การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน

ข่าวทั่วไป Wednesday August 10, 2011 13:40 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

‘ยรรยง’ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 43 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง วันที่ 9-13 ส.ค.นี้ ณ เมืองมานาโด ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อติดตามความคืบหน้าการเปิดเสรีอาเซียน และติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการสู่เป้าหมาย การสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Minister: AEM) การประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA Council) และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 9-13 สิงหาคม 2554 ณ เมืองมานาโด ประเทศอินโดนีเซีย โดยจะมีการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการเขตการค้าเสรีอาเซียน เช่น เรื่องอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี และการดำเนินมาตรการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น ความคืบหน้าของการดำเนินโครงการนำร่องระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง การปรับประสานมาตรฐานและการตรวจสอบรับรองสินค้า ตลอดจนแนวทางการขยายการค้าภายในอาเซียน

ขณะเดียวกัน จะมีการประเมินสถานการณ์ภาพรวมทางเศรษฐกิจการค้าของอาเซียน ซึ่งมีการฟื้นตัวเป็นที่น่าพอใจ โดยในปี 2553 เศรษฐกิจของอาเซียนเติบโตในอัตราร้อยละ 7 มูลค่าการค้าสินค้าขยายตัวร้อยละ 32.9 เป็น 2.04 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จาก 1.54 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2552 โดยมูลค่าการค้าราว 1 ใน 4 เป็นมูลค่าการค้ารวมภายในอาเซียน

ในด้านการค้าของอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาค จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียน มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนกับจีนเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.3 ของการค้าของอาเซียน ในปี 2553 ส่วนสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าลำดับที่ 2, 3, 4 โดยมีสัดส่วนการค้าเป็นร้อยละ 10.2, 10.0 และ 9.1 ตามลำดับ

ทางด้านการลงทุนจากภายนอกภูมิภาค (FDI) ในปี 2553 มีมูลค่า 75.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 37.9 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2552 ถึง 2 เท่า โดยแหล่งที่มาของการลงทุนที่สำคัญที่สุด 3 แห่งแรก ได้แก่ สหภาพยุโรป, สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยมีสัดส่วนการลงทุนเป็นร้อยละ 22.4, 11.3 และ 11.1 ตามลำดับ

นายยรรยง กล่าวว่า การดำเนินการของประเทศอาเซียน มุ่งไปสู่การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันมีความคืบหน้าพอควร และนอกจากการลดอุปสรรคในการค้าและการลงทุนระหว่างกันแล้ว อาเซียนยังได้เน้นให้ความสำคัญต่อประเด็นการลดช่องว่างในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกใหม่และสมาชิกเดิม การส่งเสริม SME และอาเซียนจะร่วมกันพิจารณาเรื่องสำคัญๆในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆด้วย อาทิ WTO, APEC และ ASEM รวมทั้งเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 19 ในช่วงปลายปีนี้

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน จะประชุมร่วมกับรัฐมนตรีการค้าของประเทศคู่เจรจา ที่ทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และพบกับผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ (USTR) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการเศรษฐกิจรัสเซีย เพื่อแสวงหาแนวทางส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกันด้วย ทั้งนี้ สหรัฐฯและรัฐเซีย เป็นอีกสองประเทศคู่เจรจา ที่เพิ่งได้รับเชิญเข้ามาร่วมในเวทีของประเทศเอเชียตะวันออก ซึ่งประกอบด้วย ประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ เมื่อรวมสหรัฐฯและรัฐเซีย ก็จะเป็นเวทีความร่วมมือของ 18 ประเทศ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ยังมีกำหนดการพบปะหารือกับผู้แทนจากภาคเอกชนจากสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ABAC) สภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐฯ (USABC) รวมทั้งจะมีการหารือกับผู้แทนภาคเอกชนในหัวข้อการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) ซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องได้รับการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการของอาเซียนได้รับประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเต็มที่ด้วย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ