช่แข็ง และเนื้อปลาฟิลเล
- การค้าบริการและการลงทุน ทั้งสองฝ่ายได้ยื่น Requests และ Offers ระหว่างกันแล้ว โดยไทยต้องการให้มีการยอมรับ (recognition) มาตรฐานฝีมือแรงงานของไทย เช่น นวดไทย ผู้ดูแลเด็กและคนชรา ผู้ให้บริการสปา และผู้ปรุงอาหารไทย ส่วน EFTA สนใจสาขาวิชาชีพต่างๆ และขอให้ไทยเปิดตลาดเพิ่มขึ้นในกิจกรรม Insurance, Reinsurance และ Banking ซึ่งไทยได้ยืนยันว่าจะให้ไม่เกิน WTO และจะยังไม่ผูกพัน Reinsurance ส่วนการเจรจาด้านการลงทุน ทั้งสองฝ่ายยังมีท่าทีที่แตกต่างกันในหลายประเด็น เช่น นิยาม “การลงทุน” และ “ผู้ลงทุน” ขอบเขตการคุ้มครองการลงทุน แนวทางการผูกพันมาตรการ/สาขาต่างๆ (เรื่อง National Treatment และ MFN ในภาคnon-service) และการระงับข้อพิพาท เป็นต้น
- กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ยังมีหลายประเด็นที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ได้แก่ การใช้ Exwork Price และ FOB Price ที่จะมาคำนวณ local content การห้ามใช้ Duty drawback แนวทางการรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า และการใช้ Product Specific Rules (PSR)
- เรื่องอื่นๆ มีการหารือในเรื่องมาตราฐานสินค้าอุตสาหกรรม มาตรการสุขอนามัย มาตรการเยียวยาทางการค้า มาตรการตอบโต้การทุมตลาด การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อโดยรัฐ และการแข่งขัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะหาข้อสรุปในประเด็นเหล่านี้ต่อไป
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaifta.com (ไทย-EFTA)
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ