สรุปสาระสำคัญการสัมมนาระดมสมอง เรื่อง "เปิดหน้าต่าง ASEAN-EU FTA”วันอังคาร ที่ 30 ตุลาคม 2550 เวลา 9.00-12.30 น.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 19, 2007 15:38 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          1. คำกล่าวเปิดของปลัดกระทรวงพาณิชย์ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ 
เห็นด้วยกับการทำความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป แต่ผลการตกลงต้องสมเหตุสมผล สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
อาเซียนเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับ 4 ของ สหภาพยุโรปรองจากประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย
การที่สหภาพยุโรปมาเจรจาเขตการค้าเสรีกับอาเซียน เนื่องจากการต้องการขยายการค้า การเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศไทยไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ การเจรจาความตกลงฯ ฉบับนี้ถือได้ว่าเป็นโอกาสของผู้ประกอบการทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กที่จะปรับตัวให้เท่าทันกระแสการค้าโลก และพัฒนาให้มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ภาครัฐให้การสนับสนุนเต็มที่ และใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีในการประสานกฎระเบียบ มาตรฐานต่างๆ เพื่อรองรับการค้าการลงทุนให้สามารถเข้าสู่ตลาดยุโรปได้ อย่างไรก็ตาม การทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายควรจะได้รับประโยชน์มากขึ้น ดังนั้นการเจรจาต้องมีความละเอียดพอ รู้ว่าด้านใดที่จะได้รับประโยชน์ และด้านใดที่ต้องปรับเปลี่ยนเ และเห็นว่าในการเจรจาสินค้าเกษตร หรือการค้าบริการ ผู้เจรจาต้องเข้าใจพื้นฐานของสินค้าและบริการ อาเซียนต้องมีท่าทีที่เป็นเอกภาพ และต้องรู้ว่าแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนมีผลประโยชน์เฉพาะตัว และผลประโยชน์ร่วมคืออะไร อีกทั้งต้องศึกษาและเข้าใจผลประโยชน์ของสหภาพยุโรปเช่นกัน คาดว่าสหภาพยุโรปจะนำเรื่อง การคุ้มครองการลงทุน มาตรการที่มิใช่ภาษี นโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา และสิ่งแวดล้อม มาเจรจาจึงขอให้ผู้ประกอบการเตรียมตัว และปรับตัวด้วย โดยเฉพาะสาขาอุตสาหกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้า ท่องเที่ยว และสุขภาพ
2. การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป
บรรยายโดย นางสาวเก็จพิรุณ เกาะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการส่วนยุโรป สำนักยุโรปฯ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 ความเป็นมาของ ASEAN-EU FTA
ความคิดในเรื่องการจัดทำการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรปเริ่มมีตั้งแต่ ค.ศ. 2003 โดยที่อาเซียนเป็นฝายเสนอให้ทำ ASEAN-EU FTA เพื่อขยายการค้าระหว่างกัน แต่สหภาพยุโรปในขณะนั้น ให้ความสำคัญกับการเจรจาภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลกมากกว่า
ในปี 2005 เมื่อกรรมาธิการการค้ายุโรปเปลี่ยนจากนายปาสคาล ลามี เป็นนายปีเตอร์ แมนเดลสัน เริ่มมองว่า การค้าของสหภาพยุโรปและเอเชียเริ่มจะอ่อนลงไป และควรหาทางขยายการค้าระหว่างกัน โดยจัดตั้ง Vision Group ขึ้น และได้จัดทำรายงาน Transregional Partnership for Shared and Sustainable Prosperity โดย Vision Group มีความเห็นว่าการทำความตกลงการค้าเสรีต้องควบคู่ไปกับการเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2007 ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่า การเจรจาจะเป็นระหว่างภูมิภาคต่อภูมิภาค โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป (Joint Committee) ขึ้น ประกอบด้วยผู้แทนจากอาเซียน 10 ประเทศ และผู้แทนจากกรรมาธิการการค้ายุโรป เพื่อทำหน้าที่กำหนดรูปแบบการเจรจา กรอบการเจรจา และระยะเวลาการเจรจา โดยการเจรจาจะมีขึ้นปีละ 4 ครั้ง
2.2 สถานะการเจรจา ASEAN-EU FTA
ในการประชุม Joint Committee ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนตุลาคม 2550 ณ ประเทศสิงคโปร์ ในส่วนของกรอบการเจรจา ตกลงกันได้ว่า การเจรจาจะครอบคลุมการเปิดตลาดการค้าสินค้า บริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีบางเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ว่าควรจะอยู่ในความตกลงการค้าเสรีนี้หรือไม่ เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อโดยรัฐ การแข่งขัน การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการพัฒนาที่ยั่งยืน
การประชุม Joint Committee ครั้งที่ 3 จะมีขึ้นในเดือนมกราคม 2551 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม
2.3 การดำเนินงานของภาครัฐ
มีการจัดจ้างศึกษาผลดีผลเสียจากการทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรปต่อประเทศไทย ซึ่งเป็นการศึกษาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ จัดสัมมนาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเพื่อรับฟังความคิดเห็นและแจ้งความคืบหน้าการเจรจา จัดตั้งคณะเจรจาและประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเตรียมเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ
3. ผลดี/ ผลเสียของการจัดทำ ASEAN-EU FTA
บรรยายโดย นายเอ็ดมันด์ ดับเบิลยู ซิม บริษัท Hunton& Williams ได้สรุปผลดี-ผลเสียของการทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ดังนี้
1) จากการศึกษาเชิงคุณภาพ ผลดีที่คาดว่าจะได้รับ คือ การส่งออกเพิ่มสูงขึ้น สินค้านำเข้าราคาต่ำลง การแข่งขันสูงขึ้นทำให้สินค้าราคาถูกลง และสวัสดิการทางเศรษฐกิจและการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้น
ผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น คือ ยอดขายลดลง อุปสรรคในการแข่งขันด้านราคา เนื่องจากการทะลักของสินค้านำเข้า และค่าใช้จ่ายในการปรับตัวต่างๆ เช่น ความกดดันด้านค่าจ้าง การตกงาน ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ผลดีมีมากกว่าผลเสีย รัฐบาลจึงควรสนับสนุนการทำความตกลงการค้าเสรีที่จะช่วยลดอัตราภาษี
2) จากการศึกษาเชิงปริมาณ โดยใช้ GTAP Model ในการศึกษา พบว่า ในระยะสั้นคือ 1-3 ปีแรกของการทำ ASEAN-EU FTA ผลดีที่ได้รับจะยังไม่เด่นชัดนัก คือ มูลค่าการส่งออกของไทยจะเพิ่มขึ้น 910 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าจะเพิ่มขึ้น 1,002 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในระยะยาว คือ 4-10 ปีหลังจากการทำ ASEAN-EU FTA จะเห็นผลดีได้อย่างชัดเจน คือ มูลค่าการส่งออกของไทยจะเพิ่มขึ้น 2,860ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าจะเพิ่มขึ้น 2,202 ล้านเหรียญสหรัฐ
สินค้าส่งออกของไทยที่จะได้รับผลกระทบในแง่บวกมากที่สุด คือ ข้าว เนื้อสัตว์ เสื้อผ้า รองเท้า อาหารแปรรูป ตามลำดับ
4. มุมมองของภาคเอกชนเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายที่เป็นผลจากการจัดทำ ASEAN-EU FTA
4.1 ภาคเกษตร บรรยายโดย ดร. ปิยะนุช มาลากุล ณ อยุธยา รองประธานคณะกรรมการอาเซียน-สหภาพยุโรป
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. เห็นว่าการตกลงเจรจาทำเขตการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป เป็นโอกาสและความท้าทายของภาคเกษตรของไทย ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันกันเองระหว่างสมาชิกอาเซียน และในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมการค้าระหว่างกัน ปัจจุบัน สหภาพยุโรปได้ทำเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ครอบคลุมเกือบทั่วทุกภูมิภาคของโลก ความตกลงเขตการค้าเสรีที่ได้ลงนามแล้ว ได้แก่ ความตกลงระหว่างสหภาพยุโรป 25 ประเทศกับกลุ่มประเทศ EFTA (สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซแลนด์ และลิคเทนสไตน์) EEA (European Economic Area) เม็กซิโก ชิลี และแอฟริกาใต้ สำหรับความตกลงที่อยู่ระหว่างการเจรจา คือ MERCOSUR (อาร์เจนติน่า บราซิล ปารากวัย และอุรุกวัย) อินเดีย และกลุ่มประเทศภายใต้ Cotonou 77 ประเทศ และกลุ่มประเทศเมดิเตอร์เรเนียน
2. การลดภาษีนำเข้าให้กับสหภาพยุโรป สินค้าเกษตรประมาณ 200 รายการ สหภาพยุโรปมีภาษีโดยเฉลี่ย 15 %และ อัตราภาษี 50-100% มีประมาณ 6.3 % และ 1.1% ของสินค้าเกษตรทั้งหมดของสหภาพยุโรป ภาคเอกชนเสนอให้เจรจาการผลักดันให้สหภาพยุโรปลดภาษีโดยเร็วที่สุด การลดภาษีให้ได้มาก และหากสามารถผลักดันให้สหภาพยุโรปเปิดตลาดมากกว่าที่ตกลงใน WTO ก็จะเป็นประโยชน์กับไทยมากที่สุด และได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าในการเจรจาลดภาษีสินค้าผู้เจรจาต้องคำนึงถึงเรื่องกฏแหล่งกำเนิดสินค้าด้วย
สำหรับประเทศไทยภาคเอกชนได้เสนอท่าที ดังนี้
- ลดเหลือ 0% ทันที (ปี 53) อาทิ กาแฟพร้อมดื่ม กระเป๋าหนังประเภทต่างๆ ข้าว
- ลดเหลือลดเหลือ 0% ในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้ภาคเอกชนมีเวลาปรับตัว (ปี 55, ปี 58, ปี 63) อาทิ ปลาป่น (ปี 63)
- ไม่สามารถลดภาษีเหลือ 0% ได้
- กำหนดปริมาณนำเข้า/มีมาตรการ Special Safeguard เช่น กำหนดโควตาสินค้า เพื่อจำกัดปริมาณการนำเข้า หากเกินโควตาก็จะต้องเสียภาษีสูง
- ไม่ต้องการลดภาษี
- ลดแบบมีเงื่อนไข อาทิ พลาสติก/ของทำด้วยพลาสติก สิ่งทอ ขอดูท่าทีของสหภาพยุโรปว่าเสนอลดอะไรบ้าง
3. ผลักดันให้สหภาพยุโรปลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% ตามรายการ ดังนี้
- สินค้าส่งออกสำคัญของไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าอาหารที่มีการเพิ่มมูลค่าและกลุ่มสินค้าที่ไทยมีมูลค่าส่งออกไปสหภาพยุโรปฯ (27) 16 อันดับแรกปี 49 เช่น สินค้าอาหาร และเกษตร อาหารทะเลกระป๋องแปรรูป ไก่แปรรูป ผลไม้กระป๋องแปรรูป
- รายการสินค้าที่สหภาพยุโรปให้สิทธิ GSP แก่ไทยในรอบปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่ไม่แน่นอน เมื่อส่งสินค้าเกินก็จะถูกตัดสิทธิ์ และอัตราภาษีก็ไม่ได้ต่ำมาก เช่น สัตว์มีชีวิต ผลิตภัณฑ์จากพืช น้ำมันที่ได้จากสัตว์หรือน้ำมันพืช เครื่องดื่ม
- รายการสินค้าที่สหภาพยุโรปให้สิทธิ GSP แก่ไทยแต่ถูกตัดสิทธิ์ในรอบปัจจุบัน เช่น กลุ่มอัญมณี กลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ยังคงได้รับสิทธิ์ GSP ทำให้อาเซียนเป็นคู่แข่งกันเองสำหรับการเข้าตลาดสหภาพยุโรป
- รายการสินค้าที่สหภาพยุโรปมีภาษีนำเข้าสูง และไม่ยอมลดในกรอบ WTO รวมถึงสินค้าโควตาภาษี เช่น ไก่ปรุงสุก ซึ่งได้โควตาจากสหภาพยุโรป 160,000 ตัน/ปี ภาษีในโควตา 8% ปริมาณนอกโควตาจะเสียภาษี 1,024 ECU/ตัน และหากเป็นไปได้อยากให้สหภาพยุโรปลดภาษีนอกโควตา หรือเพิ่มปริมาณโควตา
- รายการสินค้าที่สหภาพยุโรปให้สิทธิพิเศษอื่นๆ แก่ประเทศด้อยพัฒนา LDCS เช่น ข้าว น้ำตาล ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์ ทูน่ากระป๋อง เป็นต้น
4. ข้อกังวลของภาคเอกชนต่อการเจรจาลดภาษี ขอให้ผู้เจรจาศึกษา และระวังในเรื่อง ภาษีหลายประเภทของสหภาพยุโรปที่นอกเหนือจากภาษี ณ พรมแดน เช่น ภาษี VAT ภาษีค่าธรรมเนียม Surcharge เช่น สินค้าไก่สดเสียภาษี 1,024 ECU/ตัน + ภาษีพิเศษ Surcharge 350 ECU/ตัน ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงทุก 3 เดือน และเรื่องจำนวนหลักของพิกัดอัตราศุลกากรถ้าอาเซียนใช้ 8 หลัก แต่สหภาพยุโรปใช้ 10 หลัก ควรจะตั้งอยู่บนหลักการเดียวกัน
5. กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ขอให้ผู้เจรจาศึกษากฏแหล่งกำเนิดสินค้าที่สหภาพยุโรปใช้กับการให้สิทธิ GSP และกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่สหภาพยุโรปใช้ในการเจรจาเขตการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ และหากเป็นไปได้ขอให้เจรจารายการสินค้าที่มักประสบปัญหาเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้าในกรอบFTA อื่นๆ ให้สำเร็จภายใต้กรอบอาเซียน-สหภาพยุโรป โดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น ปศุสัตว์แปรรูป ประมงแช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป นมและผลิตภัณฑ์ อาหารสัตว์ ผลไม้แปรรูป และ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องหนัง เป็นต้น และหากมีการใช้กฏแหล่งกำเนิดสินค้าสะสม ภาคเอกชนต้องศึกษาประโยชน์จากการสะสมวัตถุดิบร่วมกัน เช่น อาเซียน และ/หรือ EU 27 ประเทศ กฏแหล่งกำเนิดสินค้าภายใต้ GSP อนุญาตให้มีการสะสมวัตถุดิบได้ มี 3 รูปแบบ คือ Bilateral, Diagonal และ Regional
6. มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี เห็นว่าถ้าไทยผลิตสินค้าได้มาตรฐานสูง พัฒนาการผลิตให้ได้มาตรฐานด้านสุขอนามัย และมีความปลอดภัยด้านอาหาร ก็จะยิ่งได้เปรียบอาเซียนอื่นๆ และเห็นว่าการเจรจาเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัยทางด้านสินค้า (ด้านสิ่งแวดล้อม) ควรเจรจาให้มีการร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการให้ถ่ายทอดความรู้เรื่องมาตรฐานสินค้าเทคโนโลยี วิจัยและพัฒนานวัตกรรม และขอให้ภาครัฐเตรียมความพร้อมให้ภาคเอกชน โดยเร่งพัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดได้ต่อไป และศึกษาและเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันการแย่งตลาดกันระหว่างสมาชิกอาเซียน
4.2 ภาคอุตสาหกรรม บรรยายโดย นายคมสัน โอภาสสถาวร ประธานคณะกรรมการสหภาพยุโรป
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. การจัดทำความตกลง ASEAN-EU FTA จะเป็นโอกาสให้อาเซียนรวมทั้งไทยสามารถเข้าสู่ตลาด
สหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศได้มากขึ้น ด้วยกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่เอื้อต่อการส่งออก ทั้งนี้ เนื่องจากสหภาพยุโรปมีอัตราภาษีที่ใช้บังคับเฉลี่ยสำหรับสินค้าอุตสาหกรรมประมาณร้อยละ 4 ซึ่งจัดว่าค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว สินค้าอุตสาหกรรมของไทยที่ส่งออกไปยังตลาดสหภาพฯ มีหลายรายการ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
(ร้อยละ 40.3) อัญมณีและเครื่องประดับ (ร้อยละ 24.7) ยานยนต์และชิ้นส่วน (ร้อยละ 8.6) สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (ร้อยละ 8.4) และอาหารแปรรูป (ร้อยละ 7.7)
2. สิ่งที่ภาคเอกชนคาดหวังจากการเปิดเสรีการค้าสินค้าอุตสาหกรรมในกรอบ ASEAN-EU FTA
คือ (1) ให้สหภาพยุโรปลดอัตราภาษีสินค้าบางรายการที่มีอัตราภาษีเกินกว่าร้อยละ 5 ลง เช่น รถบรรทุกแวน
ชุดชั้นใน เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า เป็นต้น และสินค้าที่สามารถลดเป็น 0% ได้ทันที เช่น กระเป๋าหนังประเภทต่างๆ (2) สหภาพยุโรปจะขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพทางการแข่งขันของไทย เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ (3) เพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคจากสินค้าคุณภาพที่นำเข้าจากสหภาพยุโรปที่จะแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากจีน
3. การเตรียมความพร้อมของภาคเอกชนต่อการจัดทำ ASEAN-EU FTA คือ การเร่งพัฒนาคุณภาพ
สินค้าไทยให้เข้าสู่มาตรฐานสากลโดยเร็ว และสร้างความมีเอกลักษณ์ของสินค้า เพื่อลดความสามารถในการใช้แทนกันของสินค้า เช่น การสร้างแบรนด์ และการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เป็นต้น
4.3 ภาคการค้าบริการ บรรยายโดย นายฉัตรชัย มงคลวิเศษไกวัล ประธานคณะอนุกรรมการ ด้านการค้า
บริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. มองว่าอาเซียนเป็นทั้งตลาด และ production base ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีประชากร 540 ล้านคน ที่กำลังเจรจาเขตการค้าเสรีกับอินเดีย จีน เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งรวมกันแล้วมีประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของโลก ไทยในฐานะหนึ่งในสมาชิกอาเซียนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม การค้าบริการไม่เหมือนสินค้าเพราะจับต้องไม่ได้ มีอยู่ทั่วไป ดังนั้นในการเจรจาต้องคำนึงถึงเป้าหมายการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของแต่ละสาขาอย่างสมดุล เจรจาอย่างไรโดยไม่เสียผลประโยชน์เนื่องจากต้องมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน
2. โอกาสในภาคการบริการ ซึ่งในกรอบ WTO มี 12 สาขานั้น ผู้บรรยายเห็นว่า ด้านการเงินไม่น่าจะมีโอกาส ด้านปรึกษาทางธุรกิจ/วิชาชีพ ในอนาคตสามารถทำธุรกิจผ่านทางออนไลน์ได้ เช่น ที่ปรึกษาทางกฎหมาย และนักบัญชี ด้านการท่องเที่ยวพอได้ ไทยมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง หากเจรจาความตกลงฯ สำเร็จ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวจากสหภาพยุโรป สนใจตลาดอาเซียนมากขึ้น ในเชิงการตลาดไทยมีศักยภาพสามารถใช้ประโยชน์ที่เรามี และสร้างพันธมิตรกับสมาชิกอาเซียนอื่น ด้านการขนส่ง สหภาพยุโรปเป็นความท้าทายทั้งตลาด และ production base ด้านการจัดจำหน่ายแต่ละภาคสามารถทำ elementary ได้ในอนาคต super store ของสหภาพยุโรปขายบริการอย่างเดียว ด้านการศึกษา เราสามารถเปิด International School ได้ โดยจัดหลักสูตรเรียนที่เมืองไทยและต่างประเทศ ด้านสุขภาพ จะมีทั้งผู้ได้และผู้เสีย และเสมอตัว แต่ผู้เสมอตัวจะน้อย ตัวเลขการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชนสูงมาก ผู้เสียประโยชน์ คือประชาชนที่ด้อยโอกาสที่จะได้รับการรักษาจากบุคลากรที่มีคุณภาพในราคาถูก ไทยอาจจะต่อรองให้บริษัทประกันสุขภาพของสหภาพยุโรปนำผู้ประกันตนมารักษาที่เมืองไทย ด้านการก่อสร้างมีผู้ได้ในระดับหนึ่ง ไทยมีฝีมือด้านช่างไม่แพ้ใคร แต่มีปัญหาด้านการเงินหากมีการสนับสนุนที่ดีก็น่าจะพัฒนาได้ แต่ต้องศึกษาเชิงลึกในด้านการตลาด ด้านนันทนาการ ไทยเก่งมาก เช่น คอนเสิร์ตดนตรี ด้านสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับหลายองค์ประกอบ
3. เห็นว่าการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียน-และสหภาพยุโรปเป็นความท้าทายของนักธุรกิจภาคบริการ ซึ่งอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์และระบบทุนนิยม พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ต้องมีการบริหารการเปลี่ยนแปลง
สร้างกระบวนทัศน์เชิงรุก ปรับความเชื่อและทัศนคติในการดำเนินธุรกิจ แสวงหาองค์ความรู้ และสร้างความเป็นสากล เช่น การตรงต่อเวลา และการรักษาสัญญา ต้องมีการเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายอย่าทำงานคนเดียว รวมทั้งการบริหารจัดการที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องมาตรฐาน คุณภาพ และความรู้ในการประกอบธุรกิจ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ