ความคืบหน้าการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับประเทศ/กลุ่มต่างๆ เดือนพฤศจิกายน 2550 (อาเซียน - จีน)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 13, 2007 16:05 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (Framework Agreement on Comprehensive Economic Co-operation between ASEAN and China)
ความเป็นมา/การดำเนินการ
ความเป็นมา
- เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2001 ผู้นำอาเซียน-จีนได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะเจรจาอาเซียน-จีน (Trade Negotiation Committee: TNC) เพื่อจัดทำกรอบความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-จีน ที่จะใช้เป็นพื้นฐานในการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนที่สมบูรณ์ภายใน 10 ปี ซึ่งต่อมา TNC ได้สรุปผลการเจรจาและจัดทำกรอบความตกลง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้นำอาเซียน-จีน ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน (ASEAN-China Summit) ครั้งที่ 8 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2002
กรอบการเจรจา (Framework Agreement: FA)
- ครอบคลุมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในทุกด้าน การเจรจาแบ่งเป็น
- การเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า
- การเปิดเสรีด้านการค้าบริการ และการลงทุน
- ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจต่างๆ
กลไกการเจรจา
- จัดตั้ง TNC เป็นเวทีหารือระหว่างอาเซียนกับจีน และจัดตั้ง ASEAN Trade Negotiating Group (TNG) เป็นเวทีประชุมหารือระหว่างสมาชิกอาเซียน
การดำเนินการ
- การเปิดเสรีการค้าสินค้า (ที่มีผลบังคับใช้แล้ว)
- ผู้นำไทยและจีนได้เห็นชอบให้ไทยกับจีนเริ่มลดภาษีระหว่างกันในสินค้าเกษตรพิกัด 07-08 (ผัก และผลไม้) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2003 ภายใต้กรอบ Early Harvest อาเซียน-จีน หรือ 3 เดือนก่อนประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ
- การเปิดเสรีการค้าส่วนแรก (Early Harvest) ในสินค้าพิกัด 01-08 และสินค้าเฉพาะ(Specific products) อีก 2 รายการ คือ ถ่านหินแอนทราไซด์และถ่านหินโค้ก/ เซมิโค้ก ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2004 โดยประเทศอาเซียนเดิม 6 ประเทศและจีน ลดภาษีลงเหลือ 0% ในปี 2006 ส่วนอาเซียนใหม่ให้ยืดหยุ่นได้ถึงปี 2010
- การเปิดเสรีการค้าสินค้าทั่วไป ได้จัดทำความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า (Agreement on Trade in Goods) โดย (1) สินค้าปกติ เริ่มลดภาษีตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2005 และลดลงเหลือ 0% ภายในปี 2010 (2) สินค้าอ่อนไหว จะเริ่มลดภาษีในปี 2012 และจะลดภาษีเป็น 0-5% ในปี 2018 (3) สินค้าอ่อนไหวสูง จะคงอัตราภาษีไว้ได้ถึงปี 2015 จึงจะลดภาษีมาอยู่ ที่ไม่เกิน 50%
- กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (1) สินค้าเกษตรพื้นฐาน ใช้หลัก Wholly obtained (2) สินค้าอื่นๆ มูลค่าของวัตถุดิบที่ใช้ภายในประเทศไม่ต่ำกว่า 40% โดย นำมูลค่าของวัตถุดิบจากประเทศสมาชิกมารวมกันได้ (3) กฎแหล่งกำเนิดสินค้าเฉพาะ (Product Specific
Rules: PSR) สำหรับบางสินค้า
สถานะล่าสุด
การเปิดเสรีการค้าสินค้า (ส่วนที่ต้องเจรจาต่อ)
- ขณะนี้ อยู่ระหว่างเจรจาข้อตกลงการค้าสินค้าในประเด็นที่ค้างอยู่ เช่น การลดภาษีสินค้าที่มีมาตรการโควตาภาษี (TRQ) กฎแหล่งกำเนิดเฉพาะสินค้า (Product Specific Rules : PSR) และปัญหาการดำเนินการ (Implementation)
- กฎแหล่งกำเนิดของสินค้าเฉพาะ (Product Specific Rules: PSR) สำหรับบางสินค้า ตกลงกันได้ในสินค้ากลุ่มแรก (First Package) 472 รายการ ส่วนใหญ่เป็นสิ่งทอ และสินค้ากลุ่มที่สอง 90 รายการ เช่น ของปรุงแต่งจากไขมัน ปลาแปรรูป (ยกเว้นทูนา พิกัด 160414) ไอศครีมไข่มุก รองเท้า และสแตนเลสสตีล เป็นต้น
- การเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน
- การค้าบริการ ได้มีการลงนามความตกลงในการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 12 วันที่ 10-15 มกราคม 2007 ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ โดยความตกลงฯ เป็นไปตามหลักการของความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (GATS) ภายใต้ WTO ซึ่งอาเซียนและจีนได้แนบตาราง
ข้อผูกพันชุดที่ 1 ผนวกไว้กับความตกลงด้วย สำหรับไทยได้เสนอเปิดตลาดในสาขาบริการธุรกิจ การศึกษา การท่องเที่ยว การขนส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งเงื่อนไขทั้งหมดอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางกฎหมายของไทยทั้งสิ้น ส่วนจีนเปิดตลาดในสาขาบริการด้านคอมพิวเตอร์ บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ บริการขนส่งสินค้าทางถนน และบริการธุรกิจอื่นๆ โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตามความตกลงในวันที่ 1 กรกฎาคม 2007 ทั้งนี้ อยู่ในระหว่างเจรจาต่อไปในเรื่องข้อผูกพันการเปิดตลาดกลุ่มที่ 2
- การลงทุน อยู่ในระหว่างเจรจา
- ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ อยู่ในระหว่างการเจรจา เช่น เกษตรกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง ทรัพยากรมนุษย์ การยอมรับมาตรฐานสินค้าร่วม และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ