นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมหารือระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในอาเซียน (FJCCIA) ซึ่งมีจำนวนสมาชิก 4,447 บริษัทในอาเซียน ที่รัฐบาลมาเลเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 8-9 กรกฎาคม 2554 โดยมี รัฐมนตรีการค้าอินโดนีเซีย (ดอกเตอร์ มารี เอลกา พานเกสตู) และรัฐมนตรีเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (นายบันริ ไคเอดะ) เป็นประธานร่วม ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียนให้ความสำคัญในการรับฟังปัญหาของนักธุรกิจญี่ปุ่น ที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของอาเซียน ถือเป็นก้าวสำคัญที่ภาครัฐและเอกชนจะได้ร่วมกันเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภูมิภาค รวมทั้งจะเป็นการยืนยันถึงศักยภาพและแรงดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในสาขาอุตสาหกรรมที่อาเซียนมีศักยภาพใน 4 สาขา ได้แก่ สาขายานยนต์ สาขาเครื่องใช้ไฟฟ้า สาขาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสาขาอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูป ที่ไทยมีความโดดเด่นและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอีกด้วย
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ได้ย้ำกับที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในอาเซียนว่า ไทยพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 และได้เร่งดำเนินการเรื่องต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงร่วมกับญี่ปุ่นด้วย
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อว่า FJCCIA แสดงความคิดเห็นเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรในการทำธุรกิจ “Request 2011” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน เพื่อไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ประเด็นหลักที่อาเซียนต้องปรับปรุง มี 4 ประเด็น ดังนี้
1. การอำนวยความสะดวกและการเปิดเสรีทางการค้า รวมถึงพิธีการศุลกากร และการใช้ประโยชน์ การพัฒนา และการรวมกลุ่มของจากเขตการค้าเสรีที่มีอยู่
2. การปรับปรุงด้านกฎระเบียบต่างๆ (soft infrastructure) รวมถึงการปรับประสานมาตรฐาน ความสอดคล้อง และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
3. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรม
4. การลดระดับความแตกต่างทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะการพัฒนาเขตลุ่มแม่น้ำโขง
นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ไทยได้พัฒนากฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และได้บรรจุเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และทรัพย์สินทางปัญญาไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ปี 2555-2559 นอกจากนี้ไทยมีเป้าหมายที่จะเข้าเป็นสมาชิก Madrid Protocol โดยเร็ว เพื่ออำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ไทยให้ความสำคัญในการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และมีบทบาทสำคัญในกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขงและญี่ปุ่น ไทยสนับสนุนการพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคดังกล่าว เช่น เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก เส้นทางโลจิสติกส์การค้าใหม่ทะวาย — กาญจนบุรี — แหลมฉบัง เป็นต้น ทั้งนี้ ได้ย้ำว่าไทยจะเติบโตไปฟร้อมกับญี่ปุ่น ส่วนในเรื่องอื่น ๆ ที่ญี่ปุ่นเสนอ เช่น การจัดทำ Self certification การลดการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี และการปรับปรุงมาตรฐานสุขอนามัยของสัตว์และพืช เป็นต้น ก็เป็นเรื่องที่ไทยเร่งดำเนินการอยู่
ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียน โดยในปี 2553 มูลค่าการค้าของอาเซียนกับญี่ปุ่นเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.4 ของมูลค่ารวมของอาเซียน การค้าระหว่างญี่ปุ่นและอาเซียนในช่วง ม.ค.-พ.ค. 2554 มีมูลค่ากว่า 95,549 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.62 โดยญี่ปุ่นนำเข้าจากอาเซียนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.39 มีมูลค่า 48,501 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกจากญี่ปุ่นไปอาเซียนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 8.18 คิดเป็นมูลค่า 47,048 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่นในช่วง ม.ค.-พ.ค. 2554 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่า 26,782 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630