ความคืบหน้าการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับประเทศ/กลุ่มต่างๆ เดือนพฤศจิกายน 2550 (ไทย - สหรัฐอเมริกา)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 13, 2007 14:35 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          เขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา (Thailand-U.S. Free Trade Agreement)
ความเป็นมา/การดำเนินการ
ความเป็นมา
- ในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค 2002 เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2002 ณ เมืองลอสคาบอส ประเทศเม็กซิโก รมว.พณ.ไทยและสหรัฐฯ ร่วมลงนามกรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Framework Agreement between the United States and the Kingdom of Thailand: TIFA) เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน รวมทั้งเพื่อปูทางสำหรับการจัดตั้งเขตการค้าเสรีในอนาคต
- ในการประชุมผู้นำเอเปค 2003 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2003 ณ กรุงเทพฯ ผู้นำของทั้ง สองประเทศได้เห็นชอบให้เริ่มการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างกัน โดยให้เริ่มการ เจรจาในปี 2004
กรอบการเจรจา
- ครอบคลุมเรื่องการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน รวมทั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจในสาขาต่างๆ
- การเจรจาแบ่งออกเป็นกลุ่ม 22 กลุ่ม ได้แก่ (1) การเปิดตลาดสินค้าเกษตร (2) การเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรม (3) การเปิดตลาดสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป (4) กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (5) การค้าบริการ (6) การลงทุน (7) โทรคมนาคม (8) การเปิด
เสรีภาคการเงิน (9) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (10) ระเบียบพิธีการศุลกากร (11) มาตรการสุขอนามัย (12) มาตรการเยียวยาทางการค้า (13) ความโปร่งใส (14) การระงับข้อพิพาท (15) การจัดซื้อโดยรัฐ (16) นโยบายการแข่งขัน (17) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (18) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) (19) ทรัพย์สินทางปัญญา(20) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (21) การสร้างขีดความสามารถทางการค้า (22)
แรงงานและสิ่งแวดล้อม
กลไกการดำเนินการ
- จัดตั้งคณะเจรจา และ Expert Group เพื่อเจรจารายละเอียดในแต่ละเรื่อง
สถานะล่าสุด
การเจรจารอบที่ 6 ระหว่างวันที่ 9-13 มกราคม 2006 ที่เชียงใหม่ ได้มีการเจรจาครอบคลุมทุกหัวข้อการเจรจา โดยประเด็นสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1) สินค้าเกษตร
- การเปิดตลาดสินค้าที่มีโควตาภาษี ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าภาษีในโควตาไม่จำเป็นต้องลดเป็น 0 ทุกรายการ ทันทีที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ
- การเปิดตลาดสินค้าเกษตรทั่วไป สหรัฐฯ เสนอเปิดตลาดสินค้าเกษตรให้ไทยประมาณร้อยละ 65 ของการนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยภายใน 0-5 ปี หลังจากที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ สำหรับสินค้าที่ไทยเสนอเปิดตลาดให้กับสหรัฐฯ เป็นสินค้าที่ไทยไม่มีการผลิตหรือผลิตน้อย และไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ อยู่แล้ว เช่น ฝ้าย พ่อและแม่พันธุ์ไก่ เป็นต้นสำหรับสินค้าอ่อนไหวมากของไทย เช่น เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม ข้าวโพด มันฝรั่ง หัวหอม
ใหญ่ จะมีระยะเวลาปรับตัวนาน 10-20 ปี
2) สินค้าอุตสาหกรรม สหรัฐฯ จะเปิดตลาดสินค้าให้ไทยประมาณร้อยละ 74 ของมูลค่านำเข้าจากไทย ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ ส่วนไทยได้เสนอที่จะเปิดตลาดให้กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ประมาณร้อยละ 71 ของมูลค่านำเข้าจากสหรัฐฯ สำหรับสินค้าอ่อนไหวของไทย ซึ่งได้แก่ แก้ว เหล็ก สี และปลา ไทยเสนอลดภาษีเป็น 0% ในเวลา 10 ปี
3) สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไทยขอลดภาษีสิ่งทอเป็น 0% ทันทีทุกรายการ เนื่องจากเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้ามากอยู่แล้ว ส่วนในเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้า ไทยขอให้มีข้อยกเว้น จากกฎ yarn forward
4) ทรัพย์สินทางปัญญา
- สิ่งบ่งชี้ทางภูมิสาสตร์ ไทยยื่นข้อเรียกร้องให้สหรัฐฯ ขยายการคุ้มครองสินค้าที่สำคัญของไทย เช่น ข้าวหอมมะลิและไหมไทย เพื่อไม่ให้มีการใช้ชื่อดังกล่าว หากไม่ได้ผลิตในประเทศไทย
- การคุ้มครองทรัพยากรทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ให้มีการนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต และเมื่อได้รับอนุญาตจะต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรนั้น
- สิทธิบัตร สหรัฐฯ ได้ยื่นข้อเสนอให้ไทยให้ความคุ้มครองแก่ข้อมูลการทดสอบยาเป็นเวลา 5 ปี และเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรเป็นเวลา 10 ปี โดยในระหว่างนี้จะไม่สามารถวางจำหน่ายในตลาดได้ ซึ่งไทยได้ย้ำกับสหรัฐฯ ว่า ประเด็นเรื่องยาเป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างมากและไม่สามารถยอมรับได้
5) ธุรกิจบริการ
- ใช้หลักการไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นหลักที่ใช้ทั่วไปอยู่แล้วใน WTO โดยที่ยังมีความยืดหยุ่นให้ต่างฝ่ายต่างสามารถกำหนดกฎระเบียบสำหรับการกำกับดูแลสาขาบริการต่างๆ ภายในประเทศได้ในอนาคต
6) เรื่องอื่นๆ ทั้งสองฝ่ายได้หารือในเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้า กระบวนการศุลกากรมาตรการสุขอนามัย มาตรการเยียวยาทางการค้า มาตรการปกป้อง และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยทั้งสองฝ่ายยังมีท่าที ที่แตกต่างกัน รวมทั้งเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อมซึ่งยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะอยู่ใน FTA หรือไม่
* ปัจจุบันสหรัฐฯ ขอหยุดเจรจา โดยให้มีการสานต่อความสัมพันธ์ทางการค้าและการหารือในประเด็นต่างๆ ได้ตามปกติ
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaifta.com (ไทย-สหรัฐอเมริกา)
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ